ลุยเต็มสตีม

เป็นอันว่าโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย–จีน กรุงเทพฯ–หนองคาย ระยะทาง 608 กม. จะเริ่มเดินหน้าก่อสร้างเฟสแรก โคราช–กรุงเทพฯ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 253 กม.
“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่าการก่อสร้างเฟสแรก 253 กม. จะใช้เงินลงทุน 179,413 ล้านบาท โดยแยกซอยเป็น 4 ช่วง เริ่มจากสถานีกลางดงไปปากช่อง จากปากช่องไปแก่งคอย จากแก่งคอยขึ้นไปโคราช และจากกรุงเทพฯขึ้นไปจบครบวงจรที่แก่งคอย จังหวัดสระบุรี
โดยใช้วิธีทยอยออกแบบประมูลไปก่อสร้างไปเพื่อให้เสร็จรวดเร็วทันใจ
สำหรับปัญหารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ “อีไอเอ” ที่บรรดาเอ็นจีโอทวงถามกันจัง
ล่าสุดก็ได้รับไฟเขียวผ่านฉลุยอย่างสะดวกโยธินตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน
หากไม่ติดขัดปัญหาการเวนคืนที่ดิน (ใช้งบอัดฉีด 13,000 ล้านบาท) ทำให้แผนการก่อสร้างต้องล่าช้าออกไป
โครงการรถไฟด่วนไทย–จีน เฟสแรก กรุงเทพฯ–โคราช 253 กม. จะสร้างสำเร็จเสร็จสมบูรณ์เปิดหวูดวิ่งรับส่งผู้โดยสารได้ภายในปี 2564 แน่นอน
รถไฟความเร็วสูงสายนี้จะวิ่งตะบึงด้วยสปีดความเร็ว 250 กม.ต่อชั่วโมง จะย่นเวลา
เดินทางจากกรุงเทพฯ–โคราช เหลือเพียง 1 ชั่วโมง 17 นาที
แถมตั้งราคาค่าโดยสารจิ๊บๆเพียง 535 บาทต่อเที่ยวต่อคน
แต่เพราะโครงการนี้ เป็นนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาล คสช. ถึงแม้จะรู้ว่าขาดทุนยาวๆ ก็จำเป็นต้องลงทุน เพื่อลากเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ–หนองคาย ไปเชื่อมโครงการรถไฟความเร็วสูงลาว–จีน สายเวียงจันทน์–คุนหมิง ระยะทางรวมกันทั้งสิ้น 1,035 กม.
จากต้นทางคุนหมิงถึงปลายทางกรุงเทพฯจะใช้เวลาสปรินต์ไม่เกิน 6 ชั่วโมง
แถมสามารถขนสินค้าจากจีนตอนใต้มาลงทะเลที่ท่าเรือแหลมฉบังของไทยได้อย่างสบายแฮ
“แม่ลูกจันทร์” สรุปว่ารถไฟความเร็วสูงเฟสแรก กรุงเทพฯ–โคราช ระยะทาง 253 กม. จะใช้วงเงินลงทุน 1.7 แสนล้านบาท
หรือเฉลี่ยกิโลละ 709 ล้านบาท โดยประมาณ
ขั้นต่อไปยังต้องเร่งก่อสร้างเฟสที่ 2 “โคราช– หนองคาย” ระยะทางอีก 355 กม. ให้เสร็จภายใน 5 ปี เพื่อให้เชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงสายเวียงจันทน์–คุนหมิง ซึ่งจะเริ่ม
เปิดหวูดในปี 2565 พอดี
“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่าปัญหาใหญ่คือโครงการเฟสที่ 2 จากโคราชถึงหนองคาย ระยะทางยาวกว่าเส้นกรุงเทพฯ–โคราช ถึง 102 กม.
ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่ารัฐบาล คสช.จะควักกระเป๋าลงทุนเอง 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนเฟสแรกหรือไม่??
และจะต้องใช้วงเงินลงทุนเฟส 2 อีกมากเท่าใด??
อนึ่ง ระหว่างที่รอคำชี้แจงให้กระจ่างแจ้งจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ผู้รับหน้าเสื่อโครงการรถไฟด่วนไทย–จีน
“แม่ลูกจันทร์” ลองเอาค่าก่อสร้างเฉลี่ย 709 ล้านบาทต่อ 1 กม. ไปคูณกับระยะทางก่อสร้างเฟส 2 โคราช–หนองคาย 355 กม.
ปรากฏว่าเคาะวงเงินลงทุนเฟส 2 ออกมาได้ 251,745 ล้านบาท
หรือ 2.5 แสนล้านบาทโดยประมาณ
เมื่อเอาวงเงินลงทุนเฟสแรก 1.7 แสนล้านบาท และเฟส 2 2.5 แสนล้านบาท มาขยํารวมกันจะต้องใช้งบลงทุนมหาศาลถึง 4.3 แสนล้านบาททีเดียว
เงินเยอะขนาดนี้ ถ้าไม่ใช่ “ป.ประยุทธ์” ทำไม่ได้นะโยม.
“แม่ลูกจันทร์”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น