PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ว่าด้วยคสช.ตั้งพรรค

‘นิพิฏฐ์’ไม่แปลกใจ’บิ๊กป้อม’แบไต๋ตั้งพรรค ปูดพรรคทหารเริ่มเดินหาเสียงปักษ์ใต้แล้ว







นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
“นิพิฏฐ์” ไม่แปลกใจ “บิ๊กป้อม” แบไต๋ตั้งพรรคการเมือง ชี้รู้นานแล้ว ปูดพรรคทหารเริ่มเดินหาเสียงพื้นที่ปักษ์ใต้ เย้ยไม่ต้องอายหากทำเพื่อชาติ
เมื่อวันที่ 7 พ.ย.นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่าหากมีความจำเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะตั้งพรรคการเมือง ว่า ในพื้นที่มีคนอ้างว่าเป็นพรรคทหาร รวมถึงอ้างชื่อ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ อดีตคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติด้วย ซึ่งก็ตรงกัน เพราะในพื้นที่ปักษ์ใต้อดีต ส.ส.หลายคนก็บอกกับตนว่าพรรคทหารเดินหาเสียง มีการเปิดตัวอย่างเปิดเผยกันแล้ว ส่วนใหญ่เป็นอดีตนักการเมืองท้องถิ่นเป็นหลัก และข้าราชการเกษียณอายุราชการ ซึ่งก็ตรงกับข้อเท็จจริงที่ตนเคยให้ข่าวไปก่อนหน้านี้ เราจึงไม่แปลกใจ เพราะเรารู้มานานอยู่แล้ว

“ข่าวที่ออกมาวันนี้ไม่แปลกใจ เพราะเขามีสิทธิที่จะทำได้ และปรากฎการณ์แบบนี้เราเคยเห็นมาแล้วในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตนายกรัฐมนตรีเคยตั้งพรรคการเมือง หลังยึดอำนาจมาแล้ว จะแปลกอะไรถ้าในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ที่มาจากการยึดอำนาจจะไม่ตั้งพรรค หรืออาจจะมีคนตั้งพรรคให้ ผมไม่ได้รังเกียจถ้าจะลงสมัคร ส.ส ในพื้นที่การแข่งกันทำความดี ทำเพื่อชาติ บ้านเมือง ไม่ต้องแอบ ขอให้ประกาศตัวเลยว่าจะลงแข่ง อย่าอาย ผมไม่มีปัญหาอะไรถ้าจะลงสมัคร ส.ส.” นายนิพิฏฐ์กล่าว
///

“เพื่อไทย” ไม่หวั่น คสช.ตั้งพรรค ชี้ ดีกว่ายึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศ



เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุ หากจำเป็น คสช.อาจต้องตั้งพรรคการเมืองว่า ถ้า คสช.ตั้งพรรคการเมืองจริง ก็แสดงว่าแนวความคิดในการจัดตั้งพรรคการเมืองอยู่ในใจของ คสช.มาเป็นระยะเวลานานหรือไม่ คนไทยเลยรู้ถึงสาเหตุที่ต้องมี ส.ว.สรรหา 250 คน ต้องมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือการส่งคนมาเขียนรัฐธรรมนูญ กติกาการเลือกตั้ง เพื่อจะมาเล่นการเมืองเองจริงหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม การตั้งพรรคการเมืองของ คสช.เพื่อส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็ย่อมดีกว่าการยึดอำนาจแล้วเข้ามาบริหารประเทศโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง ไม่ยึดโยงกับประชาชน การลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นการเคารพประชาชน เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย ถ้าตั้งพรรคจริงก็จะได้เรียนรู้ถึงเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย จะได้รู้ว่าการเสนอตัวเพื่อให้ประชาชนเลือกนั้นยากหรือง่ายกว่าการยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศ พรรคเพื่อไทยรู้สึกเฉยๆ กับการตั้งพรรคหรือไม่ตั้งพรรคของ คสช. ไม่ว่าจะตั้งเอง หรือนอมินีของ คสช. เพราะการตั้งพรรคเป็นสิทธิของคนไทย ถามว่าการคงอำนาจตามมาตรา 44 จนถึงวันเลือกตั้ง เป็นธรรมต่อพรรคการเมืองอื่นหรือไม่ การลงพื้นที่เพื่อแจกบัตรสวัสดิคนจน การออกมาตรการช้อปช่วยชาติเป็นยุทธศาสตร์ในการหาเสียงล่วงหน้าหรือไม่ เป็นธรรมต่อพรรคการเมืองอื่นหรือไม่
///

มีชัยปัดเอี่ยว คสช.ตั้งพรรค แจงทำงานเสร็จก็กลับบ้าน จ่อชงกม.สส.-สว. 28 พ.ย.นี้



“มีชัย” ปัดเอี่ยว คสช.ตั้งพรรค แจง ทำงานเสร็จกลับบ้านได้ ปรับแผน ชงกฎหมายส.ว.พร้อมส.ส. 28 พ.ย.นี้ เตรียมหารือ สนช.ตั้งกมธ.ชุดเดียวถก 2 ฉบับลื่นกว่า

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 7 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกระแสข่าวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมตั้งพรรคการเมือง ว่า ตนไม่ได้รับมอบหมายจากใครเพื่อทำหน้าที่ประสานกับอดีตนักการเมืองเพื่อตั้งพรรค เพราะตนไม่มีความรู้ กลุ่มที่ไปเที่ยวเมืองจีนกันก็ไปเที่ยวกันปกติ ตนไม่รู้เรื่อง ไม่ได้คุยเรื่องการเมืองกัน บางคนก็เลิกเล่นการเมืองไปแล้ว เป็นข่าวลือ คิดกันไปเองที่เกิดขึ้นหลังจากตนกลับจากเมืองจีนแล้ว ไปอุปโลกใครขึ้นมา พลตรีอะไรนั่น ซึ่งเขาก็ปฏิเสธแล้ว ส่วนการตั้งพรรคการเมือง สำหรับคนที่เป็นรัฐมนตรีตอนนี้ สามารถทำได้ ไม่มีอะไรห้าม แต่ถ้าจะลงส.ส.นั้น ตามรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาลกำหนดให้ คนที่ดำรงตำแหน่งใน คสช. ครม. และสนช. ต้องลาออกภายใน 90 วัน นับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ซึ่งตอนนี้มันเลยกำหนดมาแล้ว ส่วนกรธ.ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปี ส่วนที่มองว่า หลังรัฐประหารต้องตั้งพรรคการเมือง เพื่อระวังเมื่อลงจากหลังเสือนั้น เป็นเพียงความคิดเห็น จะให้บอกว่า ควรหรือไม่ควรคงตอบไม่ได้ เพราะไม่เคยทำ ซึ่งก็ไม่จำเป็น เมื่อทำงานเสร็จก็กลับบ้านได้


ส่วนความคืบหน้าการจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. นั้น นายมีชัย กล่าวว่า เบื้องต้นกฎหมายส.ว.เสร็จแล้ว กำลังดูกฎหมายเลือกตั้งส.ส.อยู่ ซึ่งพบว่า จะปล่อยกฎหมายส.ว.ไปก่อนไม่ได้ หลายส่วนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน เช่น กลไกจัดการเลือกตั้ง บทลงโทษสำหรับคนทำผิด ที่แม้ส.ว.จะให้เลือกไขว้ และส.ส.ให้เลือกตรง ซึ่งต่างกัน แต่กลโกงอาจมีความใกล้เคียงทับซ้อนกัน จึงคาดว่า จะส่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา พร้อมกันในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ เผื่อมีการแก้ไขจะได้ไม่ขัดแย้งกัน พร้อมทั้งมีแนวคิดจะหารือกับสนช.ถึงความเป็นไปได้ในการตั้งกมธ.ชุดเดียวเพื่อพิจารณากฎหมายทั้ง 2 ฉบับไปเลย แล้วใช้การตั้งอนุกมธ.ช่วยดู จะได้คุยกันง่ายขึ้น
///

สมชัย ค้านแนวคิดห้ามทำโพลเลือกตั้ง ส.ส. ชี้ โลกประชาธิปไตย ไม่มีใครเขาห้ามกัน


“สมชัย” ชำแหละร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส. ค้านแนวคิดห้ามทำโพลเลือกตั้ง ส.ส. ชี้เป็นงานวิชาการที่สะท้อนสังคม

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าววิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า การที่ กรธ.ห้ามทำโพลที่มีลักษณะชี้นำ หรือมีผลต่อการตัดสินใจต่อการลงคะแนน หากมีการดำเนินการมีโทษทั้งจำ ทั้งปรับนั้น ในประเทศตะวันตกที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตย การทำโพลไม่เป็นเรื่องต้องห้าม สื่อมวลชนหรือสถาบันวิชาการต่างๆ มีการทำโพลกันหลายสิบครั้งก่อนการเลือกตั้ง ไม่มีการห้ามการเผยแพร่ผล เพราะเป็นวิจารณญาณของผู้อ่านผลโพลเองว่า สมควรเชื่อหรือไม่ โพลมีทั้งผิดและถูก และครั้งใหญ่ๆ หลายครั้งโพลที่ออกมากับผลก็แตกต่างกัน เช่น กรณีทรัมป์ กับฮิลลารี โพลทุกโพลแทบจะประเคนชัยชนะให้กับฮิลลารีด้วยซ้ำ แต่ผลเป็นเชิงตรงกันข้าม อย่างไรก็ตาม การทำโพลมีข้อดีในด้านที่ทำให้ผู้สมัครได้ทราบถึงคะแนนเสียงและจุดอ่อนของตน และนำไปสู่การปรับปรุงนโยบายและกลยุทธ์ในการหาเสียง ในขณะเดียวกัน โพลอาจมีส่วนช่วยป้องกันการทุจริตเลือกตั้งได้ ยกตัวอย่างเช่น หากโพลออกมาตรงกันว่าในพื้นที่นี้ใครชนะอย่างถล่มทลาย แต่หากผลกลับเป็นตรงข้าม อาจเป็นข้อสังเกตได้ว่า อาจจะมีการกระทำที่ไม่ถูกต้องบางอย่างให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนไป

“ไม่มีโพลใดที่ไม่มีอิทธิพล หรือไม่มีผลต่อการตัดสินใจในการลงคะแนน ในทางวิชาการเราเรียกสิ่งนี้ว่า ผลของสมัยนิยม หรือ Bandwagon effect คล้ายว่า หากกระแสนิยมส่วนใหญ่ในสังคมไปในทิศทางใด ก็มีแนวโน้มที่จะจูงใจให้คนเลือกตาม ดังนั้น หากกำหนดถึงขั้นว่าห้ามทำโพลที่มีผลต่อการตัดสินใจในการลงคะแนน นั่นแปลว่า คงไม่มีสำนักโพลใดกล้าทำโพลอีกแล้ว เพราะเสี่ยงที่จะถูกกฎหมายเล่นงานว่ามีผลต่อการตัดสินใจ คำถามของโพลที่อาจจะเกิดขึ้น คงตอบได้แค่ไป ไม่ไปเลือกตั้ง หรือได้คำตอบแล้วต้องมีใส่รหัสปริศนาให้คนตีความ เช่น พรรคที่มีสัญลักษณ์เป็นวัตถุสิ่งของ มีคะแนนนำพรรคที่มีสัญลักษณ์เป็นสิ่งมีชีวิต” นายสมชัยกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: