PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560

แก้ไขให้ถูกต้อง

แก้ไขให้ถูกต้อง


การสรรหา กกต.ใหม่ 2 คน (จากทั้งหมด 7 คน) ซึ่งท่ีประชุมใหญ่ศาลฎีกาดำเนินการคัดเลือกเสร็จเรียบร้อย

มีแนวโน้มว่าอาจต้องกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ซ้ำอีกรอบ??

เพราะ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ชุดปัจจุบัน ออกมาทักท้วงว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาใช้วิธีเลือก กกต.ไม่ถูกต้อง

เนื่องจาก พ.ร.บ.กกต.ฉบับใหม่ กำหนดให้ “ลงคะแนนโดยเปิดเผย” แต่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้ผู้พิพากษาแต่ละท่านลงคะแนนในบัตรที่จัดให้

โดยไม่มีชื่อเจ้าของบัตรกำกับไว้ด้วย

นายสมชัย ชี้ว่าการลงคะแนนเลือกว่าที่ กกต. 2 คนของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจึงไม่ใช่ “ลงคะแนนโดยเปิดเผย” ตามที่กฎหมายกำหนด

เพราะตรวจสอบไม่ได้ว่าบัตรเลือก ตั้งแต่ละใบเป็นของท่านใด? และใครลงคะแนนเลือกใครกันบ้าง?

ถือเป็นข้อท้วงติงจาก กกต.ที่สมควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

“แม่ลูกจันทร์” เห็นด้วยกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หน.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่าหลักสำคัญของการ “ลงคะแนนโดยเปิดเผย”

คือ ต้องเปิดเผยว่าใครลงคะแนนให้ใคร

ส่วนการนำบัตรไปหย่อนในหีบ (โดยไม่ระบุชื่อเจ้าของบัตร) ไม่ใช่การลงคะแนนโดยเปิดเผย แต่เป็นการ “ลงคะแนนลับ” แบบเดียวกับที่เราไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

นายอภิสิทธิ์ ย้ำว่าการสรรหา กกต.ต้องดูกฎหมายให้รอบคอบ เพราะถ้ามีปัญหาวิธีการสรรหาไม่ถูกต้องก็จะเป็นอุปสรรคต่อไปในวันข้างหน้า

ถ้าจำเป็นต้องลงคะแนนใหม่อีกครั้งก็ไม่น่าเป็นเรื่องยาก

“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่าวิธีลงคะแนนโดยเปิดเผยที่ใช้ปฏิบัติกันอยู่ทำได้ 4 อย่าง ได้แก่...

1, วิธีขานชื่อ 2, วิธียกมือ 3, วิธีกดปุ่ม 4, วิธีใช้บัตรลงคะแนน โดยระบุชื่อผู้ลงคะแนนในบัตรด้วย

ดังนั้น กรณีที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาใช้วิธีให้ผู้พิพากษาแต่ละท่านนำบัตรลงคะแนนไปหย่อนในหีบจึงเป็นการ “ลงคะแนนลับ” เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าบัตรใบไหนเป็นของผู้พิพากษาท่านใดกันบ้าง
(ยกเว้น...ต้องตรวจดีเอ็นเอถึงจะพิสูจน์ได้)

“แม่ลูกจันทร์” โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่ พ.ร.บ.กกต.ฉบับใหม่ กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา “ต้อง” ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย

แถมระบุให้กรรมการสรรหาแต่ละคนต้องบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย

เหตุผลที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากผู้พิพากษาศาลฎีกาที่มีเพียง 200 ท่าน ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนฝูงรู้จักมักคุ้นสนิทสนมกันทั้งสิ้น

ดังนั้น การบังคับให้ลงคะแนนโดยเปิดเผยว่าจะเลือกใคร หรือไม่เลือกใคร จึงเป็นเรื่องลำบากใจมากๆ
แถมการลงคะแนนเปิดเผยยังทำให้เกิด “คะแนนเกรงใจ” ตามมาด้วย

ส่วนข้อดีของวิธี “ลงคะแนนลับ” คือผู้พิพากษาแต่ละท่าน สามารถตัดสินใจเลือกใคร หรือไม่เลือกใครได้อย่างเต็มที่

แต่เมื่อ พ.ร.บ.กกต.ฉบับใหม่ เขียนล็อกไว้แบบนี้ ก็จำเป็นต้องทำตามกติกาที่กำหนดไว้ให้ถูกต้อง

ฉะนั้น เพื่อป้องกันปัญหาปลายเหตุ ก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุคือต้องลงคะแนนใหม่ซ้ำอีกรอบ.

“แม่ลูกจันทร์”

ไม่มีความคิดเห็น: