PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

แก้ให้ยุ่ง

แก้ให้ยุ่ง

ลำพัง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับใหม่ที่คลอดออกมาบังคับใช้ก็ยุ่งยากจะแย่อยู่แล้ว

ร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. ที่ กรธ.ของ อจ.มีชัย ฤชุพันธุ์ ภูมิใจนำเสนอในลำดับต่อไปจะเพิ่มความยุ่งหยอยเป็นฝอยขัดหม้อยิ่งขึ้นเป็น 2 เท่า

ยุ่งอย่างไร? ยุ่งตรงไหน? ทำไมถึงยุ่ง?

คนที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ชัดที่สุดตรงเป้าที่สุด คือคณะกรรมการ กกต.ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการเลือกตั้ง

และ กกต.ที่จะวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้แซ่บอีหลีที่สุดก็ต้องเป็นคนนี้เท่านั้น

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ฝ่ายจัดเลือกตั้ง (ซึ่งกำลังจะโดนเซ็ตซีโร่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า)

“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่า ท่าน กกต.สมชัย ได้ชี้ให้เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ฉบับใหม่ แทนที่จะทำให้การเลือกตั้ง ส.ส.มีความโปร่งใสสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

แต่ กรธ.ของ อจ.มีชัย ไปแก้ไขกติกาการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ยุ่งยาก และไม่สะดวกมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น...แทนที่จะกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเดียวกัน ใช้เบอร์เดียวกันทุกเขตเลือกตั้งอย่างเดิม
พระคุณท่านไปแก้ไขให้ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเดียวกันแต่คนละเขต ต้องใช้หมายเลขต่างกัน

เมื่อผู้สมัคร ส.ส.พรรคเดียวกัน ใช้หมายเลขไม่เหมือนกัน ชาวบ้านจะสับสนเพราะจำเบอร์ผู้สมัครพรรคที่ต้องการเลือกไม่ได้

กกต.เองก็สับสน เพราะต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต 350 เขต แตกต่างกันถึง 350 แบบ

การพิมพ์บัตรเลือกตั้งจะยุ่งยากขึ้น และแพงขึ้น

ถ้าหาก กกต.เกิดส่งบัตรเลือกตั้งสลับเขตแม้เพียงหน่วยเดียว จะเกิดปัญหาวุ่นวายจนประกาศผลเลือกตั้งไม่ได้

ยิ่งกว่านั้น การที่ ส.ส.ระบบเขตพรรคเดียวกัน มีหมายเลขแตกต่างกันยังทำให้การรวมคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.เขต มีโอกาสผิดพลาดง่ายขึ้น

และต้องใช้เวลาตรวจสอบก่อนประกาศผลเลือกตั้งยาวนานขึ้น

สรุปว่าร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ฉบับใหม่ทำให้เรื่องสั้นกลายเป็นเรื่องยาว ทำเรื่องง่ายให้กลายเป็นเรื่องยาก

“แม่ลูกจันทร์” เห็นด้วยว่าการแก้ไขกติกาให้ผู้สมัคร ส.ส.เขตพรรคเดียวกัน ต้องใช้หมายเลขต่างกัน จะสร้างปัญหาตามมาอีกบานแห้ว

ยัง...ยังไม่จบ กกต.สมชัย ยังวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ฉบับใหม่ที่กำหนดให้หน่วยเลือกตั้งต้องรองรับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนมากขึ้น

โดยปกติหน่วยเลือกตั้ง 1 หน่วยจะรองรับผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 600 คน หรืออย่างมากไม่เกิน 800 คน

แต่ร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ฉบับใหม่ ไปเพิ่มสัดส่วนผู้ใช้สิทธิ 1,000 คน ต่อหนึ่งหน่วยเลือกตั้ง

ทำให้หน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งเคยมีถึง 95,000 หน่วย จะเหลือเพียง 60,000 หน่วยเลือกตั้ง

ประชาชนจึงต้องเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งไกลขึ้น

ต้องเข้าคิวต่อแถวเพื่อหย่อนบัตรนานขึ้น

แทนที่จะช่วยให้ประชาชนไปเลือกตั้งสะดวกขึ้น

กลับเพิ่มความไม่สะดวกให้ประชาชนมากขึ้น

แถมการลดกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจาก 9 คน เหลือ 5 คน ก็ไม่รู้จะลดทำไมในเมื่อต้องดูแล
ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้น

เออแน่ะ...มันแปลกดีมั้ยล่ะ.

"แม่ลูกจันทร์"

ไม่มีความคิดเห็น: