PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

จดหมายถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่อง ม.44โทรคมนาคมอาจจะฝ่าฝืน รธน.

จดหมายถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่อง ม.44โทรคมนาคมอาจจะฝ่าฝืน รธน.
ด่วนที่สุด
วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒
เรื่อง ขอใช้สิทธิตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔๖ ประกอบมาตรา ๗ (๑๑) เกี่ยวกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๖๒ อาจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ
เรียน ผู้ตรวจการแผ่นดิน
สิ่งที่ส่งมาด้วย คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๖๒
เนื่องด้วยข้าพเจ้าได้รับการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ จากการที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๖๒ ซึ่งข้าพเจ้ามีความเห็นว่าอาจเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มีรายละเอียด ดังนี้
ข้อ ๑. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๖๒ มีเงื่อนไขที่รอนสิทธิประโยชน์ของประชาชน
๑.๑ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๖๒ มีเงื่อนไขบางประการที่รอนสิทธิประโยชน์ของประชาชน ได้แก่
๑.๑.๑ ข้อ ๕ ประกอบ ข้อ ๖ ซึ่งยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตรายใดที่ไม่สามารถชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ได้ สามารถเลื่อนกำหนดเวลาการชำระเงินได้ นั้น
ข้าพเจ้าขอเรียนว่า การที่รัฐยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตสามารถเลื่อนกำหนดเวลาการชำระเงินได้ ทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้รับใบอนุญาตในการประหยัดดอกเบี้ย แต่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ เนื่องจากรัฐบาลจะได้รับกระแสเงินสดล่าช้ากว่ากำหนดเดิม รัฐบาลจึงจะต้องหาแหล่งเงินอื่นมาทดแทนโดยต้องเสียดอกเบี้ย จึงเป็นการเลือกปฏิบัติเทียบกับธุรกิจประเภทอื่น ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๗ , ไม่เป็นการรักษาวินัยการเงินการคลัง ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๖๒ , และไม่แป็นการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๖๔ (๑)
๑.๑.๒ ข้อ ๑๐ ซึ่งกำหนดว่า ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล รายใดประสงค์จะคืนใบอนุญาตที่ได้รับ ก็ให้คืนได้โดยไม่มีเบี้ยปรับ และยังให้สำนักงาน กสทช. พิจารณากำหนดค่าชดเชยให้แก่ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าว รวมทั้งจะมีการลดค่าใช้จ่ายในการเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (MUX) บางกรณีด้วย นั้น
ข้าพเจ้าขอเรียนว่า การที่รัฐยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลคืนใบอนุญาตได้ โดยไม่มีบทลงโทษ และยังอาจได้รับค่าชดเชย รวมทั้งอาจได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ กรณีที่เดิมผู้รับใบอนุญาตมีภาระความผูกพันต่อรัฐ นั้น ทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้รับใบอนุญาต แต่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ เนื่องจากรัฐบาลจะขาดไปซึ่งรายได้ตามข้อตกลงเดิม รัฐบาลจึงจะต้องหาแหล่งเงินอื่นมาทดแทนโดยต้องเสียดอกเบี้ย รวมทั้งจะต้องทำการเรียกเก็บภาษีจากประชาชนมากขึ้นเพื่อชดเชย จึงเป็นการเลือกปฏิบัติเทียบกับธุรกิจประเภทอื่น ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๗ , ไม่เป็นการรักษาวินัยการเงินการคลัง ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๖๒ , และไม่เป็นการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๖๔ (๑)
ข้อ ๒. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๖๒ มีเงื่อนไขที่เลือกปฏิบัติ และเป็นการผูกขาดตัดตอนทางเศรษฐกิจ
๒.๑ ข้อ ๘ ซึ่งกำหนดให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีการเรียกคืนตามข้อ ๑๑ สำหรับใช้ในกิจการโทรคมนาคม โดยพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ย่าน ๘๙๐ - ๙๑๕ MHz / ๙๓๕ - ๙๖๐ MHz ก่อน นั้น
ข้าพเจ้าขอเรียนว่า ข้อกำหนดนี้เป็นการให้อภิสิทธิ์แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ย่าน ๘๙๐ - ๙๑๕ MHz / ๙๓๕ - ๙๖๐ MHz เหนือกว่าผู้ประกอบธุรกิจเดียวกันรายอื่นๆ จึงเป็นการเลือกปฏิบัติเทียบกับธุรกิจประเภทอื่น ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๗ , และไม่เป็นการขจัดการผูกขาดตัดตอนทางเศรษฐกิจ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๗๕
๒.๒ ทั้งนี้ ถึงแม้ประกาศข้อ ๘ วรรคสองจะกำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน ๘๙๐ - ๙๑๕ MHz / ๙๓๕ - ๙๖๐ MHz ไม่ประสงค์จะขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไขและให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ในงวดที่เหลือตามข้อ ๕ ให้ครบถ้วน และให้สำนักงาน กสทช. จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ต่อไป โดยน่าจะเป็นการอ้างว่าเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้รัฐได้รับประโยชน์ที่ชดเชยกับการเลื่อนกำหนดเวลาการชำระเงินที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ นั้น
ข้าพเจ้าขอเรียนว่า เงื่อนไขตามข้อ ๘ วรรคสองนั้น มิได้มีข้อกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตจะต้องเสนอให้ประโยชน์แก่รัฐเป็นมูลค่าขั้นต่ำอย่างไร หรือกำหนดอัตราประมูลขั้นต่ำอย่างไร จึงเป็นการกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐแบบเลื่อนลอย ที่ไม่เป็นการป้องกันผลประโยชน์ของชาติและสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๕๐ (๒) , เป็นการไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๖๒ , และไม่แป็นการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๖๔ (๑)
ข้อ ๓. เหตุผลประกอบคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๖๒ ไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา ๔๔
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ บัญญัติเงื่อนไขในการใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ ไว้เพียง ๓ ประการ ดังนี้
มาตรา ๔๔ ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อ ป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติท่ีชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๖๒ ได้ระบุเหตุผลความจำเป็นไว้ว่า
โดยที่ในปัจจุบันได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สภาพปัญหาจากการแข่งขันทางธุรกิจสําหรับกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ปัญหาด้านความพร้อมทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผลกระทบจากรายได้ของผู้ประกอบการที่สุจริต อันส่งผลถึงความสามารถในการชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้ทันภายในระยะเวลาที่กําหนดนั้นยังคงอยู่ จึงจําเป็นต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและ กําหนดระยะเวลาในการชําระค่าธรรมเนียม เพื่อให้การประกอบกิจการดังกล่าวสามารถดํารงอยู่ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน ๗๐๐ MHz และ ๒๖๐๐ MHz ซึ่งจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเทคโนโลยี ๕G อันทําให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีความมั่นคงและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ข้าพเจ้าขอเรียนว่าเหตุผลดังกล่าวไม่เข้าข่ายเงื่อนไข ๓ ประการในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มีรายละเอียด ดังนี้
๓.๑ การอ้าง “ปัญหาจากการแข่งขันทางธุรกิจ” นั้น เป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะประเทศไทยใช้นโยบายเศรษฐกิจเสรี ดังนั้น ทุกธุรกิจในประเทศไทยจึงต่างประสบปัญหาจากการแข่งขันทางธุรกิจกันทั้งนั้น โดยนโยบายเศรษฐกิจเสรีใช้หลักการให้ภาคเอกชนจะต้องแก้ปัญหาจากการแข่งขันทางธุรกิจด้วยตนเอง มิใช่แก้ปัญหาด้วยการใช้ทรัพยากรของประชาชนส่วนรวม
๓.๒ การอ้าง “ผลกระทบจากรายได้ของผู้ประกอบการที่สุจริต” นั้น ไม่เข้าข่ายเงื่อนไขของมาตรา ๔๔ เพราะรายได้และผลกำไรหรือขาดทุนของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลนั้น แม้รวมกันทุกราย ก็ยังเป็นเพียงสัดส่วนเล็กน้อยเปรียบเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศ (ซึ่งแสดงโดยตัวเลข จีดีพี) ไม่สามารถจะตีความได้ว่าเข้าข่ายเป็นปัญหาต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจของประเทศและถึงแม้ผู้รับใบอนุญาตบางรายจะประสบปัญหา แต่ก็ยังจะมีผู้รับใบอนุญาตอีกหลายรายที่ดำเนินการต่อไปได้
๓.๓ การอ้าง “ความสามารถในการชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตภายในระยะเวลาที่กําหนด” นั้น เป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะนอกจากสองธุรกิจนี้ ยังมีธุรกิจอื่นอีกมากมายที่ผู้รับใบอนุญาตอาจมีปัญหาเรื่องความสามารถในการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตภายในระยะเวลาที่กําหนด นอกจากนี้ บริษัทโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องก็เป็นบริษัทขนาดยักษ์ใหญ่อันดับต้นของประเทศ และบริษัทส่วนใหญ่มีกำไรจำนวนสูง นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทดังกล่าว ก็เป็นผู้ที่มีฐานะร่ำรวยอันดับต้นของประเทศไทย รวมทั้งเป็นนิติบุคคลในต่างประเทศ อาทิ กองทุนความมั่งคั่งของชาติอื่น บริษัทโทรคมนาคมข้ามชาติในยุโรป เป็นต้น จึงไม่สามารถจะตีความได้ว่าเข้าข่ายเป็นกลุ่มบุคคลที่ยากไร้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเองถึงขั้นที่รัฐบาลไทยจะต้องใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ไปช่วยเหลือ และไม่สามารถถือได้ว่าเป็นปัญหาต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจของประเทศ
แต่ในทางกลับกัน มาตรการนี้เป็นการรอนสิทธิและประโยชน์ของปวงชนชาวไทยทั้งมวลไปให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทเหล่านี้อย่างไม่เป็นธรรมอย่างชัดแจ้ง
๓.๔ การอ้างว่า “เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน” นั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงตามพฤติกรรมปัจจุบันของผู้บริโภค เพราะขณะนี้ประชาชนได้เปลี่ยนพฤติกรรม มีการส่งต่อและรับรู้ข่าวสารและข้อมูลแก่กันอย่างมากมายผ่านระบบโซเชียลมีเดียโดยใช้โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้ว และถึงแม้ผู้รับใบอนุญาตบางรายจะประสบปัญหา แต่ก็ยังจะมีผู้รับใบอนุญาตอีกหลายรายที่ดำเนินการต่อไปได้ ดังนั้น ประชาชนจึงยังมีช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลที่ยังเหลืออยู่
๓.๕ การอ้างว่า “เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน ๗๐๐ MHz และ ๒๖๐๐ MHz ซึ่งจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเทคโนโลยี ๕G” นั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงว่ายังมีบริษัทเอกชนอื่นในโลกอีกมากมายที่จะสนใจเข้าร่วมประมูลในเทคโนโลยี ๕G นอกเหนือจากผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ย่าน ๘๙๐ - ๙๑๕ MHz / ๙๓๕ - ๙๖๐ MHz นอกจากนี้ การอ้างถึงคลื่นความถี่ย่าน ๒๖๐๐ MHz ก็มิได้เกี่ยวข้องกับการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน ๗๐๐ MHz ในช่วง ๖๙๔ - ๗๙๐ MHzตามที่ระบุในข้อ ๑๑ ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๖๒ แต่อย่างใด จึงเป็นการอ้างแบบเหมารวมโดยไม่จำเป็น
๓.๖ การอ้างว่า “ทําให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีความมั่นคง และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด” นั้น ไม่ตรงกับเงื่อนไขในมาตรา ๔๔ เพราะมาตรา ๔๔ บัญญัติให้ใช้อำนาจเฉพาะในเรื่อง “ป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความมั่นคงของเศรษฐกิจของประเทศ” จึงเป็นเฉพาะกรณีที่มีเรื่องเร่งด่วนฉุกเฉิน ที่บ่อนทําลายความมั่นคงของเศรษฐกิจ อันจำเป็นต้องดำเนินการแบบฉับพลัน โดยไม่สามารถรอให้มีการเสนอกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาอย่างรอบคอบและโปร่งใสตามขั้นตอนปกติ แต่ในเรื่องมาตรการที่ช่วยส่งเสริมความมั่นคงของเศรษฐกิจ หรือเอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องมีการพิจารณากันหลายฝ่ายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และมิใช่วัตถุประสงค์ของมาตรา ๔๔
นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยี ๕G ในโลกขณะนี้ ก็ยังมีข้อจำกัดสืบเนื่องจากรัฐบาลสหรัฐตั้งแง่ต่อต้านบริษัท หัวเหว่ย ของประเทศจีน มิให้เข้ามาร่วมในการก่อสร้างแกนหลักของระบบ ๕G ในประเทศยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ซึ่งจนบัดนี้หลายประเทศยังไม่สามารถหาทางออกได้ ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยี ๕G ในประเทศไทยจึงมิใช่เรื่องเร่งด่วนที่จะต้องละเลยกระบวนการถ่วงดุลและการพิจารณาจากหลายฝ่ายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่อย่างใด
ข้อ ๔. การละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพต่อผู้ร้อง
ข้าพเจ้าเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๓ วรรคหนึ่ง และเป็นผู้หนึ่งที่จะได้รับประโยชน์จากการที่ผู้รับใบอนุญาตต่างๆ ปฏิบัติตามพันธะข้อผูกพันเดิมที่มีต่อรัฐ
เนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๖๒ ที่ยกเลิกพันธะข้อผูกพันเดิมที่มีต่อรัฐให้แก่ผู้รับใบอนุญาตโดยไม่จำเป็น นั้น มีผลเป็นการรอนสิทธิประโยชน์ที่ข้าพเจ้าพึงจะได้รับจากการที่ผู้รับใบอนุญาตต่างๆ ปฏิบัติตามพันธะข้อผูกพันที่มีต่อรัฐ รวมทั้งเป็นการปฏิบัติที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ หลายมาตรา ตลอดจนไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาตรา ๔๔จึงเป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจึงมีความจำเป็นต้องขอความเมตตากรุณาจากท่านได้โปรดตรวจสอบว่ามีการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพต่อข้าพเจ้าตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔๖ ประกอบมาตรา ๗ (๑๑) อย่างไร หรือไม่
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ไม่มีความคิดเห็น: