PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ประวัติศาสตร์นายกฯใน-นอก โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

ประวัติศาสตร์นายกฯใน-นอก โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน


ประเด็นการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ที่ม็อบนกหวีดชูเป็นเรื่องใหญ่เมื่อ 4 ปีก่อน เปิดทางให้เกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อให้ประเทศเข้าสู่ยุคปฏิรูป แต่มาวันนี้กำลังเป็นหัวข้อใหญ่ในสังคมไทยว่า ไม่มีความคืบหน้าในการปฏิรูปอะไรที่เป็นรูปธรรมเลย
บางส่วนก็เลยมาถกเถียงกันถึงวิธีการปฏิรูปว่า เพราะปล่อยให้ระบบราชการดำเนินการ ก็เลยไม่คืบหน้า
บางส่วนก็มองว่า ไม่มีการปฏิรูปทางการเมืองและทางสังคมของประเทศไหนในโลกที่จะสำเร็จได้ ถ้าไม่เปิดให้ประชาชนทั่วสังคมร่วมในการปฏิรูป เพราะของเราที่ทำกันมา 4 ปีนั้น ทำโดยกลุ่มอำนาจคณะรัฐประหาร และคณะกรรมการที่กลุ่มอำนาจคณะเดียวตั้งขึ้น
แต่บางส่วนก็มองว่า จะไปหวังอะไรกับการปฏิรูป เพราะเป็นแค่ข้ออ้างไม่ให้มีเลือกตั้งและให้เกิดรัฐประหารเท่านั้น เขาไม่ได้คิดปฏิรูปอะไรจริงจังหรอก ไปหวังได้อย่างไร
เพราะตอนที่ชุมนุมชัตดาวน์ ฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทยตัดสินใจยุบสภา และให้เลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557
น่าจะเกิดมุขสดๆ ตอนนั้นว่า ต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เป็นวิธีหลบเลี่ยงไม่ยอมรับข้อเสนอยุบสภาเลือกตั้งใหม่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เท่านั้นเอง
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลไหน แต่สรุปได้ว่า การปฏิรูปที่ผ่านมา 4 ปี ไม่มีอะไรเกิดขึ้นชัดเจน
ประเด็นนี้ตกเป็นหัวข้อพูดคุยกันไปทั่ว เพราะกำลังครบรอบ 4 ปีการรัฐประหารของ คสช.
เกิดคำถามว่า สังคมไทยได้อะไรมาบ้าง กับการชัตดาวน์ของม็อบนกหวีดอันนำมาสู่การรัฐประหารครั้งนี้
บังเอิญเหลือเกิน ที่ช่วงนี้คนจำนวนไม่น้อยกำลังรำลึกถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หรือประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนไทยเมื่อ 26 ปีก่อน
เป็นการต่อสู้เพื่อสิ่งที่ก้าวหน้ามากๆ นั่นคือ ต่อต้านนายกฯที่มาจากการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร รสช.
พร้อมกับเรียกร้องให้เขียนลงไปในรัฐธรรมนูญว่า ต่อไปนี้นายกฯต้องมาจากคนที่ผ่านการเลือกตั้ง ส.ส.แล้วเท่านั้น

เหตุผลของการต่อสู้เมื่อ 26 ปีก่อนก็คือ ถ้าเราเขียนรัฐธรรมนูญโดยเปิดให้นายกฯมาจากไหนก็ได้ เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้อำนาจนอกระบบแทรกแซงการเมืองได้ตลอดเวลา
จากนั้นมาก็มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ให้กำหนดนายกฯต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น
รวมทั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ก็กำหนดเช่นนี้มาตลอด
ความหมายที่สำคัญสุดก็คือ ถ้านายกฯต้องมาจาก ส.ส. เท่ากับนายกฯต้องผ่านการเลือกตั้งโดยประชาชน เป็นหลักการที่เคารพอำนาจของประชาชนส่วนใหญ่อย่างสูงสุด
แต่ผลจากการชัตดาวน์ของนกหวีด ไม่ยอมให้เลือกตั้งขอปฏิรูปก่อน ทำให้เราได้รัฐบาลทหารเข้ามาปกครอง และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่เปิดให้นายกฯมาจากไหนก็ได้
นอกจากทำลายเจตนารมณ์วีรชนพฤษภาคม 2535 ที่เสียเลือดเนื้อชีวิตจากห่ากระสุนของทหารในการสลายม็อบแล้ว
ยังเป็นการไม่เคารพอำนาจการเมืองในมือประชาชนอย่างรุนแรงที่สุด
นี่เป็นหัวข้อใหญ่หัวข้อหนึ่ง ที่ตอบคำถามว่า 4 ปีของการชุมนุมชัตดาวน์และการรัฐประหาร สังคมไทยเราได้อะไรบ้าง
ได้การลดอำนาจการเมืองในมือประชาชน และอีกหลายๆ ประเด็น ที่ล้วนแต่เป็นการถอยหลังการเมืองไทยกลับไปสู่ยุคที่อำนาจของกลุ่มการเมืองนอกระบบอยู่เหนืออำนาจการเมืองในมือประชาชน
ดูเหมือนการชัตดาวน์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เป็นการต่อสู้เพื่อเปิดทางให้อำนาจนอกวิถีประชาธิปไตยอย่างมากมายแทบทุกด้านจริงๆ
สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

ไม่มีความคิดเห็น: