PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561

"บิ๊กป้อม" อนุมัติ "แผนปรองดอง ปี 61"สร้างการรับรู้ "สัญญาประชาคม"

"บิ๊กป้อม" อนุมัติ "แผนปรองดอง ปี 61"สร้างการรับรู้ "สัญญาประชาคม" เน้นลดเหลื่อมล้ำ-สร้างความเป็นธรรม ตามยุทธศาสตร์ชาติ ส่ง กอ.รมน.-จนท.ลงพื้นที่ ยัน ความขัดแย้งการเมือง มีอยู่ แต่ให้แก้ปัญหา ด้วยระบอบรัฐสภา-วิถี ปชต./หวังสร้างบรรยากาศ ปรองดอง สลายสีเสื้อ ก่อนเลือกตั้ง

พล.ท.คงชีพ ตันตระวานิชย์ โฆษกกลาโหม ในฐานะประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ฯแถลงผลการประชุม คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงาน 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง"แผนเดินหน้าปรองดองสู่ ความรู้รักสามัคคี"
โดยเน้นที่ประชาชนที่จะบูรณาการทำงานร่วมกัน ระหว่างส่วนราชการในการสร้างความรับรู้ และความเข้าใจอยู่ร่วมกันของประชาชน ร่วมสร้างบรรยากาศความรักความสามัคคีพร้อมกัน
พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า สำหรับแผนนี้เป็นการกำหนดเป้าหมายที่จะสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน เพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสงบและสันติสุขเป็นรูปธรรม โดยยึดมั่นกรอบกฎหมาย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคมตามยุทธศาสตร์ชาติ
โดยกำหนดเป็น 3 ขั้นตอน 1.การบูรณาการการรับรู้ 2. การดำรงความต่อเนื่องในเรื่องของการสร้างความรับรู้และ 3. การขยายผลและประเมินผลโดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่มกราคม 2561 ถึงกันยายน 2561
โดยการทำงานจะลงไปในระดับพื้นที่และมีความชัดเจนมากขึ้น เช่นกระทรวงมหาดไทย จะจัดชุดวิทยากร ลงไปให้ความรู้เกี่ยวกับสัญญาประชาคม ควบคู่กับความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยและหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะใช้กลไกของ กอ.รมน. ในการขับเคลื่อนระดับจังหวัด เพื่อสร้างความรับรู้และการสร้างความมีส่วนร่วมโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บูรณาการแผนงาน
นอกจากนี้จะนำสาระใน"สัญญาประชาคม"ที่เกี่ยวข้อง สอดแทรกแผนงานของแต่ละกระทรวง ร่วมขับเคลื่อนทั้งในปี 2561 รวมถึงกิจกรรมต่างๆเพื่อการมีส่วนร่วม
สำหรับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่เกิดจากความเดือดร้อนของประชาชนในแต่ละภูมิภาค ซึ่งทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะบรรจุเข้าไปอยู่ในแผนงานเพื่อบริหารการจัดความขัดแย้งในการบริหารความเหลื่อมล้ำของในแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้ยืนยันว่ารัฐบาลและทุกภาคส่วนกำลังใช้ความพยายามร่วมกันในการสร้างความรักความสามัคคีในสังคมในภาพรวมโดยเน้นไปที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางโดยเฉพาะการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขภายใต้กรอบกติกาทางสังคมและกฎหมายซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ต้องการสร้างความมั่นคงความสงบความปลอดภัยและเชื่อมั่นในระบบกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม

พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาถือเป็นเรื่องสำคัญ "ความขัดแย้งทางสังคมถือเป็นเรื่องปกติ และการปรองดองก็ไม่ใช่เรื่องใหม่"
"ความขัดแย้งทางการเมืองยังคงดำรงอยู่ แต่จะต้องอยู่ในวิถีทางประชาธิปไตยที่ใช้ระบบรัฐสภาและยอมรับด้วยกติกาและเสียงข้างมากในสภา ซึ่งบทเรียนการทำงานทางการเมืองที่ผ่านมา ที่ไม่มีการยอมรับกติกา และมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงมีการทุจริต หรือใช้วาทกรรมมีการสร้างความโกรธเกลียด ปลุกเร้าประชาชน ต้องไม่เกิดขึ้นอีก
และเชื่อมั่นว่าประชาชนยอมรับไม่ได้ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องให้ความร่วมมือหรือปรับความเคยชินหรือลดทอนอำนาจส่วนตนและยึดมั่นในผลประโยชน์ส่วนรวมให้มากขึ้นย้ำว่าแนวทางดังกล่าวเป็นแนวทางในการที่จะลดความขัดแย้งและไม่ไปสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง" พล.ท.คงชีพ กล่าว
ส่วนจะเป็นการสร้างบรรยากาศความปรองดองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง หรือไม่นั้น พลโทคงชีพ กล่าวว่า. เราจะแยกกระบวนการปองดอง และการเลือกตั้ง. แต่หากเราทำความปรองดองได้สำเร็จก็จะเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เพราะ1ใน 10 ข้อของสัญญาประชาคม ก็มีเรื่องเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ไม่มีความคิดเห็น: