PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

วิกฤติเศรษฐกิจ?พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

ยังเห็นบางคนเขียนว่า ปัญหาศก.เลวร้ายลงถึงจุดที่ ปชช.ทนไม่ไหว แล้วคสช.ก็จะอยู่ไม่ได้ เรื่องนี้ผมเคยโพสไปแล้วครั้งนึงเมื่อ 15 ก.ค. 2015 ขอนำกลับมาเผยแพร่อีกที

"คนที่เชื่อว่า ... เศรษฐกิจเลวร้ายถึงที่สุด แล้วผู้คนจะลุกฮือขึ้นมาขับไล่เผด็จการนั้น เป็นการเข้าใจผิด วิกฤตเศรษฐกิจโดยตัวมันเอง ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

แม้แต่ความยากแค้นสาหัสในระดับปัจเจกก็ไม่ทำให้แต่ละคน "ตื่นตัวตาสว่างทางการเมือง" ได้โดยอัตโนมัติ ... คนเราเมื่อประสบความอดอยากยากแค้น ก็จะหาทางออกแบบปัจเจกไปเรื่อย ๆ เช่น หาช่องทางทำมาหากินอื่น หาแหล่งเงินเพื่อกู้ยืมประทังชีวิต ถ้าหมดหนทางที่ถูกกฎหมาย ก็จะไปทางผิดกฎหมาย ค้ายาบ้า จี้ ปล้น ฆ่าคนอื่น หรือฆ่าตัวตาย

ถ้าคนเหล่านี้จะ "ดิ้นรน" มากกว่าระดับปัจเจก ก็แค่รวมกลุ่มกันเรียกร้องในประเด็นของตน ชาวสวนยางเรียกร้องเรื่องยาง ชาวนาเรียกร้องเรื่องข้าว ชาวไร่เรียกร้องเรื่องมันสำปะหลัง ชาวสวนเรียกร้องเรื่องราคาปาล์ม ชาวประมงเรียกร้องเรื่องประมง ชาวบ้านท้องถิ่นเรียกร้องเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ... ฯลฯ

แต่ชาวสวนยางจะไม่ยุ่งเรื่องปาล์มหรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน ชาวสวนปาล์มก็ไม่ยุ่งเรื่องราคายางหรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน คนต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ไม่ยุ่งเรื่องสวนยางหรือสวนปาล์ม ชาวนาก็ไม่ยุ่งเรื่องสวนยางหรือราคามันสำปะหลัง ฯลฯ เพราะเพียงแค่สู้ให้กับตัวเองก็ "หืดขึ้นคอ" แล้ว จะเอาแรงที่ไหนไปสู่้เพื่อคนอื่นและเพื่ออะไร?

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ประเทศจีนในอดีตที่กดขี่ยากแค้นสาหัส คนจีนทำได้แค่กู้หนี้ ขายลูกขายเมียเป็นทาส ฆ่าตัวตาย อพยพย้ายถิ่น เร่ร่อนเป็นขอทาน ปล้นชิงคนรวยในหมู่บ้าน รวมกลุ่มกันเป็นกองโจรตระเวณปล้นฆ่าไปเรื่อย สูงสุดคือ เป็น"กบฏชาวนา" ซึ่งผลลัพธ์มักจะล้มเหลว

ปัญหาเศรษฐกิจเป็นได้เพียง "ปริบท" เป็น "ฉากหลัง" ที่บ่มเพาะความไม่พอใจเพื่อรอเวลา แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ต้องมาจากการต่อสู้ทางการเมือง ในประเด็นการเมืองเท่านั้น"

ไม่มีความคิดเห็น: