PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รธน.ปี56 โดย นฤตย์ เสกธีระ

วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 21:01:16 น. มติชน
malui2810@gmail.com

คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12  (มติชนรายวัน 15 ต.ค.2556)

วันที่ 14 ตุลาคม 2516 นิสิตนักศึกษาออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย

หัวใจที่บ่งบอกประชาธิปไตยที่ผ่านมาเน้นไปที่รัฐธรรมนูญ ในฐานะกฎหมายที่กำหนดความเป็นไปของประเทศ

ทั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญจะบ่งบอกว่า อำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของใคร?

และรัฐธรรมนูญอีกนั่นแหละที่บ่งบอกว่า อำนาจอธิปไตยนั้นจะใช้ได้ทางใด ใครเป็นคนใช้

ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญไทยมักร่างโดยตัวแทนขั้วอำนาจ มีรัฐธรรมนูญน้อยฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างขึ้นมา

วันนี้รัฐธรรมนูญของไทยกำลังอยู่ระหว่างการแก้ไข...อีกแล้ว

สัปดาห์นี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เข้าสู่รัฐสภา

มาตรานี้มีปัญหาเพราะบัญญัติมาแล้วปฏิบัติจริงไม่ได้ แทนที่จะเสริมสร้างความรอบคอบ กลับกลายเป็นอุปสรรคกับฝ่ายราชการในการทำงาน

ในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แก้ไขมาคราวหนึ่ง มาถึงสมัยนี้ก็จะแก้ไขอีก

หลังจากแก้ไขมาตรา 190 ได้ก็จะแก้ไขมาตรา 68 เพราะมีปัญหาเรื่องการยื่นคำร้องว่าจะยื่นให้อัยการสูงสุดก่อน หรือจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญเลย

ยังมีการแก้ไขมาตรา 237 เรื่องคนทำผิดก็รับผิด ไม่ต้องยุบพรรค

และยังร่ำๆ ว่าจะแก้ไขมาตรา 309 เพราะเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองผลจากการปฏิวัติรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

การแก้ไขมาตรานี้ถ้าเกิดขึ้นจริง รัฐสภาคงเดือด เพราะฝ่ายคัดค้านเห็นว่าเป็นการช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ก็ว่ากันไป...

เดิมทีรัฐบาลประกาศนโยบายไปแล้วว่าจะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยให้เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาทำหน้าที่

แต่ทางฝ่ายค้านเห็นว่า ผลการเลือกตั้ง ส.ส.ร.จะมีแต่คนของฝ่ายรัฐบาล จึงค้านเต็มสูบ

สุดท้ายก็ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 68 แล้วก็มีข้อสรุปทำนองว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ยกร่างใหม่ไม่ได้ น่าจะแก้ไขรายมาตรา

หลังจากนั้นรัฐบาลก็เริ่มแก้ไขรายมาตรา เริ่มต้นที่ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา

ขณะนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภาได้ทูลเกล้าฯไปแล้ว

แต่กระบวนการทั้งหมดประชาชนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องน้อยมาก

มีหลายคำถามเกี่ยวกับการแก้ไขที่บรรดาสมาชิกรัฐสภาถามและตอบกันเอง โดยประชาชนไม่มีสิทธิถาม

อาทิ ทำไมต้องมีวุฒิสภา

ในเมื่อครั้งร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2540 ผู้ร่างต้องการให้วุฒิสภาทำหน้าที่ตรวจสอบ มีอำนาจถึงขั้นถอดถอนฝ่ายบริหาร และองค์กรอิสระ

แต่ที่สุดแล้ว สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งก็เจอข้อครหา "สภาผัวเมีย"

เข้าใจง่ายๆ ว่าสมาชิกวุฒิสภาเป็นพวกฝ่ายรัฐบาล

ปี 2550 อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาเป็นแบบเดิม แต่เปลี่ยนผู้ที่มาเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยให้เลือกตั้งครึ่งหนึ่ง และสรรหาครึ่งหนึ่ง

ปรากฏว่าสมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งถูกครหาว่า เป็นพวกฝ่ายค้าน

สรุปได้ว่า สมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ต่างถูกโจมตี

คำถามก็คือแล้วจะมีวุฒิสภาดีหรือเปล่า?

หรือถ้ามีวุฒิสภาแล้วจะมอบอำนาจหน้าที่ให้สมาชิกวุฒิสภาแบบที่กำลังเป็นอยู่นี้หรือไม่?

เรื่องแบบนี้ประชาชนควรจะมีโอกาสได้ถาม ได้ตอบ ได้แสดงความคิดเห็น

จนถึงบัดนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังถูกจำกัดให้อยู่ในมือของสมาชิกรัฐสภา

ฝ่ายค้านยิ่งออกมาต่อต้าน การแก้ไขยิ่งไปอยู่ในมือของสมาชิกรัฐสภา

เป็นการแก้ไขโดยฝ่ายการเมือง เป็นการแก้ไขโดยขั้วอำนาจทางการเมือง

ส่วนประชาชนได้แต่นั่งตาปริบๆ อยู่ด้านนอกเหมือนเดิม...

ไม่มีความคิดเห็น: