PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อลงกรณ์ พลบุตร สงบรอยร้าว"ปฏิรูป ปชป." เดิมพันสูง"ชนะเลือกตั้ง"

วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 09:25:26 น.
 
สัมภาษณ์พิเศษ โดย บุษยา แก้วกำพล

หมายเหตุ - นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และรองหัวหน้า ปชป. ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" ถึงแนวทางการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ ภายหลังการประชุมกับคณะกรรมการบริหารพรรคครั้งล่าสุด รวมทั้งกระแสข่าวการตั้งพรรคทางเลือกที่สามหากการปฏิรูปพรรคไม่สำเร็จ

กรณีข่าวว่ามีกลุ่มเอกชนชวนให้ไปตั้งพรรคทางเลือกที่สาม

ความจริงมีมากกว่า 1 กลุ่มที่มาพูดคุยเรื่องการตั้งพรรคทางเลือกที่สาม ก็ได้ปฏิเสธไป เพราะยังเชื่อมั่นว่าพรรคประชาธิปัตย์จะสามารถปฏิรูปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาการเมืองในระบบพรรค

โอกาสของการเกิดพรรคทางเลือกที่สามจะสามารถเกิดขึ้นได้ แต่จะยังไม่สามารถก้าวสู่พรรคที่ได้เสียงข้างมากไปได้ แต่ก็ถือว่าเป็นความตั้งใจที่ดี เจตนาที่พร้อมกันเป็นแนวร่วม ซึ่งได้ให้คำแนะนำแลกเปลี่ยนกันหลายประการ แต่ในที่สุดเราก็พูดกันเล่นๆ ว่าแทนที่จะเป็นเขามาชวนผมไปตั้งพรรค แต่กลับกลายเป็นว่าผมชวนเขามาช่วยกันปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์เอง

ยืนยันว่ายังคงอยู่กับประชาธิปัตย์ไม่ไปไหน

จริงๆ ไม่เคยมีความคิดที่จะออกจาก ปชป.เลย เพราะว่าอยู่มา 22 ปี และเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคและเป็นรองหัวหน้าพรรค หน้าที่ผมคือผลักดันการปฏิรูปให้เกิดขึ้นจริง ให้ประชาธิปัตย์เป็นทางเลือกที่ดี และสามารถนำไปสู่ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปประเทศไทย ตรงนั้นคือความตั้งใจ แต่ก็ขอบคุณที่เชื้อเชิญ ยืนยันอยู่กับประชาธิปัตย์ เพราะภารกิจยังไม่เสร็จสิ้น

หากภารกิจปฏิรูปไม่เป็นไปตามที่ต้องการพรรคทางเลือกที่สามยังเป็นไปได้หรือไม่

โอกาสของความสำเร็จในการปฏิรูปยังมีอยู่ ขณะนี้คณะกรรมการบริหาร เห็นด้วยกับการปฏิรูป ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารได้เห็นชอบโครงสร้างปฏิรูปของพรรค ซึ่งถือว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญ โดยที่สัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารอีก ซึ่งเป็นการประชุมในเรื่องของโครงสร้างการบริหารและการจัดการวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้ครบองค์ประกอบในการปฏิรูปพรรคแบบองค์รวม

ภาพที่ออกมาเหมือนมีการให้อำนาจหัวหน้าพรรคมากขึ้นแทนที่สมาชิกพรรคจะได้เข้าไปมีส่วนร่วม

คงเป็นความเข้าใจผิดในการตีความมากกว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าดูกันเพียงบางประเด็น แต่จริงๆ แล้วโครงสร้างตามมติถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยที่การปฏิรูปโครงสร้างดังกล่าวได้มีการออกแบบในองค์รวมของพรรค ว่าควรที่จะออกแบบโครงสร้างพรรคอย่างไร เพื่อจะให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และเปิดกว้างมากขึ้น จึงได้ออกแบบให้คณะกรรมการบริหาร มีภาวะความเป็นผู้นำเข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะหัวหน้าพรรค โดยมีหลักประกันว่าในโครงสร้างใหม่นั้นหัวหน้าพรรคจะต้องคุมเสียงข้างมากในกรรมการบริหาร ซึ่งจะสามารถทำให้นำพรรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนั้นได้มีการจัดตั้งโครงสร้างใหม่ของพรรคขึ้น เช่น คณะกรรมการปฏิบัติการพื้นที่ หรือคณะกรรมการโซน จะทำให้มี ส.ส.ในพื้นที่มากขึ้น และการจัดตั้งสมัชชาประชาธิปัตย์ เปิดกว้างให้ประชาชน องค์กรสนับสนุนพรรคเข้ามีส่วนร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ และปรับโครงสร้างสภาที่ปรึกษาให้มีบทบาทที่ชัดเจน จัดโครงสร้าง เปิดกว้างให้มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ

เป็นการเปิดพรรคให้กว้างนำความรู้วิสัยทัศน์ใหม่ๆ ความเชี่ยวชาญเข้ามาสู่สภาที่ปรึกษา ดังนั้น การออกแบบโครงสร้างครั้งนี้จึงเป็นการออกแบบ แบบองค์รวม ไม่ใช่ตัดแปะต่อเติม แต่เนื่องจากว่า
การแถลงผลการประชุมอาจไม่ได้อธิบายเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ตรงนี้จึงเป็นความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อน ว่าเป็นเรื่องของการให้อำนาจหัวหน้ามากขึ้นและไม่เปิดกว้าง ไม่ยอมรับแนวทางปฏิรูป
ไม่ใช่เป็นแบบนั้น

มีข่าวคนในพรรคมีแผนที่จะทำลายการปฏิรูป

ความจริงประเด็นเรื่องการปฏิรูปมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เป็นจริงอย่างที่นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก ได้พูดถึง เพียงแต่ว่าการประชุมล่าสุดได้ข้อยุติ ยืนยันว่าหัวหน้าพรรค เลขาฯ และผม
เดินบนถนนเส้นเดียวกันในการปฏิรูปพรรค อย่ามองเรื่องความเห็นต่างเป็นความแตกแยก และเป้าหมายที่เห็นต่างจะต้องมีแนวทางที่ทำให้คนเห็นด้วยไปในแนวทางเดียวกันให้มากที่สุด นี่คือสิ่งที่พยายามที่จะทำให้เกิดขึ้นและจะเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่จะเข้มแข็งต่อไปในภายหน้า ดังนั้นขอเวลาให้พรรคประชาธิปัตย์ในช่วงเวลาของการปรับเปลี่ยน และจะไม่มีเรื่องของการจัดตั้งพรรคใหม่  ไม่มีการลาออกจากพรรค ไม่ทราบว่าข่าวนี้ออกมาได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม กลุ่ม ส.ส. และสมาชิกพรรคที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปก็ยังพบปะพูดคุยเพื่ออัพเดตการปฏิรูป แต่ไม่ใช่พบปะเพื่อตั้งพรรคใหม่ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์

มีเสียงสะท้อนจากนักวิชาการว่าการปฏิรูปอาจจะไม่เป็นรูปธรรม

คิดว่าการประชุมครั้งหลังสุดเป็นก้าวสำคัญ เป็นหนึ่งในสามที่จะต้องเดินหน้าในการปฏิรูปต่อไป แน่นอนว่ายากกว่าปฏิรูปโครงสร้าง ดังนั้น ข้อวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งที่รับฟังได้ แต่อาจไม่ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน แต่การปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในองค์กรพรรคอย่างประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่มา 68 ปี แน่นอนว่ามีความหลากหลาย มีทั้งคนเห็นด้วยไม่เห็นด้วย แต่ในที่สุดคณะกรรมการบริหารสูงสุดของพรรคตัดสินใจเดินหน้าแล้ว

ภาพที่ออกมาดูเหมือนขัดแย้งกันเช่นข้อความที่ได้ทวิตเตอร์ออกมา

คิดว่านั่นคือความเข้าใจผิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ ถ้าได้ทราบข้อเท็จจริงแล้วจะเข้าใจว่าวันนี้แล้ว พรรคประชาธิปัตย์กำลังเดินหน้าเข้าสู่การปฏิรูป ต้องเข้าใจว่าความแตกต่างทางความคิดไม่ใช่ความแตกแยก วาระการปฏิรูปพรรคเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก แน่นอนว่าจะหวังให้คนเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์เข้าใจว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าในชั้นผู้นำพรรคขณะนี้ได้เห็นพ้องต้องกัน และต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำต่อไป

ปฏิรูป ปชป.จะใช้เวลาเท่าไร หากมีการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่จะชนะหรือไม่

เป็นคำถามที่ดีมาก ในการหารือกับหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการครั้งล่าสุด ได้กำหนดการไว้ว่า ปลายเดือนตุลาคมนี้จะนำร่างข้อบังคับใหม่เสนอที่ประชุมร่วมส.ส.และคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้นก็จะมีการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี เพื่อให้รับรองโครงสร้างใหม่ และมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร คาดว่าน่าจะเป็นภายเดือนพฤศจิกายน หรืออย่างช้าก็ภายในเดือนธันวาคม หลังจากนั้นเมื่อมีการปรับพรรคใหม่แล้ว เชื่อว่าจะมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลางน่าจะได้ ส.ส.มากขึ้น ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ที่แพ้เลือกตั้งมาถึง 21 ปี อาจมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง ในขณะเดียวกันรัฐบาลที่ดูเหมือนแข็งแกร่งแต่ก็ยังมีจุดอ่อนที่มีโอกาสที่อาจจะแพ้การเลือกตั้งครั้งต่อไป

จุดอ่อนของรัฐบาลที่ว่าคืออะไร

การบริหารที่ผิดพลาด โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ เป็นยุคที่ข้าวยากหมากแพงอย่างไร้เหตุผลมาก เพราะการบริหารที่ขาดการดูแลควบคุมราคาและคุณภาพสินค้า ท้ายที่สุดกลับเป็นการสร้างปัญหาให้ราคาสินค้าแพงมากขึ้น และที่สำคัญปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นมากมาย ตรงนี้เป็นจุดอ่อนมากที่จะทำให้รัฐบาลแพ้การเลือกตั้ง เพราะจะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในฝีมือการบริหารจัดการ และขาดความเชื่อมั่นในการซื่อสัตย์สุจริต และที่สำคัญขาดความเชื่อมั่นในโครงการประชานิยมแบบสุดโต่ง ที่กำลังเป็นหอกข้างแคร่ กำลังจะทำให้รัฐบาลนั้นไม่สามารถเรียกความเชื่อถือศรัทธาในการบริหารประเทศกลับมาได้ ในขณะที่การบริหารจัดการของรัฐบาลยังเป็นการบริหารจัดการแบบครอบครัว ขาดความร่วมมือของ ส.ส.และสมาชิกพรรค

มองว่าการตั้งพรรคทางเลือกที่สามจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับประชาชนได้อย่างไร

มีการเคลื่อนไหวจริงในการก่อตั้งพรรคทางเลือกที่สาม ถือว่าเป็นเจตนาที่ดีต่อประเทศชาติเพราะว่าเขาสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกสิ้นหวังต่อระบบการเมืองไทย และพรรคการเมืองในปัจจุบัน และเห็นว่าพรรคการเมืองไม่ได้ตอบสนองผลประโยชน์ของส่วนรวมและปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นมาก รวมทั้งการกำหนดนโยบายที่เล็งเห็นเฉพาะหน้าเพื่อชนะในการเลือกตั้ง ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืนในระยะยาว ดังนั้น จึงคิดว่าน่าจะมีทางเลือกใหม่ให้กับประชาชน ซึ่งเห็นว่าก็เป็นทางเลือกที่ดีกับประชาชน แต่ให้ความเห็นไปแล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์กำลังเดินหน้าสู่การปฏิรูป ดังนั้น จึงขอให้มาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เห็นว่าหากพรรคปฏิรูปได้ตามข้อเสนอ ก็จะมาร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ คิดว่าทุกคนมีอิสระในการตัดสินใจ สิ่งสำคัญก็คือกำลังปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์เพื่อเป็นทางเลือกที่ดีกว่า


(ที่มา:มติชนรายวัน 14 ต.ค.2556)

ไม่มีความคิดเห็น: