PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สมบัติ อัด บวรศักดิ์ บิดเบือน ซูเปอร์ ปธน.

สมบัติ" อัด "บวรศักดิ์" บิดเบือนสร้างวาทกรรม "ซูเปอร์ประธานาธิบดี" กับการเลือก"นายกฯ-ครม."ทางตรง "

        (22/12/57)นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึงกรณี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ มองว่าการเลือกนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี(ครม.)โดยตรง เป็นเหมือนซูเปอร์ประธานาธิบดี มีอำนาจล้นฟ้า ว่า ทางคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองทำตามหน้าที่ในการนำเสนอข้อคิดเห็นเพื่อการปฏิรูป ซึ่งแนวคิดที่เสนอไปแม้จะเป็นมติของเสียงข้างมากในคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป แต่เรื่องดังกล่าวเป็นการเข้าใจผิด องค์ประกอบของเนื้อหาที่คณะกรรมาธิการฯ นำเสนอ ไม่ได้ต้องการมี ซูเปอร์ประธานาธิบดี ซึ่งการพูดในลักษณะนี้ไม่เป็นธรรมกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และเป็นข้อกล่าวหาที่อันตรายมาก ตนยืนยันว่า การเลือกตั้งนายกฯโดยตรง มีกระบวนการตรวจสอบที่ดีกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะการแยกอำนาจการบริหารจะชัดเจนกว่าที่ผ่านมา
        ในกรณีเรื่องของซุปเปอร์ประธานาธิบดีนั้น ยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน เพราะตำแหน่งประธานาธิบดี คือการเรียกประมุขของประเทศ แต่ถ้าระบบประธานาธิบดี คือต้องเป็นประมุข
ของประเทศ และต้องเป็นหัวหน้ารัฐบาลด้วย ซึ่งประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้น ข้อเสนอการเลือกนายกฯโดยตรง จึงไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี หรือระบบซุปเปอร์ประธานาธิบดี
ตามที่มีนักวิชาการบางคนได้มีการระบุ
        นายสมบัติ กล่าวด้วยว่า กรณีที่นายบวรศักดิ์ ได้ตั้งคำถามถึงจุดเสี่ยงเกี่ยวกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ในประเด็นความเสี่ยงเชิงโครงสร้างที่ว่า ครม. ที่มาจากการเลือกตั้งตามข้อเสนอนี้ อาจมีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใช้ระบบแบ่งแยกอำนาจเด็ดขาด ที่จะเสนอกฎหมายไม่ได้ เสนองบประมาณไม่ได้ แต่ระบบที่เสนอเป็นระบบแบ่งแยกอำนาจเทียม เพราะห้าม ครม. เป็น ส.ส. และห้ามยุบสภา แต่ให้เสนอกฎหมายได้ ซึ่งเรื่องนี้ เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะที่ถูกต้องคือ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีอำนาจในการเสนอร่างกฎหมายงบประมาณต่อสภาได้ อีกทั้งกลไกและกระบวนการของระบบแบ่งแยกอำนาจนั้น จะแตกต่างจากกลไกของระบบรัฐสภา จึงต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า เมื่อยึดหลักแบ่งแยกอำนาจแล้ว ต้องออกแบบให้การตรวจสอบเพื่อกำจัดฝ่ายบริหารที่ประพฤติมิชอบให้มีประสิทธิภาพด้วย
        อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเหล่านี้ เป็นเพียงข้อเสนอที่พูดถึงหลักการ แต่ยังไม่ได้มีการลงไปในรายละเอียด เพราะเวลาในการจัดทำข้อเสนอมีจำกัด ก็เป็นไปได้ที่ข้อเสนอบางอย่างของคณะกรรมาธิการฯ จะถูกวิจารณ์ได้ ซึ่งตนก็เพียงทำหน้าที่ในการเสนอแนะ ส่วนจะกำหนดอยู่ในร่างหรือไม่อย่างไรนั้น ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกมธ.ยกร่างฯ ที่จะพิจารณา
     
       **เลือกนายกฯแบบเดิมซื้อเสียงง่าย
     
        ส่วนที่นายบวรศักดิ์ มีความเห็นว่า ข้อเสนอของทางกรรมาธิการฯ จะทำให้มีความขัดแย้งมากขึ้น และจะการทุ่มซื้อเสียงรุนแรงนั้น นายสมบัติ กล่าวว่าทางออกก็คือ จะมีการเลือกตั้งแยกออกจากการเลือกตั้งส.ส. และมีแนวทางไว้ว่า จะมีการเลือกตั้งในรอบที่สอง หากการเลือกตั้งในครั้งแรก ไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่ง จึงเป็นไปไม่ได้ ที่จะใครทุ่มซื้อเสียงทั้งสองรอบ โดยทางกมธ. มีแนวคิดว่า การซื้อส.ส.เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีง่ายกว่าการซื้อเสียงโดยตรงทั่วประเทศ
       "การพูดว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นระบบ ซุปเปอร์ประธานาธิบดี นั้น เป็นการใช้ข้อมูลที่ผิดมาสร้างวาทกรรม โดยใช้ศัพท์ทางวิชาการให้ดูน่าเชื่อถือเท่านั้น"
       ทั้งนี้ นายสมบัติ ยังกล่าวถึงข้อเสนอของกมธ.ปฏิรูปการเมือง ในส่วนขององค์กรอิสระ โดยจะมีการนำประเด็นปัญหาที่มีในอดีตมาแก้ไข เช่น กรณีการจัดการเลือกตั้งที่ไม่สามารถดำเนินการได้
มีข้อพิจารณาคือ ให้อำนาจกกต. ในการกำหนดวันเลือกตั้งได้เองโดยไม่ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณา นอกจากนั้นแล้ว ในเรื่องการพิจารณาคดีความที่เกี่ยวข้อง ที่ก่อนหน้านี้ต้องส่งศาล
ให้พิจารณา แต่ท้ายสุดศาลพิจารณาแล้วมีมติยกฟ้อง มีข้อเสนอให้พิจารณา อาทิ ศาลเลือกตั้ง เป็นต้น
       ส่วนที่ กกต. เตรียมดำเนินการเรียกค่าเสียหาย จากบุคคลที่ทำให้การเลือกตั้งส.ส. เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 57 เป็นโมฆะ มูลค่ารวมกว่า 3,000 ล้านบาทนั้น นายสมบัติ ขอไม่แสดงความเห็น โดยอ้างว่า
ตนถือว่า มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องดังกล่าว
       ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่สปช. เตรียมดำเนินการเรื่องการสร้างความปรองดอง โดยตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการปรองดองมาพิจารณา นายสมบัติ กล่าวว่า ในกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปการเรียนรู้ การปรองดอง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทาง ขณะเดียวกันทราบว่า สปช. และกมธ.ยกร่างฯ ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วย ส่วนตัวมองว่าในแนวทางการสร้างความปรองดอง ลดความขัดแย้ง ถือเป็นความพยายามที่ควรทำงานร่วมกัน
//////////////////////////
'เลือกนายกฯ'ไม่ใช่'ซูเปอร์ปธน.'

'สมบัติ' ซัด 'บวรศักดิ์' ให้ข้อมูลพลาด-สร้างความเข้าใจผิด กรณีเลือกตั้งนายกฯตรง เป็นระบบสร้างซูเปอร์ปธน. จี้ให้ทบทวนใหม่ พร้อมออกเอกสารชี้แจง 5 ประเด็นจุดเสี่ยง

                            22 ธ.ค. 57  นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง กล่าวระหว่างการประชุม สปช. ว่า ตนขอให้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบ และแก้ไขข้อมูล กรณีที่ระบุว่า ข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง ที่ให้เลือกนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีโดยตรง ถือเป็นรูปแบบที่ทำให้เกิดซูเปอร์ประธานาธิบดี โดยข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง ที่เสนอให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และสามารถนำเสนอกฎหมายงบประมาณได้ ขณะที่ ส.ส.กรณีจะเสนอกฎหมายการเงิน ต้องได้รับการรับรองจากนายกฯ ซึ่งถือเป็นหลักของการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งการให้ความเห็นของนายบวรศักดิ์ ว่าจะเป็นระบบซูเปอร์ประธานาธิบดีนั้น ยังถือว่าคลาดเคลื่อน ดังนั้นขอให้ตรวจสอบข้อมูลให้ตรง ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเข้าใจผิดได้

                            จากนั้นเวลา 11.15 น. นายสมบัติ พร้อม กมธ.ปฏิรูปการเมือง ทำเอกสารชี้แจงเพื่อตอบคำถามในประเด็น 5 จุดเสี่ยงของการเลือกนายกฯ และคณะรัฐมนตรีโดยตรง ตามที่นายบวร
ศักดิ์ ได้กล่าวในระหว่างการประชุม สปช. ซึ่งพิจารณาข้อเสนอและความเห็นในการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา แจกกับสื่อมวลชนโดยมีสาระสำคัญ คือ

                            จุดเสี่ยงที่ 1 ที่ระบุว่า การเลือกนายกฯ และ ครม.ตรง จะเป็นการเพิ่มความขัดแย้งในสังคม เพราะหากพรรคหนึ่งส่งหัวหน้าพรรค และคนสำคัญของพรรค 36 คน เพื่อเป็นบัญชีของผู้ที่จะเป็น ครม. หากไม่ได้รับเลือกตั้ง บัญชีคนสำคัญ 36 คนดังกล่าวอาจตกงานตลอด 4 ปี ขอชี้แจงว่า กรณีนี้มีทางออก คือ การกำหนดให้การเลือกตั้ง ครม. และ ส.ส. เป็นคนละวัน เช่นให้เลือกตั้งฝ่ายบริหารก่อน เมื่อทราบผลว่าทีมใดชนะ ให้เลือก ส.ส.ตามภายหลัง โดยทีมที่แพ้การเลือกตั้งฝ่ายบริหารสามารถส่งสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ได้ โดยการแพ้ชนะดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับความนิยมของแต่ละคน

                            จุดเสี่ยงที่ 2 ที่ระบุว่า การซื้อเสียงจะรุนแรง เพราะผู้ชนะกินรวบต้องลงทุนมหาศาล ขอชี้แจงว่า การเลือกตั้งฝ่ายบริหารที่กำหนดให้ผู้ชนะได้คะแนนเสียงเกินครึ่งของผู้สมัคร ถ้ารอบแรกไม่มีผู้ใดชนะ ต้องจัดการเลือกตั้งรอบสองโดยนำคะแนนลำดับที่ 1 และที่ 2 มาเลือกใหม่ เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ประชาชนส่วนใหญ่ โดยวิธีดังกล่าวหลายประเทศนิยมใช้ แม้จะเสียค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งเพิ่มขึ้น แต่ถือว่าคุ้มที่จะได้คนที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้มาบริหารประเทศ นอกจากนั้นกรณีการเลือกที่กำหนดให้ผู้สมัครต้องระบุชื่อนายกฯ และรัฐมนตรี ถือเป็นการสกัดนายทุนพรรคการเมือง

                            จุดเสี่ยงที่ 3 ที่ระบุว่า นายกฯ และครม. เข้มแข็งเกินไป เพราะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ทำให้นายกฯ ปรับ ครม. ไม่ได้ และอาจก่อให้เกิดการแทรกแซงองค์กรอิสระ สื่อมวลชน
ขอชี้แจงว่า การปรับ ครม.สามารถทำได้ แต่ต้องระบุหลักปฏิบัติไว้ในกฎหมาย และหลักเกณฑ์ โดยพิจารณาตัวอย่างจากประเทศสหรัฐอเมริกา

                            จุดเสี่ยงที่ 4 ที่ระบุว่า การเลือก ครม.โดยตรง จะมีอำนาจเสนอกฎหมาย กฎหมายงบประมาณได้ โดยข้อเท็จจริงประธานาธิบดีสหรัฐ สามารถเสนอกฎหมายงบประมาณต่อสภาได้ โดยประเด็นนี้หากนายบวรศักดิ์ ยังมีข้อมูลที่สังสัยแบบผิดๆ ขอให้อีเมลไปถามทำเนียบขาวได้ หรือลองอ่านหนังสือเรื่อง การเมืองอเมริกา ที่ตนเป็นผู้เขียนได้

                            "การโต้แย้งข้อมูลแบบผิดๆ ของประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และมีการกล่าวหาหักล้างข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง โดยใช้วาทกรรม ศัพท์แสงทางวิชาการใหม่ ให้ดูน่าเชื่อถือ ไม่ทราบว่ามีเจตนาอย่างไร เรื่องการเลือกตั้ง ครม.ไม่มีอะไรผิดหรือถูกทางวิชาการและการปฏิบัติ ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่การถกเถียงที่เกิดขึ้นเพื่อให้เห็นถึงความพยายามที่จะแสวงหาแนวทางใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม"

                            จุดเสี่ยงที่ 5 ระบบตรวจสอบตามข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง ยังไม่เพียงพอที่จะจำกัดมหาอำนาจของรัฐบาลได้ ขอชี้แจงว่า กลไก และกระบวนการของระบบแบ่งแยกอำนาจแตกต่างจากกลไกของรัฐสภา ดังนั้นต้องทำความเข้าใจให้ชัดว่า การแบ่งแยกอำนาจต้องออกแบบให้การตรวจสอบเพื่อกำจัดฝ่ายบริหารที่ประพฤติมิชอบให้มีประสิทธิภาพ ได้ผลเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับปัญหาของบ้านเมือง ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวต้องพิจารณาให้ตกผลึก โดยข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง เป็นเพียงหลักการเท่านั้น

                            นายสมบัติ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ถึงกรณีที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมพิจารณาตัดสินระบบที่มานายกฯ และ ครม. ในวันที่ 23 ธ.ค. ว่า ถือเป็นอำนาจที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะตัดสินใจ โดยข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง ถือเป็นเพียงข้อเสนอหนึ่งเท่านั้น ส่วน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาอย่างไรไม่ขอก้าวล่วง แต่กรณีที่ตนออกมาชี้แจงนั้น เพื่อต้องการให้เกิดความยุติธรรมกับข้อเสนอและเป็นข้อมูลให้พิจารณาเท่านั้น และท้ายสุดเมื่อมติของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ออกมาจะไม่เป็นไปตามข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง จะไม่กระทบกับการลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แน่นอน แต่ต้องมีคำอธิบายพร้อมเหตุผลต่อบทบัญญัติที่ยกร่างรัฐธรรมนูญไว้ว่าสามารถแก้ปัญหาที่ผ่านมาได้อย่างแท้จริง
 
ปัดแจง กกต.เล็งเอาผิดบุคคลที่ทำให้เลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 เป็นโมฆะ  


                            นายสมบัติ ฐานะนักวิชาการกลุ่ม กปปส. ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม หรือให้ความเห็นต่อประเด็นที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมดำเนินการเรียกค่าเสียหายจากบุคคลที่ทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั่วไป เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 57 เป็นโมฆะ มูลค่ารวมกว่า 3,000 ล้านบาท ระบุเพียงว่า ตนถือมีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องดังกล่าว

                            ทั้งนี้นายสมบัติ ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง กล่าวถึงข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง ในส่วนขององค์กรอิสระ จะนำประเด็นปัญหาที่มีในอดีตมาแก้ไข เช่น กรณีการจัดการเลือกตั้งที่ไม่สามารถดำเนินการได้ มีข้อพิจารณา คือ ให้อำนาจ กกต.ในการกำหนดวันเลือกตั้งได้เอง โดยไม่ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา นอกจากนั้นแล้วในเรื่องการพิจารณาคดีความที่เกี่ยวข้อง ที่ก่อนหน้านี้ต้องส่งศาลให้พิจารณา แต่ท้ายสุดศาลพิจารณาแล้วมีมติยกฟ้อง มีข้อเสนอให้พิจารณา อาทิ ศาลเลือกตั้ง เป็นต้น

                            ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ สปช.เตรียมดำเนินการเรื่องการสร้างความปรองดอง โดยตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการปรองดองพิจารณา นายสมบัติ กล่าวว่า ใน กมธ.ปฏิรูปการเมือง ตั้งคณะอนุกมธ.ปฏิรูปการเรียนรู้ การปรองดอง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทาง ขณะเดียวกันทราบว่า สปช. และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วย ส่วนตัวมองว่า ในแนวทางการสร้างความปรองดอง ลดความขัดแย้ง ถือเป็นความพยายามที่ควรทำงานร่วมกัน

ไม่มีความคิดเห็น: