PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

'สามัญชน'ชูจุดยืนไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ ไม่สนับสนุนนายกฯคนนอก



11 ก.พ.62- ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของพรรคสามัญชน ซึ่งส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแข่งเขตจำนวน 16 เขต จาก 9 จังหวัดและบัญชีรายชื่อ 6 รายชื่อ  ทั้งนี้พรรคสามัญชน ยังได้ออกแถลงการณ์  ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ  นายกฯต้องมาจาก ส.ส. โดยระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เปิดช่องให้มี “นายกฯ คนนอก” ได้สองแบบ ดังนี้ 1. นายกคนนอกแบบแรกคือ “นายกฯ คนนอกตามบทถาวร” ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 88 ที่กำหนดให้แต่ละพรรคการเมืองสามารถเสนอรายชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ 3 รายชื่อ ซึ่งสังคมส่วนใหญ่ยังสับสนว่าการเสนอรายชื่อดังกล่าว ไม่ใช่ “นายกฯ คนนอก” นั้น
 พรรคสามัญชนขอเรียนชี้แจงว่ารัฐธรรมนูญฯไม่ได้กำหนดไว้ว่า 3 รายชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอมานั้นจะต้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ดังนั้น จึงเป็นใครก็ได้ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนให้เป็น ส.ส. เขต หรือ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคใดพรรคหนึ่งเสียก่อน ตรงนี้เองคือคุณสมบัติของ “นายกฯ คนนอก” ไม่ใช่นายกฯ คนในตามที่สังคมส่วนใหญ่เข้าใจแต่อย่างใด
2. นายกฯ คนนอกแบบที่สองคือ “นายกฯ คนนอกตามบทเฉพาะกาล” ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 272 ที่กำหนดให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน มีอำนาจและหน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. โดยเสนอบุคคลใดที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 88 ให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ โดยบุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนให้เป็น ส.ส. เขต หรือ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคใดพรรคหนึ่งเสียก่อนเช่นเดียวกับข้อ 1. 
ดังนั้น หลักการเรื่องนายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนให้เป็น ส.ส. เขต หรือ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคใดพรรคหนึ่งเสียก่อนจึงเป็นหลักการที่สำคัญอย่างที่สุด เพราะผู้ปกครองซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลอย่างนายกรัฐมนตรีต้องรับประกันว่าการใช้อำนาจจะต้องผ่านประชาชนโดยระบบเลือกตั้งด้วยเหตุนี้จึงทำให้คุณสมบัติสำคัญข้อแรกของนายกรัฐมนตรีควรต้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. เขต หรือ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคใดพรรคหนึ่งเสียก่อนเท่านั้น นอกเหนือไปจากนี้จึงเรียกว่า “นายกฯ คนนอก”
พรรคสามัญชน ระบุด้วยว่า ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด พรรคสามัญชนจึงไม่ขอสนับสนุนบุคคลใดก็ตามที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ตามมาตรา 88 และจาก ส.ส. และ ส.ว. แต่งตั้ง ตามมาตรา 272 โดยที่บุคคลนั้นไม่ได้เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. เขต หรือ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคใดพรรคหนึ่งเสียก่อนเพราะบุคคลนั้นคือ “นายกฯ คนนอก” ที่ลอยตัวอยู่เหนือปัญหาและความผิดทั้งปวงจากการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองที่เสนอชื่อบุคคลนั้น และไม่มีความยึดโยงผูกพันใด ๆ ทั้งสิ้นกับสมาชิกพรรคการเมืองที่เสนอชื่อบุคคลนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี และไม่ต้องรับผิดชอบอย่างสิ้นเชิงในบรรดามติ กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งของคณะกรรมการบริหารพรรคและในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการบริหาร พรรคการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง รวมถึงกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญฯ
และบุคคลนั้นซึ่งไม่ได้เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. เขต หรือ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด จะมีสายสัมพันธ์ยึดโยงการใช้อำนาจกับประชาชนเจ้าของประเทศได้อย่างไรพรรคสามัญชน จะไม่สนับสนุนนายกจากคนนอก และพร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และ ‘นายกคนนอก’ ในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น: