PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

จุด ละเอียดอ่อน ปรับครม. ‘เศรษฐกิจ’ สะท้อน ‘ผลงาน’

จุด ละเอียดอ่อน ปรับครม. ‘เศรษฐกิจ’ สะท้อน ‘ผลงาน’


ภายในความคึกอันจะนำไปสู่การปรับใหญ่ ครม.โดยพุ่งเป้าไปยังกระทรวงในทาง “เศรษฐกิจ” ก็ปรากฏจุดอ่อนไหวขึ้นมา

เป็นจุดอ่อนไหวที่จะมีการ “โละ” รัฐมนตรีบางคน

บังเอิญที่เป็นรัฐมนตรีบางคนในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บังเอิญที่เป็นรัฐมนตรีบางคนในกระทรวงพลังงาน

ล้วนเป็นรัฐมนตรีที่ดำรงยศเป็น “พลเอก”

หากติดตามน้ำเสียงวิพากษ์และวิจารณ์และชี้ถึงแนวโน้มของการปรับ ครม.ก็เริ่มมีความเด่นชัดเป็นลำดับว่าอาจจะลดโควต้า “สายทหาร” ลง

แล้วนำเอา “มืออาชีพ” เข้ามาสอดสวมแทน

เป็นมืออาชีพที่มีประสบการณ์การบริหารในทางธุรกิจ เป็นมืออาชีพที่มิได้เป็นข้าราชการหากแต่ผ่านกระบวนการของภาคเอกชนมาอย่างเจนจบ

ยิ่งวิพากษ์วิจารณ์ก็จะยิ่ง “อ่อนไหว”

ความอ่อนไหวในที่นี้เนื่องมาจากสภาพความเป็นจริงของรัฐบาลเป็นความสืบเนื่องจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

นั่นก็คือ ผลงานและความสำเร็จของ “คสช.”

ไม่ว่า 1 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ว่า 1 คณะรัฐมนตรี ไม่ว่า 1 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่า 1 สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ อันแปรมาเป็นคณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติ
ล้วนเป็น 1 ใน “แม่น้ำ 5 สาย”

ล้วนเป็นผลผลิตและสำเร็จขึ้นมาจากกระบวนการของการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อันมี “คสช.” เป็นผู้รับผิดชอบ

และ “คสช.” ก็มีองค์ประกอบมาจาก “ทหาร”

จึงไม่แปลกที่ สนช.จะมากด้วยทหาร จึงไม่แปลกที่ สปช.หรือ สปท.จะมากด้วยทหาร จึงไม่แปลกที่ภายใน ครม.จะมีทหารเป็นแกนหลัก

กระทั่ง ต่างประเทศเรียกว่า JUNTA

กระแสเรียกร้องให้ “ลด” จำนวนรัฐมนตรีที่มาจากสายทหารลงในการปรับ ครม.ครั้งใหม่จึงเท่ากับตีตรงขนดหางของ คสช.และของรัฐบาลโดยตรง

1 อาจมองได้ว่าเพราะ 3 ปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม

เมื่อประสบความสำเร็จในการสร้างความสงบเรียบร้อย ทำให้เป้าหมายที่ว่าจะ “คืนความสุข” ให้ประชาชนได้มาถึง

“เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน”

ขณะเดียวกัน 1 ก็อาจมองได้ด้วยว่าเพราะว่าอุปสรรคและขวากหนามที่การบริหารยังไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่

จึงต้องนำ “มืออาชีพ” เข้ามา ไม่ใช่ “มือสมัครเล่น”

กระแสแห่งการวิพากษ์วิจารณ์จึงพุ่งไปยังกระทรวงเศรษฐกิจที่มีทหารกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพลังงาน

เท่ากับมองและประเมินว่ารัฐมนตรี “สายทหาร” เป็นความล้มเหลว

คำถามในเมื่อหัวหน้า คสช.ก็มาจากทหาร ในเมื่อองค์ประกอบภายใน คสช.ก็มีทหารเป็นด้านหลักจะสามารถยอมรับความล้มเหลว ความผิดพลาดเช่นนี้ได้หรือ

การปรับ ครม.โดยเน้นไปยังกระทรวงทางด้าน “เศรษฐกิจ” จึงสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับกระแสการโหมประโคมในห้วง 1 ปีหลังของรัฐบาล

ไม่ว่าจะในด้านความสำเร็จของ “เศรษฐกิจ”

ไม่ว่าจะในด้านความรุ่งโรจน์และคะแนนนิยมจากนานาอารยประเทศและจากประชาชนโดยผ่านจากโพลบางสำนักที่ใกล้ชิดอยู่กับรัฐบาล

คำถามก็คือ เป็นความสำเร็จอย่างแท้จริงจริงหรือ

ไม่มีความคิดเห็น: