PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2562

กิติกาเลือกตั้งเทียบปี54กับ62

ระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกกันว่า “จัดสรรปันส่วนผสม” ซึ่งเตรียมนำมาใช้ในการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 2562 นี้ ถูกมองว่ามีวิธีคำนวณคะแนนเลือกตั้งที่ซับซ้อน หลายคนยังเริ่มไม่แน่ใจว่า ท้ายที่สุดเมื่อถึงเวลาไปกาบัตรลงคะแนน ตัวเองจะได้คนและพรรคตามที่ตั้งใจไปเลือกจริงหรือไม่

วิธีเลือกตั้งแบบนี้ เคยถูกนำไปใช้ในการเลือกตั้งระดับประเทศ เพียงไม่กี่แห่งในโลกเท่านั้น เช่น ที่แอลเบเนีย (เมื่อปี ค.ศ.1992) และเกาหลีใต้ (ค.ศ.1996-2000)

ปัจจุบันแทบไม่มีประเทศใดในโลกที่ใช้ระบบนี้ นอกจากที่แคว้นบาเดน วุดเดนเบิร์ก ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งของเยอรมนี แต่ก็ใช้ไม่เหมือนกันอีก เพราะพี่ไทยเราเล่นนำเอาระบบ MMP (Mixed-member proportional representation) ของเยอรมนี มายำใหญ่กับระบบผสมคู่ขนาน แบบที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่น

การนำวิธีเลือกตั้งระบบนี้มาใช้กับบริบทการเมืองไทย หลายคนจึงมองว่าไม่ต่างกับการฆ่าตัดตอนพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางบางพรรค ซึ่งเคยเป็นขวัญใจของมหาชนในอดีต ยังทำให้พรรคการเมืองโดยรวมมีสถานะที่อ่อนแอลง

เทียบกับกติกาการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ครั้งนั้นใช้ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.เขต แบบเขตเดียวเบอร์เดียว จำนวน 375 คน+ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) อีก 125 คน รวมเป็น 500 คน

โดยแยก ใช้บัตรเลือกตั้งจำนวน 2 ใบ ใบแรกใช้เลือก ส.ส.แบบแข่งเขต (คนที่รัก) อีกใบใช้เลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (พรรคที่ชอบ) เพื่อป้องกันความสับสนในการลงคะแนน หมายเลข ซึ่งผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อจับได้ก็เป็นหมายเลขเดียวกันกับที่ถูกนำไปใช้ในการเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขตด้วย

ยกตัวอย่าง หัวหน้าพรรค ก จับสลากได้หมายเลข 1 ส่วนหัวหน้าพรรค ข จับสลากได้หมายเลข 2 การเลือกตั้งเมื่อปี 54 ผู้สมัคร ส.ส.ทั้งแบบเขต และปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค ก ก็จะได้หมายเลข 1 เหมือนกันทั่วประเทศทุกเขตเลือกตั้ง ส่วนผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ข ก็จะได้หมายเลข 2 เหมือนกันทั่วทุกเขต

แต่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 นี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงกติกาใหม่ กล่าวคือ เหลือบัตรลงคะแนนเพียงแค่ใบเดียว แต่ยังคงมี ส.ส.ทั้ง 2 ระบบ คือ แบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขต โดย ส.ส.แบบแบ่งเขตมีทั้งสิ้น 350 คน บวกกับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก 150 คน รวมเป็น 500 คน

ผู้รู้บางคนตั้งข้อสังเกต ภายใต้กติกาใหม่นี้ เท่ากับบีบให้ประชาชนต้องตัดสินใจเลือกเพียง 1 เดียวว่า จะเลือกคนที่รัก หรือเลือกพรรคที่ชอบ ก็เอาสักอย่าง ดังนั้น พรรคการเมืองจึงต้องแก้เกมด้วยการส่งตัวแทนของพรรคลงเลือกตั้งให้มากที่สุด พรรคใดที่ไม่ส่งคนลงเลือกตั้ง หรือหวังจะได้เฉพาะเก้าอี้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อาจต้องล้มหายไปในที่สุด

น่าจับตาว่า ที่ผ่านมาการใช้บัตรเลือกตั้งแบบใบเดียว มักจะบีบให้คนเลือกที่ตัวบุคคล หรือคนที่รักมากกว่าจะเลือกที่นโยบายของพรรคที่ตัวเองชอบ จึงเป็นการบั่นทอนความเข้มแข็งของพรรคการเมืองอีกทาง

ประการถัดมา หมายเลขของผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต กับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคเดียวกันในการเลือกตั้งคราวนี้...อาจจะไม่ตรงกัน

เนื่องจากตามกติกาใหม่ กำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.ทุกเขต ต้องจับเบอร์

ผลก็คือ การที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ก ใน กทม. เขตที่ 1 จับได้เบอร์ 1 ผู้สมัครของพรรค ก ใน กทม. เขต 2 อาจจะจับได้เบอร์ 10 ดังนั้น ใน 30 เขตเลือกตั้งของ กทม. หรือในแต่ละเขตเลือกตั้งต่างจังหวัดก็เช่นกัน ผู้สมัครของพรรค ก ในแต่ละเขตเลือกตั้ง อาจจะได้หลายหมายเลขที่ไม่ซ้ำกัน เพื่อป้องกันการกาผิดพลาด จึงต้องจำให้ขึ้นใจว่า ผู้สมัครที่ตนจะไปลงคะแนนให้ในเขตเลือกตั้งของตนนั้นได้หมายเลขใด

การที่ผู้มีสิทธิลงคะแนน เหลืออำนาจตัดสินใจเพียงหนึ่งเดียว

คือ เลือก ส.ส. เขต ตามที่ กกต.บางคนออกมาบอกว่า เท่ากับกาคะแนนแค่ครั้งเดียวจะได้ผลตามมาถึง 2 ทาง คือ ผลทางตรงจากการเลือก ส.ส.เขต 350 คน และผลทางอ้อมจากการได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

ซึ่งนำไปสู่การเลือกบัญชีผู้เป็นนายกรัฐมนตรี

ซึ่งเปรียบเสมือนในรถยนต์คันเดียว ที่มีเครื่องยนต์แบบไฮ-บริด สามารถเลือกสลับใช้ได้ทั้งระบบน้ำมันและไฟฟ้านั้น

แต่เอาเข้าจริง...กลัวจะกลายเป็น “ไฮเบี้ยว” ซะมากกว่า เพราะในสภาพความเป็นจริงต้องไม่ลืมว่า ระบบนี้จะให้ผลแบบไฮบริดอย่างที่คุยก็ต่อเมื่อตัว ส.ส.เขตที่ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งชื่นชอบ กับพรรคการเมืองที่อยู่ในใจของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง...ต้องอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกันเท่านั้น

ถ้าผู้ไปใช้สิทธิลงคะแนน ชื่นชอบตัวนาย ก ซึ่งเคยสังกัดอยู่พรรคการเมืองเอ แต่ล่าสุด นาย ก ดันถูกดูด หรือย้ายไปอยู่พรรคการเมืองบี ซึ่งไม่ใช่พรรคที่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต้องการจะลงคะแนนให้ แบบนี้ น่าคิดว่า สุดท้ายแล้วผู้เลือกตั้งรายนั้น ยังต้องการจะเลือกนาย ก ที่ย้ายไปสังกัดพรรคใหม่อยู่อีกหรือไม่...

ยิ่งกว่านั้น ตามกติกาใหม่ เมื่อได้ ส.ส.เขตจำนวน 350 คน และได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครบทั้ง 150 คนแล้ว เรื่องยังไม่จบง่ายๆ...ต้องมาดูอีกว่า แต่ละพรรคการเมืองได้สัดส่วนเท่าไรในคะแนนเสียงรวมกันทั่วประเทศ ตามสูตรการคำนวณที่หลายคนบอกว่า สลับซับซ้อนจนเวียนหัว

เพราะตามกติกาใหม่ ระบุว่า การนับคะแนนตามระบบจัดสรรปันส่วนผสม กรณี ส.ส.เขต 350 คน จาก 350 เขตนั้น ผู้สมัคร ส.ส.เขตที่ได้รับคะแนนสูงสุดในเขตนั้นจะได้เป็น ส.ส.ก็ต่อเมื่อคะแนนที่ได้ต้องมากกว่าคะแนน Vote No ในเขตเลือกตั้งนั้น

หากไม่มีผู้สมัคร ส.ส.เขตคนใดได้คะแนนมากกว่าคะแนน Vote No ในเขตเลือกตั้งนั้นให้จัดเลือกตั้งในเขตนั้นใหม่ กรณีที่ได้คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ใช้วิธีจับสลากต่อหน้า กกต.ประจำเขตเลือกตั้ง

หรืออีกนัยหนึ่ง เมื่อนำคะแนนจากผู้ที่มาใช้สิทธิทั่วประเทศลบด้วย Vote No และบัตรเสียก่อน จากนั้นนำไปหารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้ง 2 ระบบซึ่งมีจำนวน 500 คน จะได้ จำนวนคะแนนโหวต ต่อ ส.ส. 1 คน

ต่อมาให้เอาคะแนนที่แต่ละพรรคได้จากทุกเขตรวมกัน (ไม่ว่าชนะหรือแพ้) หารด้วยจำนวนคะแนนโหวต ต่อ ส.ส. 1 คน จะได้ตัวเลขที่เรียกว่า จำนวน “ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงมี”

สุดท้าย การคำนวณว่าแต่ละพรรคจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่าไร ให้เอา ‘ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี’ ตั้ง ลบด้วย ‘ส.ส.เขต’ ที่พรรคนั้นได้ไปแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้ คือ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นจะได้

แต่ถ้า ส.ส.เขตที่พรรคได้ มากกว่าจำนวน ส.ส.พึงมี ให้ถือจำนวน ส.ส.เขตที่ได้เป็นหลัก และจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มอีก


อีกประเด็นที่ต่างจากกติกาการเลือกตั้งปี 2554 อย่างสุดโต่ง ก็คือ กติกาเลือกตั้งปี 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 นี้ กำหนดให้วุฒิสมาชิก (ส.ว.) จำนวน 250 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. มีสิทธิเลือกตัวผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้เป็นครั้งแรก

เท่ากับเอื้อให้บางพรรคการเมืองที่มี ส.ว.หนุนหลังบางพรรคได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นที่เป็นคู่แข่งอย่างมหันต์ เพราะยังไม่ทันลงกรำศึกในสนามเลือกตั้ง ก็มี 250 ส.ว.อยู่ในมือ...นอนตีพุงสบายใจเฉิบแล้ว

หลายคนจึงมองว่า ผลการเลือกตั้งที่น่าจะออกมากระจายเป็นเบี้ยหัวแตกครั้งนี้ ไม่น่าจะมีพรรคใดได้เสียงข้างมาก เกมนี้ จึงเท่ากับทำให้การเมืองย้อนกลับไปสู่การให้ความสำคัญกับตัวบุคคลมากกว่าพรรค ซึ่งเปิดโอกาสให้คนนอก หรือบุคคลที่ 3 เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป.


ไม่มีความคิดเห็น: