PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ผบ.ทบ.ไม่รับประกันรัฐประหาร

พันโทวิทวัส รชตะนันท์ ได้ทำการสำรวจทัศนคติของทหารต่อสาเหตุของการรัฐประหาร ซึ่งแบ่งเงื่อนไขของรัฐประหารเป็น 2 ประเด็นใหญ่คือ

1. ประเด็นที่ว่าทหารจะทำรัฐประหารเมื่อสภาพทางการเมืองภายในไร้เสถียรภาพ ได้แก่ 1.1 ผู้นำทางการเมืองขาดความชอบธรรม 1.2 ความเปราะบางของรัฐบาล 1.3 ความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตย 1.4 วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ 1.5สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกกระทบกระเทือน(ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกกระทบกระเทือนเป็นสาเหตุที่สำคัญของการรัฐประหารในความเห็นของนายทหารผู้ตอบ) 
2. ประเด็นที่ว่า สาเหตุของการรัฐประหารสืบเนื่องมาจากเงื่อนไขเกี่ยวกับสถาบันทหารโดยตรง ได้แก่ 2.1 ผลประโยชน์ของทหารถูกกระทบกระเทือน 2.2 ความขัดแย้งระหว่างผู้นำทหาร
สาเหตุของการแทรกแซงทางการเมืองของทหารไทย (ประชา เทพเกษตรกุล,2535 :47-50)

ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 นั้น สาเหตุประการหนึ่งเกิดจากการที่ผลประโยชน์ร่วมของสถาบันทหารถูกกระทบกระเทือน ทั้งนี้เนื่องจากในระยะก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปรากฏว่าเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกและภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบถึงประเทศไทยด้วย ทำให้มีการปลดข้าราชการออกจากประจำการเพื่อลดรายจ่ายของรัฐบาล และในปี 2474 พระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ได้ลาออกเพื่อประท้วงการที่รัฐบาลไม่ยอมขึ้นเงินเดือนทหาร ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นทั่วไป 

แต่อย่างไรก็ตามสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้เกิดจากพลังของอุดมการณ์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นสมัยใหม่มากกว่า ผลกระทบจากการสูญเสียผลประโยชน์ เนื่องจากคณะผู้ก่อการเห็นว่าจำเป็นต้องปกครองประเทศกันในระบบประชาธิปไตยเพราะระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบที่ล้าสมัย ทั้งนี้โดยมีการกระทบกระเทือนด้านผลประโยชน์จากที่ไม่ได้รับการเพิ่มเงินเดือนเป็นตัวเร่งให้ฝ่ายทหารทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เกิดเร็วขึ้น

สำหรับในการรัฐประหาร 4 ครั้งต่อมา คือ ในปี 2490, 2500, 2514 และ 2519 การรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มเป็นสิ่งเร้าสำคัญ โดยในการรัฐประหาร 2490 นั้นสาเหตุมากจากการที่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บทบาทของทหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารบกตกต่ำลงมาก เพราะนอกจากจะเป็นช่วงที่รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจแล้ว ฝ่ายทหารยังถูกมองว่าเป็นผู้ร่วมทำสงครามกับญี่ปุ่น 

และเกียรติภูมิของฝ่ายทหารยิ่งตกต่ำไปมากยิ่งขึ้น เมื่อฝ่ายพลเรือนภายใต้การนำของเสรีไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นฝ่ายปลดปล่อยของประเทศให้รอดพ้นจากภาวะแพ้สงคราม ผลประโยชน์ของกลุ่มทหารที่ได้รับความกระทบกระเทือนอีกประการหนึ่งก็คือ การที่รัฐบาลปลดทหารประจำการซึ่งส่วนใหญ่ไปร่วมกับญี่ปุ่นในมณฑลพายับหรือสหรัฐไทยเดิม ออกเป็นทหารกองหนุนจำนวนมากอย่างกะทันหัน โดยมิได้มีการให้ความช่วยเหลือทั้งในด้านการเดินทางกลับภูมิลำเนาและสวัสดิการอื่นๆ ตามสมควร 

ทั้งนี้เพราะรัฐบาลถูกบีบบังคับจากอังกฤษ ประกอบกับรัฐบาลเองก็ประสงค์ที่จะลดกำลังทหารเพื่อลดรายจ่ายและอำนาจทางทหารลง 

ยิ่งกว่านั้นตามรัฐธรรมนูญ 2489 ยังได้ห้ามทหารประจำการดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งสมาชิกรัฐสภา หรือรัฐมนตรีก็ตาม ซึ่งทำให้อำนาจทางการเมืองตกอยู่กับนักการเมืองพลเรือนแต่ฝ่ายเดียว 

การกระทำของรัฐบาลดังกล่าวนอกจากจะทำให้ทหารมีความรู้สึกว่าความเป็นอิสระของกลุ่มถูกคุกคามและเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของทหารแล้ว ทำให้นายทหารประจำการที่เคยมีอำนาจทางการเมืองมาก่อนและนายทหารประจำการที่ต้องการมีอำนาจทางการเมืองเกิดความไม่พอใจ การขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำที่อยู่ในอำนาจกับชนชั้นนำที่ต้องการได้อำนาจจึงเกิดขึ้น และนำมาซึ่งการรัฐประหารเมื่อ 8 พ.ย. 2490

ข้อมูลเพิ่ม:http://wiki.kpi.ac.th/index.php…

ไม่มีความคิดเห็น: