PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561

บางช่วงก็ชักจะไม่ลื่น

บางช่วงก็ชักจะไม่ลื่น



เอาเข้าจริง ไม่ใช่เฉพาะ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. จะหัวหมุนกับสารพัด
ประเด็นร้อน ที่สุดท้ายต้องเร่งหาทางแก้ไข โดยไม่วายต้องใช้ “อำนาจพิเศษ” เข้าไปจัดการ
กระทั่งทีมกฎหมายรัฐบาล ทั้ง “ดร.วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ที่ถือเป็น “ยาสามัญประจำบ้าน”
ปวดหัวตัวร้อน ไข้เล็กไข้ใหญ่ในเรื่องข้อกฎหมาย ทำหน้าที่ประสานงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ร่วมกันชงเสิร์ฟรัฐบาล คสช. สมฉายา “เนติบริกร” บริการทันควัน
ไม่แพ้บรรดาทีมกฎหมายต่างๆ ทั้ง สนช.นำทัพโดย “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. รอรับสัญญาณแบบคลิกต่อติดทันใจ รวมถึงชุดอรหันต์กฎหมาย นำโดย “ซือแป๋มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ.
ในโหมดของการกลับไปมาของกฎกติกาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เดี๋ยวร่าง เดี๋ยวรื้อโละ วนๆกันไป
ล่าสุดก็คงไม่เหนือการคาดหมาย กับปมคลายล็อกคำสั่ง คสช.ห้ามทำกิจกรรมการเมือง พ่วงไปกับกระบวนการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารีโหวต) ตามกฎหมายเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญปี 2560
ปักธง “ให้ประชาชนมีส่วนร่วม”
ดูหรูในเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ยากปฏิบัติ ตามเสียงสะท้อนจากขั้วฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะเครือข่ายป้อมค่ายเกิดใหม่ ในแผนตีตั๋วไปต่อของ “นายกฯลุงตู่”
ยื้อจังหวะกันมาพักใหญ่ แล้วก็เป็นท่านผู้นำเอ่ยปากบอก จะใช้ “อำนาจของตัวเอง” แก้ปมเรื่องการปลดล็อกและการทำตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด
ตีความได้ว่าคือจะใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 คลายล็อก และเคลียร์เรื่องการทำไพรมารีโหวตอีกรอบ หลังจากก่อนหน้านี้ มาตรา 44 เคยใช้ยกเว้นไพรมารีโหวตระดับเขต มาให้ทำเฉพาะระดับจังหวัด
งัดกระบองยักษ์มาแล้วรอบหนึ่ง แต่เคลียร์กันไม่จบ
หนนี้ หากจะตัดลดให้ทำไพรมารีโหวตเฉพาะระดับภาคก็จะถูกมอง “ทำแบบเสียมิได้”
ไม่สะท้อน “การมีส่วนร่วมของประชาชน” จริงจัง
จึงต้องรอดูบรรดาทีมกฎหมาย มันสมองเนติบริกรที่ระบุว่าจะใช้ “รูปแบบอื่น” จะทำให้การมีส่วนร่วมที่ท่องๆกันเป็นจริง หรือใกล้เคียงได้มากน้อยแค่ไหน
แต่ที่แน่ๆ “ดร.วิษณุ” เริ่มแพลมไต๋มาแล้ว มี 6 ประเด็นที่จะผ่อนกฎเหล็ก
1.พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่เพื่อรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติมได้ 2.ให้ความเห็นเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้งได้
3.ดำเนินการเกี่ยวกับไพรมารีโหวตได้ 4.ตั้งกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ 5.ติดต่อประสานงานกับสมาชิกได้
ส่วนข้อสุดท้าย อ๋องกฎหมายประจำยุคบอก “จำไม่ได้” ซะงั้น
รวมทั้งที่ยังทิ้งทุ่นเอาไว้ เมื่อทำไพรมารีโหวตเสร็จ พรรคการเมืองก็ยังหาเสียงเลือกตั้งไม่ได้ การหาเสียงจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง
“พรรคการเมืองจะลงพื้นที่พบปะประชาชน หลังทำไพรมารีโหวตได้หรือไม่นั้น ต้องถาม กกต.”
แค่คลายล็อก แถมติดติ่งให้ระแวงกันได้อีก
ณ ห้วงนี้จึงไม่แปลก ที่แม้จะมีสัญญาณตอบรับเรื่องการดำเนินการตามกฎหมายเลือกตั้ง ผู้นำจ่อใช้กระบองยักษ์
เข้ามาแก้ปัญหา แต่ปฏิกิริยาจากขั้วการเมืองก็ยังคงร้อนแรง
ยังคงมีเสียงเรียกร้องต่อรองให้ปล่อยฟรี เปิดทางการทำกิจกรรมการเมืองแบบเคลียร์กันให้ชัด ในขณะที่ฝ่ายอำนาจพิเศษเอง ที่ไม่เพียงยึกยัก กลับไปกลับมาเรื่องกฎกติกา
กระทั่งแผนการเมืองเรื่องต่อตั๋วให้ผู้นำคัมแบ็กอย่างสง่างามตามระบบ
ชักมีเสียงแว่วสะท้อนให้เห็นถึงคิว “คร่อมจังหวะ”
เกมอำนาจพิเศษเฟสใหม่ เริ่มมีสเต็ปสะดุดอยู่เหมือนกัน.
ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: