PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2562

เส้นทางการเมืองหลังเลือกตั้ง

เส้นทางการเมืองหลังเลือกตั้ง
โดย สิริอัญญา 
วันอังคารที่ 26 มีนาคม 2562

การเลือกตั้งทั่วไปผ่านไปแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 แต่ยังไม่เสร็จ เพราะยังต้องมีกระบวนการต่าง ๆ อีกหลายกระบวนการ และเมื่อการเลือกตั้งแล้วเสร็จ กกต. ก็ต้องประกาศผลการเลือกตั้ง โดยต้องมี ส.ส. ที่ผ่านการรับรองอย่างน้อย 95% ของจำนวน 500 คน 

ดังนั้นระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2562 ไปจนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้ง จึงมีกระบวนการต่าง ๆ ที่สำคัญคือ การตรวจสอบไต่สวนข้อร้องเรียนต่าง ๆ หรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่มีข้อกล่าวหาว่ามีการทำผิดกฎหมายในการเลือกตั้ง หรือมีการกระทำที่ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม รวมทั้งการจัดการเลือกตั้งใหม่ในกรณีที่ กกต. ต้องแจกใบเหลือง ใบแดง หรือในกรณีที่คะแนนเสียงในการโหวตโนมากกว่าจำนวนที่ผู้ชนะเลือกตั้งได้คะแนน 

ในห้วงเวลาดังกล่าวนั้นจึงอาจเกิดความโกลาหลอลหม่านและมีการขัดแย้งหรือความวุ่นวายทางการเมืองเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกพรรคทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันดูแลแก้ไขไม่ให้เหตุการณ์รุนแรงหรือความวุ่นวายเกิดขึ้น เพื่อป้องกันมิให้บ้านเมืองเข้าสู่วิกฤตรอบใหม่ ดังที่มีการคาดหมายกันไว้ รวมทั้งดังที่มีการข่มขู่กันไว้ก่อนเลือกตั้ง 

ดังนั้นหลังวันที่ 24 มีนาคม 2562 ไปจนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้งซึ่งจะทอดยาวไปจนถึงช่วงงานพระราชพิธีสำคัญของแผ่นดิน ซึ่งเป็นช่วงของการไต่สวนข้อร้องเรียนต่าง ๆ และอาจเกิดความสับสน ความวุ่นวายเกิดขึ้นนั้น จึงเป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนต้องร่วมกันดูแลแก้ไขอย่าให้เหตุการณ์เกิดความไม่สงบเกิดขึ้นเป็นอันขาด 

เพราะเมื่อย่างเข้าเดือนเมษายน ก็จะเป็นเขตการปฏิบัติงานหลายอย่างเพื่อเตรียมการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ความจริงควรเป็นห้วงเวลาแห่งความปลื้มปีติและความยินดีปรีดาของประชาชาติไทย แต่เมื่อใครก็ไม่รู้มาวางหมากวางกลเอาห้วงเวลาการชุลมุนอันเป็นผลต่อเนื่องจากการเลือกตั้งมาวางไว้ตรงนี้ ประชาชนไทยทั่วประเทศจึงต้องรู้เท่าทัน และต้องเตรียมจิตเตรียมใจเตรียมความอดทนความข่มใจเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ให้เกิดความสับสนวุ่นวายเกินกว่าที่จะพึงเป็น 

หากมีกรณีต้องแจกใบเหลือง ใบแดง หรือจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ก็ชอบที่ทุกฝ่ายจะดำเนินการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ด้วยความสงบ และด้วยรักษาบรรยากาศแห่งความสามัคคีภายในชาติ เพื่อร่วมกันเฉลิมฉลองมหามงคลสมัยที่ยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ ซึ่งในชีวิตหนึ่งของคนไทยเราจะมีโอกาสเพียงครั้งเดียวเท่านั้น จึงต้องทำให้ความปรารถนาของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศที่รอคอยถวายความจงรักภักดีในมหามงคลสมัยนี้ได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ที่สุด 

วันนี้เป็นวันหลังจากวันเลือกตั้งมาแล้วสองวัน แม้อาจจะคาดหมายผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการได้แล้ว แต่นั่นก็ยังไม่เป็นทางการ จึงต้องรอผลเลือกตั้งที่เป็นทางการจากการประกาศของ กกต. อีกครั้งหนึ่ง 

แต่ทว่าเพื่อเป็นทางแห่งความเข้าใจของประชาชนว่าเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้นแล้ว กระบวนการทั้งหลายจะเป็นอย่างไร จึงขอสรุปโดยสังเขปเพื่อทราบและเข้าใจโดยทั่วกันดังนี้ 

ขั้นตอนที่หนึ่ง หลังจาก กกต. ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง โดยมี ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 95% ของจำนวน 500 คนแล้ว จากนั้น คสช. ก็จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งวุฒิสมาชิกจำนวน 250 คน ซึ่งเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดย คสช. ซึ่งทำหน้าที่สรรหาและคัดเลือกจะเป็นผู้นำความขึ้นกราบบังคมทูล 

ขั้นตอนที่สอง หลังจากขั้นตอนที่หนึ่งแล้ว จะมีการพระราชพิธีหรือที่บางครั้งก็เรียกว่ารัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก ซึ่งพระมหากษัตริย์จะเสด็จเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกนี้ตามประเพณีการปกครองที่มีมา 

ขั้นตอนที่สาม หลังจากพระมหากษัตริย์ทรงกระทำพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกแล้ว ก็จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก เพื่อทำการเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตามกฎหมายจะดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย 

ในการเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรนี้ วุฒิสภาไม่เกี่ยวข้อง เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรที่จะประชุมเลือกตั้งกันเอง ดังนั้นพรรคการเมืองใดที่สามารถรวบรวมเสียงเกิน 250 เสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้ บุคคลที่พรรคการเมืองนั้นเสนอก็มีโอกาสได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร 

การตกลงกันกำหนดตัวประธานสภาผู้แทนราษฎร หากเป็นอดีตก็จะเป็นสิ่งบอกเหตุสำคัญว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะในการหารือร่วมกันเพื่อคัดเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้นก็จะมีการหารือไปพร้อมกันว่าใครจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

แต่ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันนี้ การเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องทำโดยการประชุมร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา ซึ่งจะต้องมีคะแนนเสียง 376 เสียงขึ้นไปจึงจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในจำนวนนี้ก็จะเป็นวุฒิสมาชิกถึง 250 คน  

ขั้นตอนที่สี่ เมื่อได้ตัวประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งจะเป็นประธานรัฐสภาแล้ว ก็จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป 

ดังนั้นโดยรัฐธรรมนูญปัจจุบัน การจะเป็นนายกรัฐมนตรีและสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้จึงต้องมีเสียงข้างมากสองระยะ คือ 

ระยะแรก ต้องมีเสียงข้างมากในการประชุมรัฐสภา คือ 376 เสียงขึ้นไป 

ระยะที่สอง ต้องมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎร 251 เสียงขึ้นไป แต่ปกตินั้นก็ไม่พอ จะต้องมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรประมาณ 280 เสียงขึ้นไป จึงจะสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ราบรื่น 

ดังนั้นการจะเป็นรัฐบาลและบริหารราชการแผ่นดินได้ จึงต้องมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอย่างน้อย 251 เสียง และเมื่อรวมกับวุฒิสภาอีก 250 เสียงแล้วก็เท่ากับ 501 เสียง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้โดยง่ายดายนัก และสี่ก็อาจจะเป็นต้นเหตุวิกฤตรัฐธรรมนูญต่อไป 

เห็นหรือยังว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันนี้ นอกจากมีปัญหาสับสนในเรื่องความหมายของบทบัญญัติแต่ละมาตราแล้ว ยังมีเงื่อนงำซับซ้อนซ่อนเงื่อนที่พร้อมจะก่อวิกฤตให้กับบ้านเมืองได้เสมอ.

ไม่มีความคิดเห็น: