PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

“สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง” เตือนการกู้เงินภาครัฐอาจจุดชนวนวิกฤต ศก.ครั้งใหม่

“สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง” เตือนการกู้เงินภาครัฐอาจจุดชนวนวิกฤต ศก.ครั้งใหม่ ผวาฟองสบู่แตกซ้ำรอยปี 40 ด้านนักธุรกิจบ.เอกชนหวั่นนโยบายรัฐก่อวิกฤตฟองสบู่".

“สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง” เจ้าของวลีดัง “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” หนึ่งในเหยื่อวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ปี 40 จนมีหนี้ท่วมกว่าแสนล้าน เตือนบทเรียน “ฟองสบู่แตก” หวั่นการกู้เงินภาครัฐทำให้จุดชนวน “วิกฤตครั้งใหม่” ชี้มีการกระตุ้นให้เอกชนลงทุนขยายธุรกิจเร็วเกินไป และไม่มีใครสามารถระบุได้ว่าจะได้ผลตอบแทนจริงตามที่เขียนกู้ไว้หรือไม่ ด้านนักธุรกิจภาคเอกชนเตือนนโยบายบริหารจัดการรัฐจะก่อให้เกิดวิกฤตฟองสบู่ครั้งใหม่ได้ หลังมีนโยบายก่อหนี้เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและรถคันแรก อยากเห็นรัฐหารือร่วมกับภาคธุรกิจก่อนประกาศใช้นโยบาย เผยวันนี้แบงก์ไทยไม่ปล่อยกู้ Real Sector แต่หันมาขูดรีดเงินค่าบริการต่างๆ

นายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) หรือ HEMRAJ เปิดเผยว่า การกู้เงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลจำนวน 2 ล้านล้านบาท รวมถึงการบริหารจัดการน้ำจำนวน 3.5 แสนล้านบาท อาจทำให้เกิดปัญหาวิกฤตฟองสบู่แตกได้อีกครั้ง

นายสวัสดิ์ให้เหตุผลว่า การลงทุนดังกล่าวของภาครัฐจะส่งผลให้ภาคเอกชนมีการลงทุนและขยายธุรกิจเร็วจนเกินไป ได้แก่หลายอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับการลงทุนของทางภาครัฐ จึงทำให้การกู้เงินของรัฐบาลจะส่งผลให้มีภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น จึงอาจเป็นสัญญาณของการเกิดเหตุการณ์วิกฤตฟองสบู่แตกได้อีกครั้ง

ทั้งนี้ ยังแนะนำให้รัฐบาลนำจำนวนเงินที่จะไปพัฒนาท่าเรือที่ทวายในประเทศพม่ามาลงทุนและพัฒนาในประเทศไทย โดยประเมินว่าประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของประเทศในแถบอินโดจีน จึงมีโอกาสทำให้ประเทศคู่ค้าจากต่างประเทศสามารถเดินทางมาร่วมค้ากับประเทศไทยได้สะดวกกว่าในประเทศแถบเดียวกัน

“คาดว่าวิกฤตฟองสบู่ที่จะเกิดแก่ประเทศไทยในอีกครั้งนั้นอาจส่งผลมาจากการที่รัฐบาลกู้เงินในวงเงินที่สูง ซึ่งอาจทำให้หลายผู้ประกอบการมีความสนใจและลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย จึงทำให้มีการลงทุนเพื่อหวังผลกำไร”

ขณะเดียวกันก็ไม่มีใครสามารถระบุได้ว่าจะได้รับผลตอบแทนในระยะสั้นหรือระยะยาว ซึ่งหากเป็นในระยะยาวนั้นทางภาคเอกชนอาจได้รับผลกระทบจากการที่กู้เงินจากธนาคารเพื่อมาลงทุน

อย่างไรก็ตาม ยังแนะนำให้รัฐบาลนำจำนวนวงเงิน 1 แสนล้านบาทที่จะเข้าไปลงทุนที่ท่าเรือทวายกลับมาลงทุนในประเทศไทย และพัฒนาท่าเรือต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางของแถบประเทศอินโดจีน

ทั้งนี้ นายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง เป็นนักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนกวางตุ้งที่อยู่ในธุรกิจอุตสาหกรรมเหล็กกล้า และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทย เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท เอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป จำกัด (NTS) และบริษัท นครไทยสตริปมิล จำกัด (NSM) [1] ต่อมาได้ก่อตั้ง บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) เพื่อประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เมื่อ พ.ศ. 2531

ภายหลังวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ธุรกิจของนายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ต้องแบกรับภาระหนี้กว่าแสนล้านบาท และเป็นที่มาของวลีดังในช่วงนั้นว่า “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” และดำเนินการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้

**ภาคเอกชนเตือนนโยบายบริหารจัดการรัฐจะก่อให้เกิดวิกฤตฟองสบู่ครั้งใหม่ได้ หลังมีนโยบายก่อหนี้เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและรถคันแรก อยากเห็นรัฐหารือร่วมกับภาคธุรกิจก่อนประกาศใช้นโยบาย เผยวันนี้แบงก์ไทยไม่ปล่อยกู้ Real Sector แต่หันมาขูดรีดเงินค่าบริการต่างๆ

นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนา “ถอดบทเรียนฝ่าวิกฤตต้มยำกุ้ง” จัดโดยฐานเศรษฐกิจ วานนี้ (4 ก.ค.) ว่า สิ่งที่กังวลในขณะนี้ คือ การบริหารจัดการของภาครัฐที่มีการใช้เงินจำนวนมากลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้าสายต่างๆ และรถไฟความเร็วสูง หลังจากปีก่อนรัฐมีนโยบายบ้านหลังแรก และรถคันแรก ทำให้หนี้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น การออมของภาคประชาชนน้อยลง ซึ่งขณะนี้เริ่มมีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าอาจจะเกิดปัญหาฟองสบู่ ซึ่งจะต่างจากปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้งเกิดจากปัญหาหนี้ภาคเอกชน แต่ครั้งนี้อาจจะเกิดจากการล้มเหลวจากรัฐบาล (Government Collapse) เพราะการบริหารงานประเทศจะต้องทำมากกว่านี้

โดยยอมรับว่าบทเรียนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเข้มแข็งขึ้น เชื่อว่าแม้จะเกิดวิกฤตฟองสบู่ขึ้นอีกครั้งก็คงไม่รุนแรงสำหรับภาคเอกชน เนื่องจากที่ผ่านมา ภาคการผลิตที่แท้จริง (Real Sector)ไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ เหมือนที่รัฐบาลหลายประเทศทำกัน ทำให้ธุรกิจต้องแข็งแกร่งเพื่ออยู่รอดให้ได้

ดังนั้น สิ่งที่ภาคเอกชนอยากเห็น คือ ภาครัฐมีการหารือหรือปรึกษากับภาคเอกชนก่อนจะตัดสินใจมีนโยบายใดที่มีผลกระทบในวงกว้างออกมา โดยภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และภาครัฐตระเตรียมนโยบายให้สอดคล้อง ไม่ใช่ไปคนละทิศละทาง โดยยึดนโยบายตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เป็นกรอบของประเทศที่จะเดินหน้าต่อไป ไม่ว่ารัฐบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

“วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 16 ปีก่อน ทำให้ตนต้องเฉือนขายธุรกิจออกไป ซึ่งก็ไม่ได้โทษต่างชาติที่เข้ามาซื้อกิจการไทย แต่โทษคนที่เป็นผู้ปกครองเราทั้งรัฐบาล กระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติ ที่ไม่ดูแลภาคเอกชนให้ดีกว่านี้”

นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บทเรียนจากวิกฤตปี 2540 เกิดจากความผิดพลาดของรัฐบาล ทั้งกระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติ ดังนั้น รัฐบาลควรเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากความผิดพลาดดังกล่าวให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นๆ และทำให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นใหญ่ธนาคารพาณิชย์ไทย

ซึ่งโครงการตั้งโรงปูนไลน์ที่ 4 ขนาดกำลังผลิตประมาณ 4 ล้านตันนั้นพบว่าธนาคารพาณิชย์ไทยปล่อยกู้ไม่ถึง 20% ที่เหลือเป็นการปล่อยกู้เครื่องจักรจากต่างชาติทั้งเยอรมนี และเบลเยียม เนื่องจากปัจจุบันแบงก์ไทยส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือต่างชาติ เน้นให้สินเชื่อให้กับโครงการต่างชาติด้วยกันหรือบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้น รัฐบาลควรอนุญาตให้มีการตั้งแบงก์ของคนไทยขึ้นใหม่ได้ เพื่อช่วยเหลือภาค Real Sector ของไทยด้วยกัน

http://astv.mobi/AlgZriY และ http://astv.mobi/AlgZrpT

ไม่มีความคิดเห็น: