PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2557

แก้วสรร อติโพธิ:โร๊ดแม๊พ คสช. ฉบับที่ ๒ ?

โร๊ดแม๊พ คสช. ฉบับที่ ๒ ?
แก้วสรร อติโพธิ
วันสองวันมานี้ มีข่าวในหนังสือพิมพ์ทั่วไปว่า นายสุนัย จุลพงศธร แกนนำระบอบชินวัตรที่กำลังหนีคดีอยู่ต่างประเทศ ได้ออกมาชี้บ่งโวยวายว่า คสช.ได้ถูกบุคคลลึกลับระดับสูงบงการให้สืบอำนาจต่อไปอีกหลายปี หาใช่อยู่ไปแค่ปีครึ่งแล้วหายไปแต่อย่างใดไม่
ปัญหาว่าข่าวนี้มีมูลความจริงหรือไม่ คนอย่างเราๆท่านๆก็ไม่มีใครรู้ได้ แต่ถ้าจะถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่นั้น ก็มีข้อพิจารณาทางกฎหมายที่น่าสนใจปรากฏอยู่บ้างในธรรมนูญการปกครองฉบับปัจจุบัน ที่ผมจะขอรายงานในทำนองปุจฉา – วิสัชนาไปโดยลำดับดังนี้
ถาม ตามกฎหมายแล้ว ระบอบ คสช.จะอยู่กี่ปีกันแน่
ตอบ เขาไม่ได้กำหนดเป็นเงื่อนเวลาไว้ว่ากี่ปีครับ แต่กำหนดเป็นเงื่อนไขว่าจะพ้นไปก็ต่อเมื่อ“ได้การปกครองใหม่ตามรัฐธรรมนูญใหม่” ดังนั้นเราจึงต้องรอให้ได้รัฐธรรมนูญใหม่ก่อน แล้วจึงดูบทเฉพาะกาลว่าจะใช้เวลาให้เกิดการปกครองใหม่อีกกี่เดือน
ถาม กำหนดอย่างนี้แล้ว เราจะได้รัฐธรรมนูญใหม่เมื่อใด
ตอบ เขาระบุขั้นตอนเป็นลำดับไปดังนี้ครับ
๑) ได้สภาปฏิรูปก่อน ( ภายในกันยา ๕๗?)
๒) ได้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญใน ๑๕ วันหลังจากสภาปฏิรูปประชุมครั้งแรก
๓) สภาปฏิรูปเสนอความเห็นในแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญต่อคณะกรรมาธิการยกร่าง ภายใน๖๐ วัน
๔) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จเป็นต้นร่าง ใน ๑๒๐ วัน โดยนำความเห็นสภาปฏิรูป, ครม.และ สนช. มาประกอบการพิจารณา แล้วส่งให้สภาปฏิรูปให้ความเห็นแก้ไขเพิ่มเติม
๕) สภาปฏิรูปประชุมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในนามสภาใน ๑๐ วัน ส่วนสมาชิกเป็นรายบุคคลเสนอแก้ไขเป็นรายมาตราได้ใน ๓๐ วัน
๖) คณะกรรมาธิการมีเวลาทบทวนปรับแก้ ๖๐ วัน แล้วส่งร่างฉบับสุดท้ายให้สภาปฏิรูป
๗) สภาปฏิรูปประชุมใน ๑๕ วัน เพื่อมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ
เวลาทั้งหมดนี้ผมประเมินแล้ว กว่าจะได้มติ ข้อ ๗) ก็น่าจะประมาณ ๑๑ เดือนนับจากนี้
ถาม ถ้าสภาปฏิรูปไม่เห็นชอบ ผลจะเป็นอย่างไร
ตอบ ก็ต้องกลับไปเริ่มหาสภาปฎิรูปใหม่ แล้วเลือกกรรมาธิการยกร่างใหม่ นับหนึ่งกันใหม่ เสียเวลาอีกเป็นปี กว่าจะได้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่มาโหวตกันอีก
ถาม แล้วถ้าสภาปฏิรูปเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ล่ะครับ
ตอบ ถ้าในหลวงท่านทรงลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้ได้ เราก็คงต้องใช้เวลาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและจัดการจัดตั้งระบอบใหม่อีกระยะหนึ่งประมาณ ๖ – ๗ เดือน สรุปแล้วถ้าไม่มีอะไรขัดข้อง ระบอบ คสช.ก็น่าจะหายหน้าพ้นไปภายในปีครึ่งนับจากนี้ครับ
ถาม “ถ้าไม่มีอะไรขัดข้อง” นี่ หมายถึงทุกฝ่ายสามารถเห็นพ้องต้องกันในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญใช่ไหม
ตอบ ใช่ครับ หนทางที่ระบอบ คสช.จะอยู่ยาวได้ ก็คือมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วคว่ำไปเรื่อยๆ รอบหนึ่งก็ใช้เวลาประมาณ ๑ ปี ถ้าจะอยู่ ๔ ปี ก็ต้องคว่ำสักสี่ร่าง
ถาม ประเทศนี้..ก็บ้ากันพอดี
ตอบ แค่รอบเดียวผมก็ว่าคงไม่เอากันต่อไปแล้ว คสช.อาจต้องแก้ไขธรรมนูญการปกครองใหม่ สร้าง”โร๊ดแม๊พ ฉบับที่ ๒” เลยก็ได้ว่า จะเอาอย่างไร
ถาม ถ้าไปถึงตรงนั้นจริงๆ มีทางไหมที่ คสช.จะอยู่ยาวโดยอ้างการปฏิรูประยะยาวไปเลย
ตอบ เป็นไปได้ทุกอย่างทั้งในทางการเมืองและกฎหมาย ทุกวันนี้ก็มีเสียงเรียกร้องให้ คสช.อยู่นานๆแล้วไม่ใช่หรือครับ นี่ยิ่งจะไปตั้ง คสช.เพิ่มเติมอีก คนเขาก็ยิ่งคิดไปได้อีกว่าถ้าจะอยู่ยาวแน่
ถาม ทำไม คสช.จึงวางโร๊ดแม๊พฉบับที่ ๑ ไว้ไม่แน่นอนอย่างนี้
ตอบ ถ้าไปถามอาจารย์วิษณุ เครืองาม ท่านก็อาจตอบว่าต้องเขียนกฎหมายเปิดทางไว้เพราะอาจขัดแย้งกันในร่างรัฐธรรมนูญใหม่จนต้องเริ่มใหม่ก็ได้ ถ้าไปถามนายสุนัย เขาก็ต้องตอบว่า ทุกองค์กร ทั้ง สนช.,สภาปฎิรูป,คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ล้วนมาจากอำนาจ คสช.ทั้งนั้น คสช.จะสั่งให้เห็นอย่างไรก็ได้ แล้วมาเขียนสร้างช่องทางทำเป็นลิเกไว้ทำไม แท้ที่จริงมันเป็นเรื่องเตรียมการยืดเวลาครองอำนาจสร้าง “โร๊ดแม๊พ ฉบับที่ ๒” ซ่อนไว้ตั้งแต่แรกแล้ว
ถาม อาจารย์เชื่อใคร ?
ตอบ ขณะนี้ผมไม่เชื่อใครทั้งนั้น...ได้แต่มองเห็นว่าในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่วางไว้นี้ โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งมีสูงมาก ขึ้นต้นมาเมื่อได้สภาปฏิรูป สภาก็ต้องเร่งลุยเลยเพราะต้องเสนอความเห็นใน ๒ เดือน ส่งไปแล้ว คณะกรรมาธิการยกร่างก็ต้องร่างให้เสร็จใน ๔ เดือน แล้วให้สภาปฏิรูปเสนอแปรญัตติแก้ไขได้อีก ๑ เดือน และกรรมาธิการต้องทบทวนให้เสร็จใน ๒ เดือน ในเวลาเร่งรัดอย่างนี้ มันสร้างจุดร่วมได้ยาก ทั้งในองค์กรและระหว่างองค์กรเอง
ถาม เรื่องมันยุ่งยากเห็นต่างกันได้มากนักหรือครับ
ตอบ เยอะนะครับ..จะให้เลือก นายกฯโดยตรงไหม, สส.ต้องสังกัดพรรคไหม, ยังจะให้มี สส.บัญชีรายชื่อ หรือมี สว.อยู่อีกไหม, สว.มาจากไหน, องค์กรสืบสานการปฏิรูป ๑๐องค์กรจะมีบทบาทอย่างไร มาจากไหน เสนอตั้งกองทุน ๑๐ กอง ตัดเงินภาษีหรือเงินกองสลาก มาอุดหนุนปีละเป็นพันล้านเลย จะเอาไหม และในบรรดาสมาชิกสภาปฏิรูป นี้ใครจะได้มานั่งองค์กรนี้บ้าง ฯ
ทั้งหมดนี้เรื่องยุ่งๆมันมารวมกันยุ่งทั้งนั้น..นี่ถ้ารวมแรงผลักดันยัดเยียดกรอบปฏิรูป ๑๑ เรื่องลงไปในรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว ยิ่งยุ่งหลายเด้งเลยแน่ๆ
ถาม ตรงไหนของธรรมนูญ ที่เปิดช่องให้สมาชิกสภาปฏิรูปสืบบทบาทปฏิรูปต่อไปได้แม้จะมีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว
ตอบ คุณไปดู มาตรา ๓๕( ๑๐) และ มาตรา ๓๙ สิครับ เขาเปิดช่องให้สร้างกลไกปฏิรูปเป็นการถาวร โดยบังคับไว้ในรัฐธรรมนูญเลย
ถาม อย่างนี้..รัฐบาลในระบอบใหม่ตามรัฐธรรมนูญใหม่คงต้องปวดหัวกับโร๊ดแม๊พปฏิรูป และองค์กรปฏิรูปเหล่านี้มาก
ตอบ มันไม่มีประเทศไหน ที่ตั้งสภาปฏิรูป ๒๕๐ คนขึ้นมาปฏิรูปบ้านเมืองทีเดียว ๑๑ เรื่องแล้วจบด้วยการยัดเยียดลงไปในกฎหมาย ภายในเวลา ๑ ปีอย่างนี้หรอกครับ
ถาม ทางสภาปฏิรูปเขาคงต้องพยายามทำความเข้าใจกับประชาชนในวงกว้างให้มากที่สุด
ตอบ มันไม่ใช่เรื่องประชุมกันตรัสรู้แล้วไปโปรดสัตว์ทำความเข้าใจให้ประชาชน..มันต้องมีการศึกษาหาปัญหาและสาเหตุอย่างลึกซึ้งแล้วจึงไปรับฟังปรึกษาผู้เกี่ยวข้องจริงๆก่อน ฟังแล้วก็นำมาขบคิดเสนอแนวทางปฏิรูปเบื้องต้นฟังคอมเมนต์กันอีกทีทั้งประชาชนทั่วไปและผู้เกี่ยวข้อง พอปรับแก้จนแล้วเสร็จเป็นยุทธศาสตร์พร้อมแผนปฏิบัติการ ก็นำไปขยายผลความเห็นพ้องไปให้ทั่ว ทำให้มันเป็นเช่นประชามติจริงๆ ทำให้ได้อย่างนี้ ให้มีน้ำหนักมีผลผูกพันทางการเมือง ให้นักการเมืองต้องเอามาคิดมาตอบกับประชาชนเองว่ายอมรับแนวทางปฏิรูปนี้หรือไม่
โดยสรุปคือในปีครึ่งนี้...คุณต้องสร้างมติมหาชนติดสังคมไว้ให้ได้ ไม่ใช่มาวี๊ดบึ้มสร้างเป็นกฎหมายผูกมัดการปฏิรูปใดหรือสร้างองค์กรตรัสรู้ใดๆไว้ในระบบ
ถาม ถ้าให้ทำเป็นมติมหาชนอย่างนี้ก็ทำทีเดียวทั้ง ๑๑ เรื่องไม่ได้
ตอบ ไม่มีทางครับ มันต้องเป็นปัญหาที่สุกงอมอยู่ในหัวใจประชาชน จนพร่ำรอการคิดใหม่ทำใหม่อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันกันจริงๆ เราจะไปเลือกทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ตามใจเราไม่ได้ แต่ถ้าทำเป็นกฎหมายและองค์กรปฏิรูปอย่างในธรรมนูญนี้ จะทำทีเดียว ๓๐ เรื่องก็ได้
ถาม อาจารย์ขึ้นเวที กปปส.มาเป็น ๑๐ ครั้ง ทราบไหมครับว่า กปปส.จะให้ปฏิรูปกี่เรื่อง
ตอบ ผมไม่ทราบว่าแกนนำเขาคิดกันอย่างไร แต่ในหมู่ประชาชนนั้นเขาต้องการปฏิรูปเพื่อเลือกตั้งใหม่แล้วไม่มีระบอบชินวัตรกลับมาเผด็จการบ้านเมืองได้อีก ด้วยเหตุนี้พลังชาว กปปส.เขาคงเหล่และติดตามเรื่องการปฏิรูปการเมืองและปราบคอร์รัปชั่นกันเป็นพิเศษ
ถาม สรุปแล้วถ้าปฏิรูปกันวุ่นวายไปหมดอย่างนี้ ในที่สุดเราอาจต้องเลือกตั้งโดยยังไม่มีการปฏิรูปอะไรจริงจังเลยก็ได้ใช่ไหม
ตอบ อาจ “ปฏิรูปแล้วเลือกตั้ง” หรือ “ไม่ปฏิรูปแล้วเลือกตั้ง” หรือ จัดระเบียบอะไรไปเรื่อยๆให้เพลินกันไปจนในที่สุดก็ “ไม่ปฏิรูป - ไม่เลือกตั้ง”เลยก็ยังได้
อย่างหลังนี้คุณว่ามันเป็นไปได้ไหม?

ไม่มีความคิดเห็น: