PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

'ลิขิต'ชี้ศาลรธน.ไม่กลับคำวินิจฉัยแน่


วันที่ 3 เมษายน 2556 18:04

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"ลิขิต"คาดศาลรธน. ไม่กลับคำวินิจฉัย ม.68 เดิม ให้ส่งอสส.กลั่นกรองก่อน ชี้แก้รายมาตราไม่ขัดรธน.

นายลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต และนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ทางสถานีวิทยุ FM 97.0 MHz. ถึงกรณี 40 ส.ว.ยื่นศาล รธน.สั่งระงับรัฐสภาพิจารณา
ร่างแก้ไขรธน. มาตรา 68 ว่า ม.68 เขียนไว้ว่า ถ้าใครต้องการล้มล้างรธน.ต้องมีการยื่นต่ออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณากลั่นกรองก่อน จากนั้นจึงส่งศาลรธน. อยู่ๆ ศาลรธน.ตีความว่า ม.68 ส่งได้โดยตรง
แล้วจะเขียนอัยการสูงสุดไว้ทำไม และหากส่งพร้อมกัน 2 แห่งทำให้อัยการสูงสุดและศาลรธน.ขัดแย้งกัน เพราะเกิดจากการเขียนกฎหมาย ดังนั้นเพื่อให้กระจ่างจึงต้องส่งให้อัยการสูงสุดก่อนส่งให้ศาลรธน. แต่การจะแก้ ม.68 แล้วบอกว่าขัดรธน.ก็จะมีปัญหา และต้องตีความ ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าศาลรธน.จะวินิจฉัยอย่างไร เพราะจะตีความขัดแย้งจากที่เคยวินิจฉัยเดิมไม่ได้ ก็ต้องตีความว่าการแก้อันนี้ไม่ถูก แต่จะถึงขั้นว่าล้มล้างรธน.หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และหากจะแก้ ม.291 ก็ไม่สามารถจะแก้อะไรได้เลย เพราะแก้ทุกอันจะกระเทือนต่อประชาธิปไตย หากมาตราใดขัดแย้งก็แก้ ไม่ได้แปลว่าล้มล้างรธน. หรือประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นการตีความที่กว้างเกินไป

นายลิขิต กล่าวอีกว่า การแก้ ม.68 ควรจะแก้ให้ชัด สุดท้ายถ้าไม่ทำก็ลำบาก เพราะศาลรธน.ก็วินิจฉัยไปอย่างหนึ่ง แต่คนที่เขียนส่วนหนึ่งก็ไม่เห็นด้วยกับความเห็นอยางนี้ จึงควรเขียนให้ชัดเลยว่าส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาก่อนส่งศาลรธน. หากตีความจะกลายเป็นช่องโหว่ จึงเป็นปัญหาของกฎหมายเพราะจะเขียนละเอียดมากไม่ได้ แม้แต่วาระ 3 ศาลไม่ได้บอกว่าอย่าพิจารณาวาระ 3 บอกเพียงว่าน่าจะลงประชามติก่อน จะไปโทษศาลรธน.ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เป็นสิทธิของส.ว.ที่จะร้องได้ แต่ขณะเดียวกันส่อไปส่อมามันไม่ได้ ต้องบอกให้ชัดๆ ว่าแก้ ม.68 ทำให้ศาลรธน.หมดอำนาจ

ส่วนที่ว่าเป็นการริดรอนสิทธิประชาชนนั้น อัยการสูงสุดต้องทำหน้าที่อยู่แล้ว และศาลรธน.ก็ยังอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้ริดรอน และหากอัยการสูงสุด ไม่กรองเรื่อง อัยการสูงสุดก็ส่งศาลรธน. ซึ่งศาลรธน.ยังอยู่ไม่ได้เลิกหรือริดรอน หากอสส.ไม่กรองเรื่องก็ยื่นถอดถอนตาม ม.157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นต้องพิจารณาให้ดีอย่าใช้ความรู้สึก และเรื่องนี้ไม่ใช่กฎหมายนิติศาสตร์ แต่เป็นปัญหาทางอำนาจและการเมือง ที่พยายามเอาชนะคะคานกัน และแม้จะชนะด้วยเสียงข้างมาก ก็ยังมีปัญหา อย่างไรก็ตาม การจะทำประชามติก็ต้องได้เสียงท่วมท้น

"สำหรับทางออกนั้น แม้ว่าจะชนะก็ไม่จบ หรือจะเป็นเสียงข้างมากก็มีปัญหา เพราะสังคมไทยพูดกันไม่ได้ และหากจะทำประชามติก็ต้องได้รับเสียงท่วมท้น กลุ่มต่างๆมีโอกาสมีพื้นที่เล่นเกมการเมืองถ่วงดุลกันเป็นสิ่งถูกต้อง แต่ต้องถูกต้องตามหลักกฎหมายสากลด้วย ไม่ใช่ถูกต้องโดยออกฎหมายย้อนหลัง หรือให้คนกลุ่มหนึ่งมากุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ได้ และต้องเอาความชอบธรรมทางการเมืองด้วย การจะให้ใครเป็นนายกฯทำได้ ตามกฎหมาย ผู้หญิงก็เป็นได้ แต่มีความชอบธรรม เป็นที่ยอมรับ เหมาะสม ไม่ใช่เอาคนนั้นแทนคนนี้มาโดยไม่ดูความรู้สึกของประชาชน ไม่ดูความสามารถ ความเหมาะสมไม่ได้ หรือไม่ดูว่ากระบวนการทางการเมืองต้องผลัดไปผลัดมาต้องเอาหลายๆฝ่าย หรือเปลี่ยนผู้บริหารที่เอาจากคนกลุ่มเดียวกันโดยไม่ดูความสามารถไม่ได้ แม้ไม่ผิด แต่ความชอบธรรมทางการเมืองไม่มี " นายลิขิต กล่าว

ส่วนที่จะตัดทิ้ง สว.สรรหา จะเป็นระเบิดอีกลูกนั้น นายลิขิต กล่าวว่า ตนเป็นคนเสนอเองในรธน. 50 ที่ให้ สว.เลือกจังหวัดละ 1 คน และเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพอีกจำนวนหนึ่ง ที่เหลือ 24 คนให้แต่งตั้งจากอดีตนายกฯ อดีตผบ.ตร. และอดีตอธิบดี ที่มีการเลือกกลุ่มอาชีพเพราะเกลียดการสรรหา เพราะการสรรหามีปัญหา ผู้สรรหาจำนวนหนึ่งกลายเป็นถูกถอนได้โดยส.ว. ถือว่าผลประโยชน์ขัดแย้งกัน เพราะสรรหาแล้วไปถอดถอน ข้อเท็จจริงในอดีตที่ผ่านมาก็ถูกครอบงำด้วยการเมือง แล้วจะมีอะไรประกันว่าจะไม่ใช้เงินซื้อเสียง มีอะไรประกันหรือไม่ว่าจะไม่สมัครเป็นสมาชิกพรรคอย่างไม่เป็นทางการ และมีเลือกตั้งที่ไหนในโลกที่ห้ามหาเสียง แต่หากต้องเลือกก็เลือกทั้ง 77 คน ที่เหลือ 150 ก็เลือกกลุ่มอาชีพ แต่ไม่ใช่ให้สรรหาโดยองค์กรอิสระ เพราะองค์กรอิสระต้องอิสระเป็นกลางจากการเมือง สามัญสำนึกมันขัดกัน หากจะสรรหาควรมาจากกลุ่มอาชีพมากกว่า

ไม่มีความคิดเห็น: