PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560

รับฟังความเห็นปฏิรูปสื่อ

รับฟังความเห็นปฏิรูปสื่อ

โดย ซี.12

หลังจากประชุมกำหนดทิศทางการดำเนินงานมากว่า 20 ครั้ง คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ก็ได้ประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านนี้รวม 6 ประเด็นด้วยกัน

คณะกรรมการที่มี นายจิรชัย มูลทองโร่ย อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเลขานุการ ได้กำหนดการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศขึ้นในวันนี้
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้จัดทำร่างประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ รวม 6 ประเด็น ซึ่งคณะกรรมการฯเห็นควรกำหนดให้มีโครงการสัมมนารับฟังความคิดเห็นการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ประมวลผลเป็นข้อมูลประกอบในการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเสนอตามขั้นตอนต่อไป

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องโดยตรง มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นข้อเสนอการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับนำมาใช้จัดทำ (ร่าง) แผนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ให้มีความครบถ้วนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายมีประมาณ 300 คน จากทั้งในกรุงเทพมหานครและในภูมิภาค ประกอบด้วย ผู้แทนภาคสื่อสารมวลชน ประมาณ 150 คน สถาบันวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ประมาณ 30 คน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 50 คน ภาคประชาชน ประมาณ 50 คน และคณะกรรมการและฝ่ายเลขานุการ 20 คน

การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้จัดในวันนี้วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2560 ณ เวลา 09.30-16.30 น. ณ ศูนย์การประชุมวายุภักดิ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กรุงเทพมหานคร

โดยเริ่มด้วยการเสนอกรอบแนวคิดการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศในภาพรวม

แล้วนำไปสู่ประเด็นข้อเสนอในการปฏิรูปรวม 6 ประเด็น ได้แก่

1.การปฏิรูปการรู้เท่าทันสื่อและการกำกับดูแลสื่อโดยภาคประชาชน 2.การปฏิรูปมาตรฐานวิชาชีพและระบบการกำกับดูแลสื่อมวลชน 3.การปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์/ทีวีดิจิตอล/NBT/Thai PBS 4.การปฏิรูปแนวทางการกำกับสื่อออนไลน์ 5.การปฏิรูปการบริหารจัดการความปลอดภัยไซเบอร์ กิจการอวกาศ และระบบและเครื่องมือด้านการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคมเพื่อสนับสนุนภารกิจการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย 6.การปฏิรูประบบการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ

การรับฟังความคิดเห็นนี้แบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มประชาชน กลุ่มสื่อ และกลุ่มภาครัฐ เพื่อพิจารณาข้อเสนอทั้ง 6 ประเด็น ทั้งในช่วงสายและช่วงบ่าย และมาสรุปกันในที่ประชุมใหญ่ช่วงเย็น
ผลสรุปอันนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ จะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศต่อไป

การประชุมวันนี้จึงสำคัญมากกับสื่อทุกประเภทถ้าไม่ไปเป็นปากเสียงแสดงเหตุผลให้ชัดเจนในการควบคุมกันเองแล้วก็ยากที่จะสลัดหลุดจากโซ่ตรวนที่ผูกมัดปิดกั้นเสรีภาพมายาวนาน.

“ซี.12”

ไม่มีความคิดเห็น: