PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561

จุดประเด็นปรองดองหลังเลือกตั้ง : ก่อนจุดชนวนการเมือง

ปฏิวัติเป็นทางเลือกสุดท้าย
และไม่การันตีจะเกิดปฏิวัติ
เป็นประเด็นเผ็ดร้อนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ออกมาจากปาก “บิ๊กกบ” พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด และ “บิ๊กแดง” พล.อ. ผบ.ทบ. ตามลำดับ
นักการเมืองสองพรรคใหญ่ประสานเสียงถล่มอย่างไม่ไว้หน้า ต่างกับท่าทีของพรรคภูมิใจไทย สงบนิ่งในที่ตั้ง ท่าทีแบบนี้และท่าทีที่ผ่านมาถูกหลายฝ่ายมองว่าจะเป็น “ตาอยู่” ทั้งที่พรรคนี้มีจุดยืนทางการเมืองแล้ว
จุดยืนชัดเจนแค่ไหน ไปดูมุมคิดและตัวตนของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ว่า ขณะนี้การเมืองยังแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย พรรคภูมิใจไทยไม่เคยยืนอยู่ในลำดับ 1 หรือ 2 หลายคนจึงเข้าใจว่าเราจะเป็นพรรคตาอยู่หรือเป็นพรรคอะไรก็ได้
เป็นมุมมองที่ผิด ไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของพรรคภูมิใจไทย ที่เลือกข้างชัดเจน ซึ่งจะเป็นไปตามความต้องการของประชาชน เปรียบเหมือนเป็นหางเสือกำหนดทิศทางว่าจะเดินไปทางไหน โดยการแปลตัวเลขคะแนนเสียงของผู้สมัคร ส.ส. ไปเป็นความต้องการของเจ้าของประเทศ
ถึงวันนั้นหลังเลือกตั้งมีการเลือกนายกรัฐมนตรี จะขอโหวตให้ผู้ที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในฐานะที่เราไม่ได้มีส่วนได้เสีย ไม่ทำการเมืองเพื่อหวังจะต้องแสวงหาอำนาจรัฐโดยไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
ขอย้ำว่าคนเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ แตกต่างกับบางพรรคการเมือง อาจจะบัญญัติคำว่าต้องเลือกคนใน เพื่อให้แคนดิเดตในพรรคของตัวเอง ซึ่งต้องเป็น ส.ส.เท่านั้นได้เปรียบทางการเมือง
หากอีกพรรคเสนอชื่อผู้ที่เป็น ส.ส.ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี พรรคนี้อาจจะเปิดประเด็นใหม่ว่า คนในต้องเป็น ส.ส.และพลเรือน หรือต้องเป็นผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสียกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ฉะนั้น คำว่านายกรัฐมนตรีคนในหรือนายกรัฐมนตรีคนนอก ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองไหนเป็นฝ่ายตั้งโจทย์ ฝ่ายไหนเป็นคนตอบโจทย์ สำหรับพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเป็นคนในหรือคนนอก ขอให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
ไม่แน่อาจจะเป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยก็ได้ หากประชาชนเลือก เพราะนโยบายโดนใจประชาชน และผู้ที่พรรคจะส่งลงสมัคร ส.ส.มีคุณภาพ เนื่องจากถูกคัดกรองหลายด่าน ผ่านระบบไพรมารีในพื้นที่ ถ้าใครได้ไม่ถึง 2 หมื่นคะแนนหมดสิทธิ์ลง
ขอส่งเฉพาะในเขตที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้ง พื้นที่ใดมีคะแนนนิยมทั้งพรรคและผู้จะลงสมัครไม่ถึงเกณฑ์ ก็ไม่จับยัดเข้าไป ถ้ายังขืนส่งลงสมัครก็เหมือนไปหลอกประชาชน เราไม่ต้องการถูกเลือกด้วยคะแนนสงสาร
