PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2556

บทบาท'ทปอ.'กับข้อสงสัยของ'ประชาชน'

การเมือง : ข่าวทั่วไป
วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2556

บทบาท'ทปอ.'กับข้อสงสัยของ'ประชาชน' : กระดานความคิด โดยว่าที่ร้อนเอกเภสัชกร ดร.วฤษฏิ์ อินทร์มา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย มศว

              ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ออกแถลงการณ์เพื่อเสนอทางออกให้กับประเทศไทย โดยมีถ้อยแถลงบางประการที่อาจจะดูสุ่มเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่า "เข้าข้าง" ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เช่น การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียุบสภา
              และแน่นอน เมื่อถ้อยแถลงดังกล่าวซึ่งอาจจะดูเหมือนเอนเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่งได้ออกสู่สาธารณชน ผู้ที่เห็นต่างจาก ทปอ. โดยเฉพาะนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา จึงออกมาแสดงจุดยืน เรียกร้อง "ความเป็นกลาง" จาก ทปอ. และยังแสดงออกอย่างชัดแจ้งว่าอธิการบดีจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่ร่วมประชุม ทปอ. นั้น ไม่ได้รับฟังความเห็นของประชาคมในสถาบันของตน ก่อให้เกิดความสงสัยเกิดขึ้นว่า "บทบาทของ ทปอ. คืออะไร มีอำนาจหน้าที่อย่างไร และเป็นตัวแทนนักวิชาการใช่หรือไม่" 
              โดยพื้นฐานแล้วตำแหน่ง "อธิการบดี" นั้นเทียบเท่า "อธิบดี"  ซึ่งเดิมเป็นข้าราชการระดับ 10  และต้องได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยในการทำกิจการทั้งปวงตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายตามกฎหมายก่อตั้งสถาบันการศึกษา
              อธิการบดีนั้นได้มาโดยการสรรหาของสภามหาวิทยาลัยซึ่งมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันในเกือบทุกมหาวิทยาลัย โดยมีวาระ 4  ปี และดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ อธิการบดีเป็นตำแหน่งการเมือง อาจจะดูเหมือนเป็น "นายกรัฐมนตรี"  ในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีอำนาจการบริหารกิจการทั้งปวงแต่ไม่รวมถึงงานด้านวิชาการ เพราะงานทางวิชาการนั้นจะดูแลโดยสภาวิชาการซึ่งส่วนมากเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางซึ่งอธิการบดีไม่สามารถเข้าแทรกแซงได้ ดังนั้นอธิการบดีจึงเป็นผู้แทนในการใช้อำนาจทางบริหารของสถาบันเท่านั้น "ไม่ใช่ตัวแทนทางวิชาการของสถาบัน" 
              และเมื่ออธิการบดีซึ่งเป็นองค์ประชุมของ ทปอ. เป็นเพียงตัวแทนอำนาจทางบริหารของสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น ก็ย่อมส่งผลว่า "ทปอ. ไม่ได้เป็นตัวแทนทางวิชาการของประชาคมในสถาบันอุดมศึกษา"  ดังนั้นแถลงการณ์ของ ทปอ. สะท้อนเพียงบทบาทของผู้บริหารของสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น และเมื่อเป็นบทบาทของผู้บริหารก็ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่อธิการบดีจะแสดงออกในเชิงบริหารได้ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือผ่าน ทปอ. ไม่จำเป็นที่ต้องรับฟังความเห็นของประชาชนในสถาบันของตน แต่หากจะรับฟังก็เป็นดุลยพินิจที่อธิการบดีจะรับโดยสมัครใจเท่านั้น
              เมื่ออธิการบดีใช้อำนาจของตนผ่าน ทปอ. และยินดีเข้าผูกพันต่อมติ ทปอ. ก็เป็นการผูกพันในขอบเขตอำนาจของอธิการบดีเท่านั้น และอธิการบดีเองต้องนำเอามติ ทปอ. มาปรับให้เป็นมาตรการที่ปฏิบัติได้ในสถาบันอุดมศึกษาที่ตนเป็นผู้บริหาร
              และดังที่กล่าวมาแล้ว มาตรการนั้นเป็นเพียงมาตรการในการบริหารเท่านั้น ไม่ใช่การกระทำในทางวิชาการแต่อย่างใด แต่ความน่าสับสนที่เกิดขึ้นนั้นมักจะมาจากการที่ "อธิการบดี"  เป็น "นักวิชาการ"  เมื่อแสดงออกมาจึงเกิดความสับสนว่าอธิการบดีท่านนั้น กล่าวในฐานะใด จะกล่าวในฐานะ "ผู้บริหาร"  หรือ "นักวิชาการ"  เพราะจะเป็นเหตุแห่งการโต้แย้ง เพราะหากจะโต้แย้ง "อธิการบดี"   จะเป็นการโต้แย้งที่อำนาจว่ากระทำนอกกรอบหรือไม่ และเหมาะสมหรือไม่  ต่หากจะโต้แย้ง "นักวิชาการ"  จะเป็นการโต้แย้งในเชิงทฤษฎี หากอธิการบดีแสดงตัวไม่ชัดเจนย่อมต้องถูกโจมตีจากทั้ง ๒ ฝ่าย อันจะยิ่งสร้างความสับสนให้กับประชาชน
              ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการคือ ทปอ. เป็นที่ประชุมของอธิการบดี 27 สถาบัน ซึ่งเสมือน “27 อธิบดี” เป็นผู้บริหารระดับสูงที่มีอิสระทางความคิด โดยไม่ถูกครอบงำจากฝ่ายรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาไม่สามารถสั่งการบังคับบัญชาโดยตรงได้ ดังนั้น ทปอ. จึงเป็นผู้บริหารที่ "กล้าพูด"  และ "กล้าสวนทาง"  กับผู้มีอำนาจได้
              การกระทำของ ทปอ. เมื่อ ทปอ. คิดอย่างไรจึงควรจะแสดงออกอย่างนั้น จะเข้าข้างใดก็จำเป็นต้องแสดงออก ถ้าพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ทปอ. จึงดูแข็งขืนต่ออำนาจรัฐ ซึ่งเป็นจุดยั่วยวนให้ผู้ที่นิยมชมชอบฝ่ายอำนาจรัฐเข้าโจมตี ดังนั้นเมื่อถูกเรียกร้องจากนักวิชาการให้แสดงออกถึงความเป็นกลาง จึงทำให้ประโยชน์เรื่องการแสดงออกอย่าง "อิสระ"  และ "กล้าฟัน"  ของ ทปอ. แทบจะไร้ค่าไปเลยทีเดียว
              สุดท้ายบทบาทของ ทปอ. ต่อทางออกของประเทศ จะเป็นเพียงเสียงกระซิบหรือเป็นเสียงตะโกนป่าวประกาศขึ้นอยู่กับว่า "ตรรกของผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา"  นั้น จะเป็นเหตุเป็นผลมากเพียงใด มากเพียงพอที่จะขยายความต่อหรือไม่ หรือแค่สักแต่ได้ยินแล้วจบไป ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเอง

.................

(หมายเหตุ : บทบาท'ทปอ.'กับข้อสงสัยของ'ประชาชน' : กระดานความคิด โดยว่าที่ร้อยเอกเภสัชกร ดร.วฤษฏิ์ อินทร์มา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย มศว)

ไม่มีความคิดเห็น: