PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ปมร้อน การเมือง แก้ ไม่แก้ ‘รัฐธรรมนูญ’ ปม ‘อนาคตใหม่’

ปมร้อน การเมือง แก้ ไม่แก้ ‘รัฐธรรมนูญ’ ปม ‘อนาคตใหม่’


ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมถึง นายวิษณุ เครืองาม ออกมาแสดงความหงุดหงิดต่อคำประกาศที่จะ “รื้อ” รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ของพรรคอนาคตใหม่
ยิ่งจะทำให้ปัญหา “รัฐธรรมนูญ” กลายเป็นประเด็น
ต่อกรณีที่ “นักการเมือง” จากบางพรรคออกมาแสดงความเป็น “ผู้อาวุโส” เตือน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ด้วยความรำคาญ
ราวกับว่า 2 คนนี้เป็นเด็ก
ก็จะนำไปสู่คำถามที่ว่า นักธุรกิจระดับ “หมื่นล้าน” อย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือเป็นเด็กนักวิชาการระดับดอกเตอร์อังดรัวจากฝรั่งเศสอย่าง นายปิยบุตร แสงกนกกุล หรือเป็นเด็ก
และคำถามก็จะย้อนกลับไปยังบรรดา “เฒ่าทารก” ทั้งหลายโดยอัตโนมัติ
การเสนอประเด็นในเรื่อง “รื้อสร้าง” เพื่อนำไปสู่การสถาปนารัฐธรรมนูญ “ใหม่” โดยพรรคอนาคตใหม่ จึงกลายเป็นเรื่องร้อน
นับวันจะยิ่ง “ร้อน” และ “แหลมคม”
แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จะผ่านประชามติมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 แต่ถามว่าผู้คนมีความรู้สึกและตั้งข้อสังเกตอย่างไรต่อการดำรงอยู่ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้
คำถามนี้ไม่เพียงแต่ตัว “รัฐธรรมนูญ”
หากแต่ยังย้อนกลับไปยาวไกลถึงกระบวนการในระหว่างการทำ “ประชามติ” ด้วยว่าดำเนินไปด้วยความโปร่งใสหรือไม่
คสช.จะตอบคำถามต่อ “คดี” ที่มีอยู่ใน “ศาล” อย่างไร
เพราะความเป็นจริงที่เห็นและเป็นอยู่อย่างทนโท่ก็คือ มีแต่ฝ่ายที่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านเท่านั้นที่สามารถเคลื่อนไหวได้
ตรงกันข้าม หากไม่ต้องการให้ผ่านก็จะประสบปัญหานานาประการ

รอยตำหนิและใฝฝ้าราคีอันเนื่องแต่ “ประชามติ” เช่นนี้แหละที่ไปสร้างความชอบธรรมโดยปริยายให้กับข้อเสนออันมาจากพรรคอนาคตใหม่
ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นข้อเสนอตามบทบัญญัติของ “รัฐธรรมนูญ” อีกด้วย
ถึง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะใช้คำว่า “ฉีก” ต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แต่ความเป็นจริงก็คือ เขาต้องการแก้ไข และยืนยันเป็นการแก้ไขตามหลักแห่งกฎหมายที่มีอยู่
นั่นก็คือ ตามหลักที่กำหนดไว้ใน “รัฐธรรมนูญ” เอง
เพียงแต่ว่าเมื่อเป็นพรรคการเมือง กระบวนการรณรงค์และเคลื่อนไหวก็ต้องสร้างความเห็นร่วมเพื่อให้ได้รับ “ฉันทานุมัติ” จากประชาชน
พรรคอนาคตใหม่มิได้ทำแบบที่ “นักรัฐประหาร” ชอบทำกัน
ขั้นตอน 1 คือ ความเห็นชอบจากประชาชนผ่านกระบวนการเลือกตั้ง หากประชาชนเห็นด้วยก็เลือกพรรคอนาคตใหม่ หรือเลือกพรรคที่มีแนวทางเช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่
ขั้นตอน 1 คือ นำเอา “ฉันทานุมัติ” นี้เข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภา
นี่คือแนวทางที่เป็น “อารยะ” ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแนวทาง “อนารยะ” โดยการลากปืนและรถถังออกมาทำรัฐประหารแล้วฉีกทิ้ง
ตรงนี้ต่างหากคือ “วิธีการ” ตรงนี้ต่างหากที่ “สำคัญ”
เชื่อได้เลยว่า นับแต่นี้เป็นต้นไปประเด็นอันเกี่ยวกับ “รัฐธรรมนูญ” จะกลายเป็นเรื่องราวซึ่งถกเถียงกันในหมู่ประชาชนและพรรคการเมือง
แต่ละพรรคจะมี “ท่าที” อย่างไรต่อ “รัฐธรรมนูญ”
แน่นอน ท่าทีนั้นย่อมจะแตกออกไปเป็น 2 แนวทาง นั่นก็คือ แนวทาง 1 เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีความยอดเยี่ยม ไม่จำเป็นต้องไปแตะ อีกแนวทาง 1 เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา จำเป็นต้องแตะ
ท่าที 2 ท่าทีนี้แหละจะอยู่ในสายตาประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น: