PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2561

"บิ๊กป้อม" การันตีโรดแม็ปไร้ปัจจัยเสี่ยง : แก้ปากท้องบ้านเมืองสงบ

"บิ๊กป้อม" การันตีโรดแม็ปไร้ปัจจัยเสี่ยง : แก้ปากท้องบ้านเมืองสงบ



ทันทีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเริ่มทำงาน แต่จะต้องตามลุ้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะปล่อยให้เดินตามโรดแม็ปหรือไม่
ท่ามกลางสถานการณ์ที่นักการเมืองหลายคนเริ่มตั้งคำถามถึงการเลือกตั้งมีโอกาสสูงจะไม่เป็นไปตามโรดแม็ป เพราะมีปัจจัยเสี่ยงอาจจะเกิดขึ้นระหว่างทางได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในด้านความมั่นคง
นับวันคำถามดังกล่าวเริ่มเสียงดังมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งมีพฤติการณ์ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บางส่วน ตั้งแท่นรื้อแก้ไข พ.ร.บ.กกต. เพื่อเปิดช่องให้โละผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งเกิดจาก กกต.ชุดเก่าและให้ กกต.ชุดใหม่ทำคลอดแทน แม้ สนช.จะปลดชนวนไปแล้ว แต่บรรดานักการเมืองยังไม่ไว้วางใจ
นั้นเป็นข้อสังเกตของผู้ต้องการลงสนามเลือกตั้ง หากแกะรอยคำพูดจากใจของพี่ใหญ่แห่ง คสช. “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กำกับดูแลฝ่ายความมั่นคง
ตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศจนถึงปัจจุบัน คงพอเห็นเค้าลางเปิดประตูให้มีการเลือกตั้งช่วงเดือน ก.พ.2562 เริ่มจากให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ช่วงต้นปี 2558 ก็เน้นย้ำถึงบทบาทของกองทัพเข้ามาหยุดความขัดแย้ง
เพราะการเมืองไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ รัฐธรรมนูญติดล็อก การชุมนุมเริ่มมีการเสียชีวิต ใช้อาวุธสงคราม และต่อไปจะเป็นกองโจร
เมื่อ คสช.ซึ่งไม่ได้เป็นคู่กรณีหรือคู่ขัดแย้งกับใครเข้ามา ยืนยันตลอดชีวิตไม่เคยขัดแย้งกับใคร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับบ้านเมือง พอตั้งรัฐบาลเสร็จก็วางรากฐานด้านการปกครอง ทุกอย่างเดินตามรัฐธรรมนูญ
คสช.ไม่เคยผิดคำพูด เดินตามโรดแม็ป
ไม่เคยคิดจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือเป็นรองนายกฯเข้ามาทำวันนี้เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ดูแลประชาชนให้มีที่อยู่ที่กิน และปกป้องสถาบันหลักของชาติ
ในวันนั้นเมื่อถามถึงท่าทีของ คสช.จะถอนตัวทั้งหมดหลังจบภารกิจเลือกตั้ง พล.อ.ประวิตร บอกชัดเจนว่า ถอนหรือไม่ถอนไม่รู้ แล้วจะถอนแบบไหน แต่ถามว่าอยากให้มาทำงานการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่เอา
แต่ก็ขึ้นกับสถานการณ์ความจำเป็นของประเทศ อาจจะต้องใช้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
กลางปี 2558 ก็บอกตอกย้ำให้เห็นว่า “ไม่เล่นการเมืองต่อเด็ดขาด”
ตั้งแต่ คสช.เข้ามายึดหลักความเป็นธรรม ถ้าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเราก็อยู่ไม่ได้
ขอให้เข้าใจว่า คสช.และรัฐบาลไม่มีใครอยากเข้ามา พอเข้ามาแล้วก็ต้องทำงานให้ดีที่สุด แต่ถ้าผลงานยังไม่เข้าตาประชาชน หัวหน้า คสช.ก็ต้องตัดสินใจแก้ไขต่อไป
ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว คสช.และรัฐบาลยืนยันจะนำไปสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
ตอนนั้นในปี 2559 โรดแม็ปยังปักธงเอาไว้ในปี 2560 คนใน คสช.หลายคนยืนยันการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2560 แน่นอน รวมถึง พล.อ.ประวิตร ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย ในที่สุดโรดแม็ปขยับเลื่อนออกไปเป็นต้นปี 2561
คสช.เร่งผลักดัน “ยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูป การสร้างปรองดอง” ในปี 2560 ผ่านคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) มีนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน
แตกกิ่งก้านคณะกรรมการให้ระดับรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแล ประกอบด้วยคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์
คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง พล.อ.ประวิตร เป็นผู้รับผิดชอบ
คณะกรรมการทุกชุดมีภารกิจสำคัญแตกต่างกันไปและจะเชื่อมโยงถักทอยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศ การสร้างความปรองดองเข้าด้วยกัน
ทุกสายตาจ้องมองมาที่คณะกรรมการเตรียมการสร้างความปรองดอง เพราะเป็นชุดที่จะวางรูปแบบการสร้างความปรองดองให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติในอนาคต
ขอย้ำจะไม่มองย้อนอดีตที่เกี่ยวกับคดีความ เพราะมันจะเดินไปไม่ได้ เชื่อประชาชนทุกคนเห็นประโยชน์กับกระบวนการเริ่มต้นปรองดอง ทุกคนต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เห็นประเทศชาติเดินไปข้างหน้า
ทุกอย่างที่ทำไปต้องการให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์สูงสุด ประเทศเดินหน้าได้ตามทิศทางยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้เกิดการคิดและทำร่วมกันอยู่
ทุกครั้งที่พูดถึงการเลือกตั้งตามโรดแม็ป พล.อ.ประวิตร บอกย้ำอยู่เสมอว่า “เมื่ออยากให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย”
พอขยับเข้าปี 2561 การปูทางสู่การเลือกตั้งตามโรดแม็ปเริ่มแจ่มชัดมากขึ้น โดยเฉพาะมีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเตรียมสานต่อภารกิจการปฏิรูปประเทศ แต่สายการเมืองวิพากษ์ว่าต้องการต่อท่ออำนาจ คสช.
เร่งอัดฉีดงบประมาณจำนวนมหาศาลผ่านโครงการประชารัฐให้เข้าถึงฐานราก แก้ปัญหาปากท้อง เป็นเดิมพันสุดท้ายเพื่อกู้คะแนนนิยมของ คสช.
ที่ผ่านมายังทุ่มสรรพกำลังผ่านนโยบายแก้ปัญหาคืนความเป็นธรรมให้ลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยมี พล.อ.ประวิตร เป็นแม่ทัพฝ่ายค้านมั่นคง จับมือทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ขับเคลื่อนแก้หนี้นอกระบบ บังคับใช้กฎหมาย เจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ลูกหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านตาดำๆ
ภาพรวมหนี้นอกระบบมีลูกหนี้รวมทั้งประเทศ 894,855 ราย เจ้าหนี้ 17,663 ราย มูลหนี้สินรวมกว่า 52,000 ล้านบาท ล่าสุด พล.อ.ประวิตร ลงไปมอบนโยบายและติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในพื้นที่ภาคอีสาน จ.อุดรธานี
ภาพรวมพบประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน มีสถานะเป็นลูกหนี้นอกระบบ 5.6 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นประชาชนและเกษตรกรที่มีรายได้น้อย ต้องกู้เงินผ่านนายทุนนอกระบบทำสัญญาเอารัดเอาเปรียบจนเกิดภาระทางกฎหมาย สูญเสียทรัพย์สิน โดยเฉพาะที่ดินทำกิน บ้านพักอาศัย หรือเครื่องมือทำการเกษตร
และยังเกิดภาระทางการเงินต้องชำระหนี้เกินกำลัง เผชิญกับการติดตามทวงหนี้ในรูปแบบต่างๆ ทั้งข่มขู่ ใช้ความรุนแรงหรือทำให้อับอาย ส่งผลต่อสภาวะจิตใจและคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัว
จากรายงานความคืบหน้าแก้ปัญหาหนี้นอกระบบทั้งประเทศ ปัจจุบันสามารถร่วมเจรจาไกล่เกลี่ย ทำข้อตกลงประนอมและปรับโครงสร้างหนี้ รวม 209,538 ราย
มาตรการทางกฎหมายถูกนำมาใช้กับเจ้าหนี้นอกระบบ ผ่านศูนย์ปฏิบัติการป้องกันปราบปรามการฉ้อโกงทรัพย์สินของประชาชน ดำเนินการนำกลับซึ่งทรัพย์สินของประชาชน จากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เป็นโฉนดที่ดินกว่า 7,000 ไร่ และรถยนต์จำนวนมาก มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท
พล.อ.ประวิตร ถึงกับเน้นย้ำเป็นนโยบายของรัฐบาล กำลังเร่งแก้ไขปัญหาฐานราก ถือเป็นวาระสำคัญในยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
ต้องการขับเคลื่อนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางสังคม เพื่อแก้ปัญหาความยากจนให้ทุกคนสามารถลุกขึ้นยืนและเดินหน้าไปด้วยกัน พร้อมกำชับ “อย่าโดดเดี่ยวประชาชน”
โฉนดที่ผู้มีอิทธิพลยึดไป ไม่เคยมีใครเอาคืนให้ชาวบ้านได้เลย แต่รัฐบาลนี้เอาคืนให้ ชาวบ้านที่รับคืนไปก็ร้องไห้พร้อมโผเข้ากอด เพราะไม่คาดคิดจะได้โฉนดคืนหลังผ่อนส่งจนดอกเบี้ยทบต้นแล้ว
ผมต้องการแก้หนี้นอกระบบให้สำเร็จ เพื่อช่วยเหลือประชาชน
การกวาดล้างยาเสพติดและผู้มีอิทธิพล การสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ สิ่งเหล่านี้เดินหน้าทำหมด การสร้างความปรองดอง ขณะนี้ยังมีความคิดที่แตกต่างกันบ้าง เป็นธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องพยายามทำให้เกิดความปรองดองให้เกิดขึ้น
4 ปีที่ดูแลด้านความมั่นคง รับรองไม่มีตีกัน เพราะให้หน่วยสืบข่าวสืบหมด
พอกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ ก็ถึงคิวพิจารณาปลดล็อกการเมือง
การเลือกตั้งต้นปี 2562 มีแน่นอน ไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เป็นไปตามที่นายกฯพูด
ทั้งหมดที่รัฐบาลทำเพื่อให้คนไทยอยู่อย่างสันติและสงบ
จะได้ช่วยกันพัฒนาประเทศ บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าได้รวดเร็ว.
ทีมการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: