PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

แกะรอย'โต๊ะเจรจา'หยุดวิกฤติการเมืองก่อนพัง

การเมือง : ข่าวทั่วไป
วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557

แกะรอย'โต๊ะเจรจา'หยุดวิกฤติการเมืองก่อนพัง

แกะรอย'โต๊ะเจรจา' หยุดวิกฤติการเมืองก่อนพัง : ปกรณ์ พึ่งเนตรรายงาน

               จังหวะก้าวทางการเมืองหลังวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 อันเป็นวันจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไปซึ่งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยยืนยันหัวเด็ดตีนขาด ว่าถึงอย่างไรก็เลื่อนไม่ได้ด้วยประการทั้งปวงนั้น ได้นำพาสถานการณ์บ้านเมืองเดินเข้าสู่จุดอับของทุกฝ่าย

               รัฐบาลรักษาการที่นำโดยพรรคเพื่อไทย แม้จะได้ภาพความชอบธรรมจากการหย่อนบัตรเลือกตั้งตามกติกาประชาธิปไตยไปนอนกอด ทว่าก็ประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการไม่ได้ เปิดสภาไม่ได้ เลือกนายกฯ ก็ไม่ได้ และตั้งรัฐบาลชุดใหม่ไม่ได้

               ขณะที่ฝ่าย กปปส. หรือคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แม้จะชุมนุมกดดันจนการเลือกตั้งไม่สมบูรณ์ ชัตดาวน์จนการบริหารราชการแผ่นดินพิกลพิการ แต่ก็ไม่สามารถบีบให้รัฐบาลรักษาการหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้

               การณ์กลับกลายเป็นว่า กปปส.ต้องหาทุนจัดม็อบตั้งเวทีแบบยืดยาวไม่รู้จบ เพราะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็จะอยู่รักษาการแบบไม่สนอะไรทั้งนั้น แม้จะมีกรณีชี้มูลความผิดโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รออยู่ในประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิชอบ โดยมีสมาชิกรัฐสภาเข้าคิวขึ้นเขียงถูกถอดถอนถึง 308 คนก็ตาม

               เพราะเซียนกฎหมายอย่าง โภคิน พลกุล จากคณะทำงานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ชี้ช่องว่ายังมีประเด็นต้องตีความกันอีกมาก โดยเฉพาะเสียงของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่จะใช้ยื่นถอดถอนจำนวน 3 ใน 5 เท่าที่มีอยู่นั้น หมายถึงอะไรกันแน่ ส.ว.ที่ถูกชี้มูลความผิดและต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ต้องรับรวมเป็น ส.ว.เท่าที่มีอยู่หรือไม่ และเสียงที่จะใช้ถอดถอนจริงๆ ควรเป็นเท่าไร

               แต่แม้จะถูกถอดถอน รัฐบาลรักษาการของพรรคเพื่อไทยก็ยังคงอยู่ เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีชื่อถูกชี้มูลความผิดกรณีนี้ และถึงจะมีกรณีอื่น ตัวนายกฯ รักษาการก็เปลี่ยนเอารัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น ส.ส.มาปฏิบัติหน้าที่แทนได้อยู่ดี

               นี่คือข้อได้เปรียบของรัฐบาลที่กอดความชอบธรรมจากกติกาประชาธิปไตยเรื่องการเลือกตั้ง...

               แต่จุดอ่อนที่เปราะบางที่สุดของรัฐบาล คือ "กรณีทุจริตจำนำข้าว" ซึ่งว่ากันว่าอย่างไรเสีย นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คงหนีความรับผิดชอบไม่พ้น แม้จะมีเซียนกฎหมายในพรรคเพื่อไทยพยายามตีความว่าหลักฐานไปไม่ถึงก็ตามที

               ขณะที่จุดเปราะบางของฝ่าย กปปส. นอกจากการรักษาระดับการชุมนุมเอาไว้ให้นานที่สุด ซึ่งถือเป็นงานหินอย่างยิ่งแล้ว ยังมีเรื่องการรักษาเนื้อรักษาตัวไม่ให้ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีอำนาจเต็มตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มที่โดนข้อหากบฏ เพราะหากพลาดถูกจับ โอกาสที่จะไม่ได้ประกันตัวยาวมีสูงอย่างมาก ถึงขั้นต้องเดินคอตกเข้าเรือนจำหลังผ่านการควบคุมตัว 30 วันแรกตามอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

               ด้วยข้อจำกัดของ "คู่ขัดแย้งหลัก" ซึ่งชัดเจนว่าไม่มีฝ่ายใดเอาชนะเหนืออีกฝ่ายได้อย่างเด็ดขาด และสถานการณ์มีแนวโน้มยืดเยื้อเกินครึ่งปี ส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศอย่างมหาศาล แรงกดดันจากทุกฝ่ายย่อมถาโถมเข้าใส่ทั้งรัฐบาล และ กปปส. ฉะนั้นการ "พูดคุยเจรจา" เพื่อหาทางออกที่ยังพอมีต้องเกิดขึ้น

               ที่ผ่านมามีความพยายามของกองทัพที่จะเข้ามาเป็นกาวใจ รวมทั้งการแสดงบทบาทของอดีตขุนพลบูรพาพยัคฆ์ระดับ "พี่ใหญ่" และ "พี่รอง" อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

               ตามด้วยเครือข่ายภาคธุรกิจ 7 องค์กร ที่เสนอตัวตั้งเวทีกลาง แต่ก็ถูกเมินจากคู่ขัดแย้งหลัก

               แต่นั่นเป็นความพยายามช่วงก่อนการเลือกตั้ง และก่อนที่สถานการณ์จะปรากฏชัดว่ากำลังเดินไปสู่ "เดดล็อก" จริงๆ เช่นวันนี้

               ล่าสุดจึงมีข้อมูลยืนยันค่อนข้างชัดเจนว่า มีการเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างตัวแทนของคู่ขัดแย้งหลักทั้ง 2 ฝ่าย โดยมีผู้ใหญ่ระดับสูงในบ้านเมืองเป็นผู้อำนวยความสะดวก

               วงพูดคุยมีบุคคลเข้าร่วมอย่างน้อย 5 คน คือ ผู้ใหญ่ระดับสูงในบ้านเมือง อดีตนายทหารยศ "พลเอก" สายบูรพาพยัคฆ์ แต่เป็นรุ่นใหญ่กว่า "2 ป." พี่ใหญ่กับพี่รองที่เอ่ยถึงข้างบน ส่วนฝ่ายการเมืองที่อาจถือเป็นตัวแทนของคู่ขัดแย้งหลัก ก็คือ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งสนิทสนมใกล้ชิดและเป็นดองกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ขณะที่อีกรายคือ วัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ที่ต่อสายถึง "คนทางไกล" ได้

               ส่วนคนที่ 5 บนโต๊ะเจรจา ข่าวยังค่อนข้างสับสนหลายกระแส บ้างก็ว่าเป็น วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลายรัฐบาล รวมทั้งรัฐบาลของ 2 ขั้วขัดแย้ง

               การเจรจาโต๊ะนี้มีมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือเมื่อวันศุกร์หรือเสาร์ที่ผ่านมานี้เอง...

               ข้อยุติเบื้องต้นมี 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1.จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล โดยบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อว่าเหมาะสม คือ วิษณุ เครืองาม ยังไม่ชัดว่าจะให้เป็น "นายกฯ คนกลาง" หรือทำหน้าที่ "คนกลาง" ไปประสานตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลกันแน่

               2.ถ้าคู่ขัดแย้งหลักตกลง จะหาช่องช่วยเหลือเรื่องคดีที่พัวพันกันยุ่งอีนุงตุงนัง ทั้งข้อหากบฏของแกนนำ กปปส. และคดีที่พัวพันไปถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

               ว่ากันว่าฝ่าย วัฒนา เมืองสุข ได้นำข้อเสนอไปบอกกับ "คนทางไกล" แล้ว แต่ฝั่งนั้นก็มีเงื่อนไขกลับมาบางประการ รวมทั้งเงื่อนไขจากพรรคเพื่อไทยด้วย ขณะที่ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ได้ไปคุยนอกรอบกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ และสุเทพได้เรียกประชุมแกนนำ กปปส.ล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ เพื่อหารือประเด็นนี้

               แม้ผลจะยังไม่ปรากฏชัด แต่ "วงใน" แนะให้จับตาดูสถานการณ์ความรุนแรงที่ลดระดับลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงนี้ โดยเฉพาะ "เอ็ม 79" และ "ระเบิด" ดูจะหยุดทำงานชั่วคราว

               ขณะที่คดีสำคัญ "เลือกตั้งเป็นโมฆะ" ที่อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น ล่าสุดศาลมีมติไม่รับคำร้อง รวมทั้งยกคำร้องของพรรคเพื่อไทยที่กล่าวหา สุเทพ เทือกสุบรรณ และพวกกระทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่าด้วยการได้อำนาจการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย

               นักสังเกตการณ์การเมืองหลายรายเชื่อว่า นี่อาจเป็นสัญญาณดีๆ จากโต๊ะเจรจา หรือการพักรบชั่วคราวเพื่อรอพิจารณาเงื่อนไขของแต่ละฝ่าย!
............................................
(หมายเหตุ : แกะรอย'โต๊ะเจรจา' หยุดวิกฤติการเมืองก่อนพัง : ปกรณ์ พึ่งเนตรรายงาน)
 

ไม่มีความคิดเห็น: