PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2562

อัพเดท3ก๊กการเมืองไทย

อัพเดท! สามก๊กการเมืองไทย
โดย สิริอัญญา 
วันพุธที่ 13 มีนาคม 2562

เหลือเวลาอีกเพียงสิบกว่าวันก็จะถึงวันเลือกตั้งทั่วไปแล้ว คือวันที่ 24 มีนาคม 2562 ก็เกิดสถานการณ์สำคัญขึ้นที่ส่งผลต่ออนาคตการเมืองของประเทศ โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาล นั่นคือการที่พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์แสดงจุดยืนทางการเมืองในเวลาใกล้เคียงกัน 

นั่นคือการแถลงจุดยืนว่าไม่สนับสนุนให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป และเรียกร้องให้วุฒิสมาชิกเคารพประชาชน โดยงดออกเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรี หรือไม่ก็ให้สนับสนุนพรรคการเมืองที่เป็นเสียงข้างมาก 

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ดูเหมือนว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ หัวเรือใหญ่ของพรรครวมพลังประชาชาติไทยจะเดือดร้อนขุ่นแค้นมากที่สุด เพราะถึงกับออกมาลำเลิกบุญคุณเอากับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าเป็นผู้ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี 

ทั้งกล่าวอ้างด้วยว่าถ้าหากไม่ทำให้ ต่อให้ชาติหน้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ไม่มีวันที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องถือว่าเป็นการลำเลิกบุญคุณอย่างร้ายแรงที่สุด อันเป็นลักษณะกรวดน้ำคว่ำขันกันไปเลยทีเดียว 

การแสดงท่าทีทางการเมืองของทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยย่อมส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยในยุคสามก๊กการเมืองอย่างชัดเจนที่สุด และทำให้การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งทั่วไปต้องปรับสูตรกันใหม่ นี่แหละที่เขาว่าการเมืองเป็นเรื่องไม่แน่นอน อะไรก็เกิดขึ้นได้ 

ก่อนหน้านี้ก็เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปแล้วว่าการเมืองไทยเข้าสู่สภาพสามก๊กที่พรรคการเมืองทั้งหลายถูกจำแนกแยกแยะออกเป็นสามก๊กสามขั้ว คือ 

ก๊กแรก ซึ่งต้องถือว่าเป็นขั้วหลักหรือก๊กหลักเพราะเกี่ยวข้องอยู่กับอำนาจรัฐคือรัฐบาลปัจจุบัน นั่นคือก๊กของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งรู้กันทั่วไปแล้วว่าเป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นโดยวางแผนกันมาตลอดเพื่อสนับสนุนให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี 

ก๊กที่สอง ก็ต้องถือว่าเป็นขั้วหลักเพราะเป็นขั้วอำนาจเก่าที่มีอำนาจรัฐต่อเนื่องมากว่าสิบปีแล้ว เป็นก๊กที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งมาหลายยุคหลายสมัย นั่นคือก๊กของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับคุณทักษิณ ชินวัตร 

ก๊กที่สาม ก็เป็นขั้วหลักเช่นเดียวกัน เพราะเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีอายุยืนยาวมากที่สุด มีเครือข่ายของพรรคและองค์กรจัดตั้ง รวมทั้งสมาชิกพรรคอยู่ในแทบทุกพื้นที่ของประเทศไทย นั่นคือพรรคประชาธิปัตย์ 

ภายใต้สภาพที่การเมืองไทยเป็นสามก๊ก แต่กลับมีพรรคการเมืองเกือบร้อยพรรคที่สมัครเข้าแข่งขันในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ แต่ทว่าแม้จะมีพรรคการเมืองจำนวนมาก มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งนับหมื่นคน แต่ส่วนใหญ่ก็ไร้กระแส บ้างก็รู้กันว่าเป็นพรรคหุ่นเชิดบ้าง เป็นพรรคไม้ประดับบ้าง หรือเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นหอกดาบฟาดฟันพรรคอื่นตามที่ผู้บงการจะสั่งการบ้าง 

ดังนั้นจึงมีพรรคการเมืองนอกจากพรรคก๊กหลักอยู่เพียงไม่มากนักที่พอจะมีเสียงมีส่วนในกระแสการเมืองของประเทศ 

ที่สำคัญก็คือ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคภูมิใจไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคเสรีรวมไทย เป็นต้น 

ในบรรดาพรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรคก๊กหลัก และที่พอมีกระแสอยู่บ้างนั้นก็ถูกจัดว่าเป็นพรรคพันธมิตรของก๊กหลักมาแต่ก่อนแล้ว 

ดังเช่น มีข่าวคราวระบุว่าพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรคภูมิใจไทยคือพรรคพันธมิตรที่พร้อมสนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จึงจัดเป็นพรรคพันธมิตรของก๊กพรรคพลังประชารัฐ 

สำหรับพรรคเพื่อชาติ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย ก็มีข่าวคราวว่าเป็นพันธมิตรของก๊กพรรคเพื่อไทย 

คงเหลือแต่ก๊กประชาธิปัตย์เท่านั้นที่โดดเดี่ยวเดียวดาย ไม่ปรากฏพันธมิตรที่ชัดเจน แต่สำหรับเวลาที่ผ่านมาก็มีเสียงกระซิบกระซาบให้ได้ยินอยู่บ้างว่า พร้อมที่จะร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ 

สภาพเช่นนั้นจึงทำให้สภาพสามก๊กทางการเมืองเกิดกลุ่มพันธมิตรเชื่อมโยงอยู่กับก๊กหลักต่าง ๆ และสภาพ ตลอดจนผลการเมืองของพรรคพันธมิตรเหล่านั้นย่อมส่งผลต่อฐานะและพลังอำนาจของก๊กหลักว่าจะมีขีดความสามารถในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่เพียงใด 

สำหรับก๊กพลังประชารัฐนั้น มีเสียงลือเล่าขานว่าจะมีฐานเสียง ส.ว. 250 เสียง พร้อมที่จะโหวตสนับสนุนให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นในชั้นการโหวตเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี ก๊กนี้แค่มีเสียงในสภาผู้แทนราษฎร 126 เสียงขึ้นไป ก็จะมีคะแนนเสียงรวม 376 เสียงขึ้นไป เป็นเสียงข้างมากในการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว จึงทำให้เกิดความเชื่อว่าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป 

แต่ระบบรัฐสภาไทยนั้น ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เขียนวกวนสับสนจนพันคอคนเกี่ยวข้องเสียเอง กลับทำให้การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรระดับ 126 เสียง ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ เพราะในการบริหารราชการแผ่นดินนั้นต้องมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกินครึ่งหนึ่ง คือต้องมีเสียงระหว่าง 251-280 เสียง จึงจะเพียงพอต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ 

ดังนั้นสำหรับพรรคพลังประชารัฐก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีเสียงร่วมกับพรรคพันธมิตรในสภาผู้แทนราษฎรระหว่าง 251-280 เสียงด้วย 

สำหรับก๊กพรรคเพื่อไทยและก๊กประชาธิปัตย์นั้น ถ้าจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องอาศัยเสียงในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเดียวถึง 376 เสียง และต้องมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรระหว่าง 251-280 เสียงด้วยเช่นเดียวกัน 

นี่คือปัญหาที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้สร้างรากฐานที่เปรียบเสมือนหนึ่งระเบิดการเมืองไว้ในระบบการเมืองของประเทศ และเป็นอันตรายที่ร้ายแรงถึงขั้นที่ทำให้ประเทศไทยก้าวซ้ำรอยตามประเทศเวเนซุเอลาก็ได้ 

ดังนั้นในทันทีที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยประกาศจุดยืนทางการเมืองไม่สนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จึงทำให้ก๊กพลังประชารัฐเหลือพรรคในก๊กเพียงพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคประชาชนปฏิรูป ซึ่งพรรคพันธมิตรทั้งสองพรรคนี้จะมีคะแนนเสียงสักกี่เสียงก็ยังเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่มาก 

กระทั่งมีการคาดหมายกันว่าพรรคพลังประชารัฐและพรรคพันธมิตรจะมีเสียงรวมกันแค่ระดับ 100 เสียงเท่านั้น จึงไม่มีทางที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ 

และในทันทีที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยประกาศไม่สนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ทำให้คะแนนเสียงของสองก๊กที่เหลือและพันธมิตรมีแนวโน้มว่าจะมีคะแนนเสียงรวมกันเกือบ 400 เสียง ซึ่งเพียงพอต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีและในการจัดตั้งรัฐบาล 

แต่ทว่าทั้งสองก๊กที่ไม่สนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นก็มิได้เป็นเนื้อเดียวกัน เพราะพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าไม่สนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลด้วย 

คำประกาศจุดยืนทางการเมืองดังกล่าวของพรรคประชาธิปัตย์นั้นหมายความว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องการสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นแกนในการจัดตั้งรัฐบาล และไม่ได้หมายความว่าปฏิเสธไม่ยอมรับการสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐและจากก๊กพรรคเพื่อไทย นี่คือความซ่อนเงื่อนของสามก๊กการเมืองไทย 

ดังนั้นการตัดสินใจจึงถูกโยนกลับไปที่ก๊กเพื่อไทยและก๊กประชารัฐว่าถ้าต่างก็มีคะแนนเสียงไม่พอในการจัดตั้งรัฐบาลแล้วไซร้ ก๊กเพื่อไทยจะสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี หรือจะหวนกลับไปสนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี 

ในทำนองเดียวกัน ถ้าก๊กพลังประชารัฐมีคะแนนเสียงไม่พอที่จะตั้งรัฐบาลแล้วไซร้ ก๊กพลังประชารัฐจะสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล หรือว่าจะสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จัดตั้งรัฐบาล 

อานุภาพทางการเมืองของการเป็นตัวแปรทางการเมืองจึงเกิดขึ้นดังนี้!

ไม่มีความคิดเห็น: