
ขึ้นต้นอย่างนี้ก็เพราะว่าการเมืองเรื่องเลือกตั้งกำลังเข้มข้นขึ้นตามลำดับ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯปล่อยลีลามาก่อนหน้านี้ว่า แล้วการเมืองข้างหน้าขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในอนาคต
พูดอย่างนี้ภาษาการเมืองก็ต้องบอกว่าพลิกได้สองหน้า คือเล่นต่อก็ได้ ไม่เล่นต่อก็ได้ ตีความได้ทั้ง 2 อย่าง
แต่นักการเมืองนั้นเห็นคำตอบอย่างนี้ย่อมรู้เท่ารู้ทันว่าคิดอะไรอยู่
ประเด็นสำคัญก็คือตีความกันแล้วว่าเล่นต่อแน่ เพียงแต่จะใช้รูปแบบไหนเท่านั้น เมื่อคิดจะเล่นก็ต้องโยนคำถามใส่ เริ่มจากให้ตอบมาตรงๆเลยว่า จะเล่นหรือไม่เล่น เอาให้ชัดเจนกันไปเลย
หรือหากคิดจะเล่นต่อก็ให้มันสง่างามไปเลย คือการลงสมัครเลือกตั้ง จะไปสังกัดพรรคไหนหรือจะตั้งพรรคทหารก็ได้
นั่นเป็นกระแสที่นักการเมืองส่งเสียงกันแบบแผ่นเสียงตกร่อง
ทั้งๆที่รู้ดีแล้วว่าไม่มีทางเดินเส้นทางนี้แน่ อีกทั้งการที่ไม่ได้ลาออกก่อน 90 วัน หลังจากรัฐธรรมนูญได้ประกาศใช้ไม่ว่าจะเป็น สนช.-สปท.-ครม.-คสช.
ไม่สามารถจะลงสมัครเลือกตั้งได้ ซึ่งก็เลยเวลาไปแล้ว จึงเป็นอันว่าไม่ต้องถามว่านายกฯจะลงสมัครเลือกตั้งหรือไม่
เห็นถามกันมากๆนายกฯก็เลยบอกว่าไม่ต้องมาถามเรื่องนี้แล้ว
ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ไม่เลือกทางนี้ ก็เพราะไม่ต้องการตกเป็นเหยื่อให้นักการเมืองรุมกินโต๊ะเมื่อกระโดดลงไปร่วมเวทีกับพวกเขา ซึ่งมีความชำนาญและเป็นเจ้าสนามตัวจริง
ดีไม่ดีอาจเสียผู้เสียคนตกเวทีการเมืองตั้งแต่เริ่มต้น
อีกทั้งการที่จะต้องลาออกก่อนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพื่อลงเลือกตั้งนั้น ก็หมายความว่าจะต้องเปลี่ยนตัวนายกฯ เปลี่ยนตัวหัวหน้า คสช. จะให้ใครบริหารจัดการแทนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ การเลือกตั้งก็ไม่ใช่วันนี้วันพรุ่ง อย่างน้อยก็ปีกว่าๆ
และยังไม่แน่ด้วยว่าจะเลือกตั้งเมื่อใดและจะมีหรือไม่?
การจะหาใครมาแทนแม้จะเป็นการชั่วคราวก็ตาม เพราะภารกิจในฐานะนายกฯและหัวหน้า คสช.นั้น ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการเมืองในปัจจุบัน หากผิดพลาดกระบวนท่าขึ้นมาก็จบกันเลย ลงหลังเสือถูกเสือกัดแน่
งานในภาระของนายกฯก็มีเรื่องสำคัญๆอีกเยอะที่จะต้องใช้ศักยภาพเฉพาะตัวมากพอสมควร ขนาดว่าตัว พล.อ.ประยุทธ์เองซึ่งมีประชาชนสนับสนุนไม่น้อยก็ยังเหนื่อยแทบขาดใจ
เพลงยุทธ์และลีลาอย่างที่ปรากฏให้เห็นมาแล้วนั้น ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว สามารถรับคลื่นแรงต่อต้านทั้งจากนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม และประดากลุ่มคนที่ยึดธงประชาธิปไตยเป็นที่ตั้ง
หากจะเล่นต่อไปก็มีหนทางที่วางเป็นสะพานให้เดินได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้ “คนนอก” สามารถเป็นนายกฯ และให้มี ส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้ง 250 คน เป็นเสียงสนับสนุนชัดเจนอยู่แล้ว
เพียงแต่หาพรรคการเมืองและนักการเมืองมาสนับสนุนให้ได้เสียงข้างมากเกินครึ่งหนึ่งจาก 250 คน ก็เรียบร้อย
ถามว่าพรรคการเมืองและนักการเมืองต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์เดินหน้าต่อหลังเลือกตั้งหรือไม่
ร้อยคำตอบก็คงได้ว่าไม่ต้องการแน่ เพราะถือว่าเป็นคู่แข่งที่ประมือได้ยากลำบากกว่านักการเมืองร่วมเวทีเดียวกัน
ดังนั้น ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจเดินหน้าต่อไปด้วยวิธีการไหนก็ตาม จะต้องถูกต่อต้านด้วยวิธีการต่างๆ
ไม่ว่าจะในรูปแบบหรือไร้รูปแบบก็ตาม...
“สายล่อฟ้า”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น