PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

"สุรชาติ" วิพากษ์ติดดาบ กอ.รมน. เครื่องมือกองทัพในสงครามการเมือง!

"สุรชาติ" วิพากษ์ติดดาบ กอ.รมน. เครื่องมือกองทัพในสงครามการเมือง!

เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 23 พฤศจิกายน 2560 เวลา 19:58 น.
เขียนโดย
ศูนย์ข่าวภาคใต้

การแก้กฎหมายเพื่อยกระดับ เพิ่มอำนาจ กอ.รมน.ขนาดนี้ ถูกตั้งคำถามจาก ศ.ดร.ดอกเตอร์ สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดังว่า เป็นการตอกย้ำปรากฏการณ์ในการเมืองไทยถึงการขยายบทบาทของทหาร 
surachart
          อันที่จริงการขยายบทบาทในทางทฤษฎีนั้นจะเกิดในสงคราม เช่น ในยุคสงครามเย็น เพราะภารกิจทางทหารอาจจะเข้ามีส่วนทับซ้อนกับงานของฝ่ายพลเรือน อันอาจทำให้ทหารเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในสังคม
          แต่การขยายบทบาทของทหารไทยปัจจุบันไม่ได้มาจากเงื่อนไขสงคราม แต่มาจากการมีอำนาจด้วยการรัฐประหาร จึงทำให้กองทัพสามารถขยายบทบาทได้อย่างไม่มีข้อจำกัด การขยายบทบาทเช่นนี้ไม่มีความชัดเจนว่าภารกิจด้านความมั่นคงคืออะไร ซึ่งอาจทำให้ตีความได้ว่า กองทัพขยายบทบาทเพื่อการควบคุมการเมือง และอาจจะต้องมองคู่ขนานกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และอำนาจในการตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน
          บทบาทเช่นนี้จึงกลายเป็นว่า งานความมั่นคงของ กอ.รมน.ในอนาคต อาจกลายเป็นเครื่องมือในการต่อต้าน ตอบโต้กับองค์กรการเมืองของฝ่ายพลเรือน เช่น พรรคการเมืองที่กำลังจะกลับมามีบทบาทในอนาคต เพราะการเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นตามโรดแมพหลังจากกฎหมายลูกถูกร่างเรียบร้อยแล้ว กอ.รมน.ในเงื่อนไขเช่นนี้อาจถูกวิจารณ์ว่าเป็นองค์กรที่จะเข้ามาเสริมบทบาททหารในทางการเมือง และในการต่อสู้ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
          อย่างไรก็ตาม คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 51/2560 นี้ พยายามลดกระแสต่อต้านด้วยการสร้างให้เกิดภาพลักษณ์ว่า กอ.รมน.จะเป็นองค์กรในการแก้ปัญหาความมั่นคงภายใน ทั้งที่ในโครงสร้างปัจจุบัน รัฐบาลสามารถใช้เครื่องมือต่างๆ ได้อยู่แล้ว เช่น การสั่งการผ่านสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แต่การเลือกเอา กอ.รมน.มาใช้เช่นนี้ เป็นเพราะในความเป็นจริงแล้ว กอ.รมน. คือ "กองทัพบก" ไม่ใช่เป็นองค์กรของฝ่ายพลเรือน การออกคำสั่งเช่นนี้เท่ากับส่งสัญญาณว่า งานความมั่นคงทั้งหมดในอนาคตจะอยู่ในมือของทหารแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยเฉพาะในมือของกองทัพบกที่มีบทบาทสำคัญใน กอ.รมน.
          ในอีกด้าน คำสั่งนี้เป็นความพยายามในการยกระดับให้ กอ.รมน.เป็นเสมือน Homeland Security(กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ) ของสหรัฐ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กอ.รมน. เป็นองค์กรทางทหาร และไม่มีขีดความสามารถที่จะทำได้เช่นนั้นได้
          ฉะนั้นภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความกังวลว่า องค์กรนี้จะถูกใช้เพื่อภารกิจทางการเมืองมากกว่าจะทำงานด้านความมั่นคงจริงๆ ดังที่เห็นได้จากปรากฏการณ์หลังรัฐประหาร 2549 และ 2557 ที่ กอ.รมน.กลายเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนบทบาทของทหารทั้งในเมืองและชนบท และเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า กอ.รมน. เป็นเครื่องมือของกองทัพในสงครามการเมืองในปัจจุบัน
          ถ้าเป็นเช่นนี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตที่อ่อนแอจากเงื่อนไขรัฐธรรมนูญของ คสช. จะยิ่งประสบปัญหาจากการขยายบทบาทของทหารเช่นนี้มากขึ้นไปอีก
-----------------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น: