PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ไพรมารี’ ทำโจทย์ยาก

ไพรมารี’ ทำโจทย์ยาก

“หนุมานเหาะเกินกรุงลงกา”
ว่ากันตามสำนวนที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มือหนึ่งกฎหมายรัฐบาล คสช. เคยเปรียบเปรยปมปัญหาลักลั่นของรัฐธรรมนูญแม่บทกับกฎหมายลูก
มุกนี้น่าจะถูกต้องตามท้องเรื่องมากสุดกับปมปัญหาว่าด้วยร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่มีการปรับเพิ่มเนื้อหาในขั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ในมาตราที่เกี่ยวกับการตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดและการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง
หรือเรียกกันตามสากลว่า “ไพรมารีโหวต”
เบื้องต้นเลยไม่ต้องวิเคราะห์ถึงที่มาที่ไปให้ยุ่งยาก แกะรอยจากต้นเรื่องที่มีชื่อของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ที่นั่งเป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สนช.
ยี่ห้อนี้ถือธงมาล้างบางระบอบ “ทักษิณ” ตั้งแต่บ้าน
ตามเงื่อนสถานการณ์น่าจะยึดโจทย์ของป้อมค่าย “นายใหญ่” เป็นตัวตั้ง โยงกับปมปัญหาตัวอย่างจากในอดีตที่การกาหัวผู้สมัครของพรรคต้องมาจากทีมผู้บริหารหรือเจ้าของพรรค
เข้าฟอร์มบริษัทจำกัดมากกว่าพรรคการเมือง
เป็นเรื่องที่ฝ่ายต้านระบอบ “ทักษิณ” ปักใจเชื่อว่า เป็นต้นตอของวงจรอุบาทว์ เลือกตั้งถอนทุน ส.ส.เป็นแค่ลูกจ้าง “นายใหญ่” ทำให้การเมืองยึดโยงอยู่กับทุนสามานย์
ชาวบ้านไม่มีส่วนในการเลือกตัวแทนอย่างแท้จริง
นี่คือสิ่งที่มโนกันในหมู่ของ “นักลากตั้งอาชีพ” ที่ไม่เคยลงสนามเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม งานนี้ถือว่า “ผิดคิว” เต็มๆ
จับอาการหงุดหงิดของ “ซือแป๋” อย่างนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ว้ากใส่ทีมงานกรรมาธิการฯ สนช.2-3 รอบ ล็อกคอเลยว่า ถ้าดึงดันก็ต้องรับผิดชอบหากระบบไพรมารีโหวตสร้างปัญหาอย่างที่หลายฝ่ายกังวล
ด้วยเหตุผลที่อธิบายกันชัดๆในทางปฏิบัติ ระบบไพรมารีโหวตต้องใช้เวลานาน เนื่องจากกระบวนการคัดสรรผู้สมัครที่ต้องผ่านการเลือกตั้งขั้นต้นจากสมาชิกในพื้นที่ก่อน
จึงมีปัญหาว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ และพรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งทันหรือไม่
เรื่องใหญ่ ขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ
แถมยังมีแนวโน้มกระทบการเลือกตั้งทำให้ยืดเยื้อออกไป
แต่นั่นไม่สำคัญ ด้วยระบบไพรมารีโหวตถือเป็นอุปสรรคของพรรคการเมืองใหม่มากกว่าพรรคการเมืองเก่าที่มีฐานเสียงและกลุ่มสมาชิกเดิมอยู่แล้ว
แนวโน้มป้อมค่ายใหม่เกิดขึ้นลำบาก
แทนที่จะล้างกระดานระบอบ “ทักษิณ” กลับเข้าทางพรรคเพื่อไทยมากกว่า
นี่คือผลของ “หนุมานเหาะเกินกรุงลงกา” สนช.เล่นแร่แปรธาตุ ทำกฎหมายลูกใส่กติกาเกินกว่าแม่บทรัฐธรรมนูญ ทำให้ “ซือแป๋ มีชัย”หงุดหงิด
ผิดคิวกันอย่างแรงในหมู่ฝ่ายออกแบบกติกาใหม่ประเทศไทย
และถึงที่สุดเลย ถ้าเคลียร์กันไม่ได้ ก็ต้องไปสู่กระบวนการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย คือ สนช. กรรมการยกร่างฯ และตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
โหวตตัดสินกันในขั้นสุดท้ายแบบใครดีใครได้
ซึ่งตามรูปการณ์น่าจะเป็นฝ่ายของนายมีชัยที่ได้เปรียบกว่า เพราะประเมินจากเสียงของฝ่าย กกต. ที่เป็นตัวแปร ก็ยังไม่ตอบรับไพรมารีโหวต
เนื่องจากความลักลั่นในทางปฏิบัติ
เหนืออื่นใด โดยเงื่อนสถานการณ์ที่โยงกับพิมพ์เขียวอำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทีมงานทหาร คสช.ยังต้องแฝงตัวอยู่ในเกมบริหารต่ออีกอย่างน้อย 5 ปี
ตามเงื่อนไขไฟต์บังคับจำเป็นต้องมีป้อมค่าย “นอมินีสีเขียว” มาช่วยประคอง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.
ถ้าพรรคใหม่เกิดลำบาก การต่อโปรโมชั่นมันก็จะยิ่งยากไปอีก.
ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: