PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2562

น.2สถานีคิด : เร่งความชัดเจน : โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

น.2สถานีคิด : เร่งความชัดเจน : โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข



วันเกิดมติชนเข้าสู่ปีที่ 42 ผ่านไปในบรรยากาศมิตรภาพ
มิตรสหายแขกเหรื่อ ทยอยมาที่สำนักงานมติชน ตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงบ่ายๆ
มาร่วมยินดี ทักทาย สนทนา และรับประทานอาหารง่ายๆ กัน
เป็นน้ำจิตน้ำใจอันน่าซาบซึ้ง ที่มีให้กับเครือมติชนทุกปี
คำถามที่แว่วจากหลายๆ วง ก็คือเรื่องของวันเลือกตั้ง ว่าจะไปลงตัวที่วันไหนกันแน่
ตัวเลือกเท่าที่ปรากฏในขณะนี้ คือวันอาทิตย์ใดอาทิตย์หนึ่งของเดือน มี.ค.
ได้แก่ 10-17-24 หรือ 31 มี.ค.
วันที่ 10 มี.ค. ผู้ส่งเข้าประกวดคือ กกต. เพราะอยู่ในเซฟตี้โซน กล่าวคือ เลือกตั้งเสร็จ มีเวลารับรองผลการเลือกตั้งใน 60 วัน พอดีๆ
โดยถือว่า ข้อกำหนดในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญให้จัดเลือกตั้งใน 150 วันหลังจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง มีผลบังคับใช้
ความหมายของคำว่า “เลือกตั้ง” หมายถึง การหย่อนบัตรและประกาศผลการเลือกตั้ง
ไม่ใช่แค่หย่อนบัตรลงคะแนน
ถ้าตีความง่ายๆ ว่าการเลือกตั้ง หมายถึงการลงคะแนนเลือกตั้ง ไม่รวมประกาศผลด้วย แล้วจัดเลือกตั้งโดยรับรองผลเลือกตั้ง เลยกำหนด 150 วันออกไป หรือไม่อยู่ใน 150 วัน
อาจมีมือดีไปยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ จะยุ่งไปกันใหญ่

ส่วน 17 มี.ค. จะไปตรงกับวันสอบทีแคส หากเลือกวันนี้ ก็ต้องเปิดศึกกับนักเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองทั่วประเทศ ไม่สนุกอีกเหมือนกัน
ถ้าเป็น 24 มี.ค. เป็นวันที่รัฐบาลและ คสช.เล็งมาแต่เดิมว่า น่าจะเป็นไปได้ แต่ กกต.จะต้องทำงานด้วยความกระชับฉับไวมากหน่อย
ส่วน 31 มี.ค.มีการกล่าวถึงเป็นตัวเลือก
กรอบ 150 วันที่กล่าวถึงข้างต้น เริ่มจาก 11 ธ.ค.2561 ไปถึง 9 พ.ค.2562
จะฟันธงวันไหน ยังไม่มีผู้มีอำนาจ ออกมาสรุปให้ชัดเจน
กกต.เอง บอกว่า จะต้องรอให้รัฐบาลประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งก่อน แล้ว กกต.จะกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 5 วัน ตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งฯ มาตรา 12
ส่วนรัฐบาลเอง รอบหลังนี้ ยังไม่ยืนยันชัดเจนว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาเมื่อไหร่ จากเดิมที่อาจารย์วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อตัวแทนพรรคการเมือง ไว้เมื่่อ 7 ธ.ค.ว่า จะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งในวันที่ 2 ม.ค.2562
กลายเป็นสภาพเหมือนโยนกันไปมาระหว่าง กกต.กับรัฐบาล
ความไม่ชัดเจนตรงนี้ มีผลไม่น้อย สังเกตจากข่าวที่แกนนำพรรคต่างๆ ไปเดินสายพบปะประชาชน แล้วมาสะท้อนผ่านสื่อ เป็นเสียงเดียวกันว่า ชาวบ้านถามกันมากว่า จะเลือกตั้งวันไหนแน่
คำถามเหล่านี้ พุ่งเป้าไปที่รัฐบาล ไม่ใช่ กกต. เพราะรู้กันว่า การกำหนดเรื่องสำคัญ ระดับเป็นวาระของประเทศอย่างนี้ จะต้องผ่านการตกลงในระดับผู้กุมอำนาจ
ความชัดเจนที่จะเกิดขึ้นนี้ จะต้องเริ่มต้นที่รัฐบาล ควรเร่งดำเนินการ จะผ่อนคลายความหวั่นไหววิตกได้มาก
แต่ถ้าอึมครึมไปเรื่อยๆ รัฐบาลก็จะโดนวิพากษ์วิจารณ์หนักต่อไป
วรศักดิ์ ประยูรศุข

ไม่มีความคิดเห็น: