
ตามหน้าฉากที่เหล่าสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ชิงทิ้งเก้าอี้กันล่วงหน้า แต่งตัวรอลงสนามเลือกตั้ง ก่อนครบเดดไลน์ 90 วัน ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ
ไล่ดูจากชื่อชั้นมีตั้งแต่ระดับหัวแถวไปถึงพวกโนเนม
แต่ละคนโร่หาป้อมค่ายในสังกัด บางคนยังไม่มีค่ายใหม่ชัดเจน แต่ก็ออกมาแสดงตัวพร้อมลงเล่นการเมือง ประกาศจับขั้ว ฟอร์มทีมงานกันแต่หัววัน
อย่างที่เห็นๆจากซีนเรียกราคาในรายของ นายสมพงษ์ สระกวี และ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล สมาชิก สปท. ที่แบไต๋กลยุทธ์รวบรวมพรรคเล็กๆมาตั้งเป็นพรรคขนาดกลาง ไว้สู้กับพรรคใหญ่ในสนามเลือกตั้ง
เตรียมพร้อมรับมือระบบไพรมารีโหวตตามกติกาฉบับใหม่
รวมพลังพรรคเล็กให้มีหนทางอยู่รอดในสนาม ภายใต้กฎเกณฑ์ที่พรรคเล็กตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบทั้งเรื่องการหาสมาชิกพรรค การตั้งสาขาพรรค
ยกชื่อชั้นระดับบิ๊กเนมอย่าง “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และพรรคขนาดกลางอย่างพรรคชาติไทยพัฒนา อยู่ในข่ายการดิวประสานงาน เพื่อขายฝันมาจับขั้วร่วมกันทำงาน
พ่วงออปชั่นสำคัญ ไม่รังเกียจหากจะต้องทำงานร่วมกับทหาร
หงายหน้าไพ่ให้เห็นล่วงหน้า ขอเป็นพันธมิตรกับฝ่ายท็อปบูตในอนาคต ทอดสะพานพา “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นนายกฯ 2 สมัยติด
นั่นคือโปรเจกต์ในฝันของระดับพวก “นกแล” ที่ต้องเร่งตีปี๊บ สร้างราคาโปรโมตให้ตัวเองดังๆ ผิดกับระดับ “พญาอินทรี” พวกมืออาชีพที่ยังอยู่นิ่งๆ ไม่กระโตกกระตาก ชิงเปิดตัวเร็วให้เจ็บตัวก่อน
ในสภาวะที่สองขั้วใหญ่อย่าง “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” ยังออกตัวเพียงแค่การออกแอ็กชั่นคัดค้านระบบไพรมารีโหวต กระตุกเรตติ้งเลี้ยงกระแสให้ตัวเองมีชื่อติดตามหน้าสื่อเท่านั้น
ไม่กล้าโหมโรงเปิดตัวลงสนามอย่างจริงๆจังๆ
เพราะสภาพความเป็นจริงในสถานการณ์ปัจจุบันยังต้องลุ้นหนักว่า จะมีคิวเข้าคูหาหย่อนบัตรเลือกตั้งเกิดขึ้นตามโปรแกรมเดิมปลายปี 2561 หรือไม่
ตามท้องเรื่องที่ยังวุ่นกันไม่เลิก กรณีการงัดข้อร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสำคัญ โดยเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ส่อเค้าความขัดแย้งบานปลายออกไปเรื่อยๆ
ในประเด็นระบบไพรมารีโหวตที่แต่ละฝ่ายยังเถียงกันหน้าดำคร่ำเครียด จูนกันไม่ลงตัว มีแนวโน้มต้องตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย มาหาข้อสรุปใหม่
เหล่าทีมงานแม่น้ำ 5 สาย และองค์กรอิสระ ต่างแข่งกันอวดวิชา หาเหตุผลยืนกรานความถูกต้องในเนื้อหากฎหมายลูกของฝ่ายตัวเองจนมั่วไปหมด
ขั้วอำนาจพิเศษล่อกันเองจนฝุ่นตลบ เส้นทางไปสู่สนามเลือกตั้งฉายแววถูกทอดเวลาจนถึงที่สุด
ต้องรอลุ้นกันยาวๆว่า จะเคลียร์อาการคาใจกันลงตัวหรือไม่
แต่คิวแทรกเฉพาะหน้าที่น่าห่วงเวลานี้คือ อาการสะดุดของ ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่ สนช.เพิ่งประทับตราเห็นชอบวาระ 3 ไปเมื่อเร็วๆนี้
เจอแท็กทีมจาก “ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย” ไล่เจาะยาง ขวางการประกาศใช้เป็นกฎหมายทุกวิถีทาง ถึงขั้นเตรียมจองกฐินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
จับผิดส่อขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ขาดการรับฟังความเห็นจากประชาชนในการยกร่างกฎหมาย
ดูตามยอดคลิกจากประชาชนที่อ่านเนื้อหาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวในเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล มีประมาณ 3,000 คน แต่ตอบคำถามแสดงความคิดเห็นแค่ 8 คน เป็นอะไรที่อ้างได้ไม่เต็มปากว่าผ่านการฟังความเห็นจากชาวบ้านอย่างทั่วถึง
นักเลือกตั้งอาชีพทุกค่ายพากันขวางลำเต็มตัว ไม่ให้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ถูกตีตรวนต้องเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ถูกออกแบบโดยทีมงานฝ่ายอำนาจพิเศษ
และตามรูปการณ์หนีไม่พ้นที่ “บิ๊กตู่” ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะนั่งหัวโต๊ะคุมเกมการเขียนแผนยุทธศาสตร์ กำหนดทิศทางขับเคลื่อนประเทศในอนาคตด้วยตัวเอง
สบโอกาสวางเกมยาวล่วงหน้า รองรับการอยู่ขี่หลังเสือต่อ เพื่อสานต่องานให้เป็นเนื้อเดียวกัน
ยังไม่วางมือ ส่งไม้ต่อให้นักเลือกตั้งมารับช่วงกำหนดนโยบายตามใจชอบ
ปูเสื่อรอเป็นผู้นำอีกรอบ กดฝ่ายการเมืองเป็นเบี้ยล่างอีกยาว.
ทีมข่าวการเมือง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น