หากพื้นที่ใดมีดาวรุ่ง หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคหรือจะมอบหมายให้แมวมองลงพื้นที่ไปดู
คนที่พรรคตัดสินจะส่งลงสมัครแล้ว เลขาธิการพรรคจะส่งคะแนนอัปเดตให้หัวหน้าพรรคตลอดเวลา โดยใช้แอปพลิเคชันดาต้าแบงก์ ซึ่งโชว์คะแนนนิยมของผู้ที่จะลงสมัครแต่ละคน หากมีคนใหม่เข้ามาในพื้นที่นั้นๆและมีคะแนนนิยมมากกว่าคนเดิมก็ห้ามโกรธกัน
ผมรู้ตลอดว่าพื้นที่ไหนคะแนนไม่ดี ก็ต้องวิเคราะห์ว่าจะส่งหรือไม่ พื้นที่ไหนมีคะแนน 2 หมื่นขึ้นไป ชื่อจะปรากฏบนแอปพลิเคชันทันที ใครคะแนนไม่ถึงรายชื่อก็หลุด โปรแกรมนี้หลอกตัวเลขไม่ได้
ขณะนี้มีประชาชนอยากจะเป็นสมาชิกพรรคประมาณ 2.3 ล้านคน ซึ่งเป็นแฟนคลับของผู้ที่จะลงสมัครแต่ละคนที่เข้าสังกัดพรรค
การคัดผู้ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีกระบวนการอย่างไร นายอนุทิน บอกว่า จะส่งลงสมัครเรียงตามลำดับความสำคัญของผู้ที่มีส่วนสนับสนุนพรรค เกินลำดับที่ 10 ก็คิดไม่ค่อยออกแล้ว เราเน้นชนะเขตเลือกตั้ง
ในวันประชุมพรรคเคยประกาศถ้าเขตชนะหมด ไม่มีคะแนนเฉลี่ยให้ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ แล้วหัวหน้าพรรคซึ่งเป็นเบอร์ 1 ในผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อเข้าสภาไม่ได้ ถือเป็นความสำเร็จสูงสุดของหัวหน้าพรรค อยากเห็นวันนั้นให้เป็นมงคลชีวิต
เคยประกาศพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีหากประชาชนเลือก นายอนุทิน บอกว่า คณะกรรมการบริหารพรรคคุยกับสมาชิกพรรคกี่ครั้ง ก็ยืนยันจะส่งหัวหน้าพรรคอยู่ในบัญชีรายชื่อคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงชื่อเดียว
เป็นหัวหน้าพรรคแล้วบอกไม่พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นทำไม ถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องมาโดยชอบธรรม
หากเป็นนายกฯเพราะเป็นตาอยู่ คำว่าตาอยู่ในความหมายของผม ซึ่งถูกสั่งสอนตั้งแต่เด็กและอยู่ในจิตใต้สำนึกตลอดเวลาว่า เป็นคนฉวยโอกาส คบไม่ได้ เห็นแก่ตัว ฉะนั้นผมจะไม่เป็นตาอยู่
บนกระดานการเมือง พรรคภูมิใจไทยถูกดึงไปอยู่ขั้ว คสช. แต่นักการเมืองเกรดเอจากพรรคเพื่อไทย กลับไหลเข้าพรรคภูมิใจไทย ไม่ไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ปรากฏการณ์นี้สะท้อนอะไรได้บ้าง นายอนุทิน บอกว่า แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและศรัทธาของคนนอก เห็นพรรคภูมิใจไทยมีความมั่นคง ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ
ตั้งใจทำงานเพื่อบ้านเมืองและประชาชน แนวนโยบายแต่ละด้านทำได้ มีบันทึกในอดีตเมื่อเราเป็นรัฐบาล ก็ผลักดันสิ่งต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองได้สำเร็จ
กฎหมายยุทธศาสตร์ 20 ประกาศใช้แล้ว หลายพรรคการเมืองมองเรื่องนี้และรัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคสำหรับการบริหารประเทศ ทำไมพรรคภูมิใจไทยถึงไม่มีท่าทีในเรื่องนี้ กลับเดินหน้าเตรียมการเลือกตั้งโดยเฟ้นหาผู้สมัครและวางแนวนโยบายด้านต่างๆ นายอนุทิน บอกว่า ถ้าตั้งใจและมีเจตนามุ่งช่วยเหลือประชาชน แก้ปัญหาปากท้อง เรื่องอื่นก็เป็นรองหมด พลิกดูยุทธศาสตร์ชาติ รัฐธรรมนูญ ก็ไม่เห็นว่าจะกำหนดจนทำอะไรเพื่อประชาชนไม่ได้
ขอให้มีอำนาจรัฐจะรีบแก้ปัญหาของประชาชน ไม่ใช่นั่งดูยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อต้องการหาช่องโหว่และแก้ไข ซึ่งมันเปลี่ยนไม่ได้แล้ว
แต่ถ้าแก้ปัญหาให้ประชาชนแล้วติดขัดปัญหาที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ถึงเวลานั้นค่อยหาทางแก้ไข โดยจะต้องยึดความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก
“ตอนนี้มันไม่ใช่เวลาจะมาเล่นการเมือง ชิงไหวชิงพริบตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้
สุดท้ายจะเปิดโอกาสให้อำนาจนอกระบบเข้ามา การรักษาระบบคืออย่าไปเล่นการเมืองมาก
อย่าทำอะไรที่มันเกิดความขัดแย้งในชาติ รัฐบาลคือผู้ดูแลเอาใจใส่แห่งรัฐ
รัฐไม่มีตัวตน รัฐคือประชาชน ดูแลแก้ไขปัญหาให้อยู่ดีกินดี
พรรคภูมิใจไทยตั้งเข็มมาทิศทางนี้ ไม่เล่นการเมืองไม่สร้างปัญหาขัดแย้ง ไม่ทะเลาะกับใคร
พร้อมเป็นตัวเชื่อมประสานถ้าเขาให้โอกาส แต่เป้าหมายหลักคือการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน”
ทีมข่าวการเมือง ถามว่า พรรคภูมิใจไทยจะเป็นสะพานเชื่อมสู่ความปรองดองได้อย่างไร นายอนุทิน บอกว่า ถึงเวลานั้นถ้าเราเป็นคนที่ทุกฝ่ายต้องฟัง ก็ประสานได้ง่าย และพร้อมเป็นตัวประสาน เพราะผมไม่มีปัญหากับใคร
แต่ถ้ามีคนมองว่า การไม่เลือกข้าง เป็นความผิด เพราะไม่มีจุดยืน ทำไมไม่มองว่าเป็นความประเสริฐที่ไม่ทะเลาะกับใคร ทะเลาะก็ทะเลาะกันไป ผมไม่ไปสู้ด้วย เพราะการทะเลาะและขัดแย้งทำให้บ้านเมืองฉิบหาย ถ้าคุณบาดเจ็บผมจะอาสาช่วยพาคุณไปส่งโรงพยาบาล
พรรคภูมิใจไทยขอเลือกเดินทางสงบ ไม่ขัดแย้งกับใคร ใครอยากขัดแย้งก็ไม่ต้องเลือกพรรคภูมิใจไทย เราเลือกข้างชัดเจนอยู่ข้างประชาชนและประเทศไทย
มาถึงวันนี้ถ้ายังเล่นเกมการเมือง ใช้วาทกรรมทางการเมืองสร้างความขัดแย้ง
โดยจับคนไทยและความเจริญของประเทศเป็นตัวประกัน ไม่คุ้มหรอก
ขอยืนยันและตอกย้ำอีกครั้งว่าไม่ขอเติมฟืนเข้ากองไฟ ขออยู่อย่างสงบ สันติ ให้เกิดความสามัคคีในชาติ
เชื่อว่าหลังการเลือกตั้ง ประชาชนที่ตัดสินว่าอนาคตประเทศไทยควรจะเป็นอย่างไร
จะไม่ยอมปล่อยสิทธิ์ของเขาให้ถูกจาบจ้วงหรือแปลความไปเป็นอย่างอื่น
นักการเมืองต้องแปลความต้องการของประชาชนให้ถูก
ถ้าแปลเข้าข้างตัวเอง ประวัติศาสตร์เคยจารึกไว้แล้ว...
...ต่อให้เข้มแข็งทางการเมืองแค่ไหน
...ถ้าไม่ฟังเสียงประชาชนก็อยู่ไม่ได้
ผู้นำพรรคการเมืองก็เหมือนกัน การกำหนดทิศทางหลังการเลือกตั้ง
คงต้องเข้าใจว่าถ้าไม่ปรองดองสามัคคีกัน จะต้องรอต่อไปอีก 5 ปี.
ทีมการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: