PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2558

สถานการณ์ข่าว6มี.ค.58

กมธ.ยกร่างฯบทเฉพาะกาล

บทเฉพาะกาลกำหนด ตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ไม่เกิน 120 คน -คณะกรรมการยุทธศาตร์การปฏิรูปแห่งชาติอีก 50 คน

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าการพิจารณามาตราที่รอการพิจารณาในบทเฉพาะกาล หมวด 2 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ส่วนที่ 1 ว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่การดำเนินการปฏิรูปประเทศให้ต่อเนื่อง บรรลุผล จึงให้มีการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้น โดยให้มีสมาชิกไม่เกิน 120 คน มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้ง ประกอบด้วย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 60 คน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 30 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 30 คน ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ประกอบด้วย กรรมการซึ่งปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลาและมาจากผู้ทรงวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ไม่เกิน 50 คน พระมหากษัตริย์แต่งตั้งตามมติสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

ทั้งนี้ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ มีหน้าที่เสนอแนะนโยบายในการปฏิรูปต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในด้านต่างๆ
------------------
บทเฉพาะกาลตัดสิทธิ์กมธ.รธน.2ปีตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูป

นายคำนูญ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาบทเฉพาะกาล และมาตราที่ค้างการพิจารณา ซึ่งที่ประชุมพิจารณาข้อเสนอของนายเจษฎ์ โทณะวณิก ที่ให้เว้นวรรคทางการเมืองของแม่น้ำ 5 สาย เป็นเวลา 2 ปี โดยกรรมาธิการ มีมติให้ยืนตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งหลังจากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งแล้ว ห้ามไปดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองหรื่อกลุ่มการเมือง  เป็นเวลา 2 ปี โดยกรรมาธิการเสียงข้างมากให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ระบุไว้ชัดเจน ว่าให้เว้นวรรคทางการเมืองเฉพาะ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น สปช. และ สนช.ไม่รู้เงื่อนไขนี้ล่วงหน้า จึงไม่เหมาะสมที่จะบรรจุเงื่อนไขนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าห้ามกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการสรรหาคณะต่างๆ ที่จะตั้งขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ  ในมาตรา 279 เพื่อให้การบรรลุวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ จำนวนไม่เกิน 120 คน มาจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 60 คน สมาชิกสภานิติบัญญัติ 30 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏรูป 30 คน พร้อมทั้งตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ที่จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิรูป จำนวนไม่เกิน 15 คน มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัริย์ ซึ่งคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด จำทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ / นำแผนงานต่างๆ ที่ได้วางไว้เพื่อการปฏิรูปมาดำเนินการให้เกิดผล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม ให้ความรูปเกี่ยวกับการปฏิรูป โดยต้องศึกษากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก่อนว่า จะตั้งคณะกรรมการชุดนี้ได้เมื่อใด ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ เช่นเดียวกับนักการเมือง
-----------------------
"คำนูณ" เผย บทเฉพาะกาลตัดสิทธิ์เว้นวรรคทางการเมือง แค่ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2 ปี พร้อมตีตกข้อเสนอ "เจษฎ์"

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลพิจารณาบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ในมาตรา 306 โดย นายเจษฎ์ โทณะวณิก กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะอนุกรรมาธิการร่างบทเฉพาะกาล ได้มีการเสนอให้แม่น้ำ 5 สาย เว้นวรรคทางการเมือง เป็นระยะเวลา 2 ปีนั้น มติเสียงส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วย ทำให้ข้อเสนอนี้ตกไป แต่ให้ยืนตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ที่กำหนดห้ามมิให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งใด ในพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมือง ภายใน 2 ปี นับแต่พ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ไม่ได้กำหนดว่า กรรมาธิการทั้ง 36 คน ห้ามไปทำงานในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ
-----------------
"วันชัย" อัดสื่อบางสำนักนำเสนอไม่ถูกต้อง ทำความหมายที่ ปธ.สปช.ต้องการสื่อผิดเพี้ยน ยันจะทำให้รัฐธรรมนูญออกมาดีที่สุด

นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ วิป สปช. กล่าวถึงกรณีการแถลงข่าวของ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาฏิรูปแห่งชาติ ช่วงวานนี้ ที่มีสื่อบางสำนักพาดหัวข่าวที่ระบุว่า นายเทียนฉาย จะยอมตายหากรัฐธรรมนูญออกมาไม่สมบูรณ์ ซึ่งการพาดหัวข่าวในลักษณะดังกล่าวนี้ทำให้ความหมายของคำพูดของประธาน สปช. ผิดเพี้ยนไป เพราะในข้อเท็จจริงนั้น คือ จะดำเนินการทุกอย่างให้รัฐธรรมนูญออกมาอย่างดีที่สุด เหมาะสมกับคนไทยที่สุด และจะสามารถแก้ไขปัญหาให้ประเทศได้อย่างดีที่สุด และในฐานะที่ดูแลสภาปฏิรูปแห่งชาติ นายเทียนฉาย ยังได้ระบุว่า จะแก้ปัญหาและปฏิรูปการทุจริตคอร์รัปชั่นให้หมดไป และจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นมากกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า สปช.จะดำเนินการแก้ไขให้ดีที่สุดและจะอุดรูรั่วช่องโหว่ต่าง ๆ ให้ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ ฉบับปี 2550

ส่วนวาระการปฏิรูปทั้ง 36 ด้าน นั้น นายวันชัย ระบุว่า นายเทียนฉาย ได้รับกรอบแนวทางการปฏิรูปมาจากคณะกรรมาธิการทั้งหมดแล้ว และได้สั่งการให้มีการตั้งกรรมการขึ้น 1 คณะ เพื่อทำหน้าที่เรียงลำดับความสำคัญ และจะเร่งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 เม.ย.

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 มี.ค.นี้ นายเทียนฉาย จะเข้าร่วมประชุมแม่น้ำ 5 สาย โดยมีการนำวาระการปฏิรูปทั้ง 36 ด้าน เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อชี้แจงการดำเนินงานและให้เกิดความเข้าใจตรงกันของทุกฝ่าย
---------------------
กมธ.รธน.ถกบทเฉพาะกาลต่อ-เจษฎ์ยันตัดสิทธิ์กันครหา

การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ วันนี้ มีวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญตามรายมาตราในบทเฉพาะกาล และพิจารณามาตราที่แขวนไว้ทั้งหมด ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน จึงงดให้สื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยจะเริ่มพิจารณาในมาตรา 315 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายในบทเฉพาะกาล และนำเรื่องที่ รศ. ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะอนุกรรมาธิการร่างบทเฉพาะกาล ได้มีการเสนอให้แม่น้ำ 5 สาย เว้นวรรคทางการเมืองเป็นระยะเวลา 2 ปี

 ขณะเดียวกัน นายเจษฎ์ โทณะวณิก กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะอนุกรรมาธิการร่างบทเฉพาะกาล ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กรณีที่ได้มีการเสนอให้
แม่น้ำ 5 สาย เว้นวรรคทางการเมืองเป็นระยะเวลา 2 ปี ว่า การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นว่าต้องให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ (
ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 นั้น เป็นเรื่องปกติที่ต้องเป็นไปตามนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มาจาก คสช. จึงไม่แปลกที่นายกฯ จะเห็นตามนี้

ทั้งนี้  การเสนอแนวคิดนี้เป็นความเห็นส่วนตัว และก็ได้นำเสนอไปตามวาระการประชุม ส่วนจะมีสมาชิกเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนั้น ก็เป็นธรรมชาติของการประชุม หากไม่เห็นด้วยก็ไม่เสียใจ โดยการเสนอนี้ไม่ใช่เพราะห่วงเรื่องการสืบทอดอำนาจ แต่การที่แม่น้ำ 5 สาย เข้ามาทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศ และเพื่อไม่ให้เป็นข้อครหาว่าเข้ามา เพื่อหวังอะไรเมื่อทำเสร็จแล้ว ส่วนข้อเสนอนี้จะบั่นทอนกำลังใจในการทำงานหรือไม่นั้น ตนเห็นว่า ไม่น่าจะบั่นทอนอะไร หากคิดที่จะทำหน้าที่ให้ดีและไม่ได้หวังว่าจะเล่นการเมืองต่อ อย่างไรก็ตาม คาดว่า วันนี้จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
------------------
พรเพชร สั่งงดประชุม สนช. ไร้วาระพิจารณา ขณะ บวรศักดิ์ นัดถกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อ ปมเว้นวรรคแม่น้ำ 5 สาย

ความเคลื่อนไหวที่รัฐสภา วันนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีคำสั่งงดการประชุม สนช. ในวันที่ 6 มีนาคม 2558 เนื่องจากไม่มีวาระค้างการพิจารณา ภายหลังจากวานนี้ ที่ประชุมพิจารณากระบวนการถอดถอนอดีต 38 ส.ว. ในขั้นซักถามคู่กรณีแล้ว ได้กำหนดวันแถลงปิดสำนวนดคีในวันที่ 11 มีนาคมนี้

ขณะเดียวกัน เวลา 09.00 น. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นัดประชุมเพื่อพิจารณารัฐธรรมนูญรายมาตราต่อเนื่องในบทเฉพาะกาล มาตรา 306 โดยเฉพาะการเสนอให้ตัดสิทธิ์ทางการเมืองของแม่น้ำ 5 สาย ที่จะต้องเว้นวรรค 2 ปีซึ่งเป็นการหารือภายใน งดให้สื่อมวลชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ เพราะเป็นประเด็นละเอียดอ่อน
-----------------
"นรีวรรณ" ต้องรอฟังเหตุผลเสนอแม่น้ำอีก 4 สายเว้นวรรค ส่วนตัวมองไม่เหมาะ เป็นการกำหนดกติกาทีหลัง

รศ.ดร.นรีวรรณ จินตกานนท์ รองประธานกรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญ คนที่ 4 เปิดเผยกับ สำนักข่าว INN ว่า การพิจารณา รายมาตราบทเฉพาะกาลวันนี้เหลืออีกเพียง 2-3 มาตราเท่านั้น ที่ยังหารือแล้วไม่ได้ข้อสรุป หลังจากนั้นก็จะนำเรื่องที่แขวนไว้ทั้งหมดมาพิจารณาเพื่อให้เสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดในวันนี้ และเข้าสู่การทบทวนเนื้อหาเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะมีการส่งให้กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และการนำไปชี้แจงกับประชาชนในการลงพื้นที่เวทีต่าง ๆ ต่อไป

ทั้งนี้ รศ.ดร.นรีวรรณ กล่าวถึงข้อเสนอให้ แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรค ว่า เมื่อวานยังไม่มีการพูดคุย ถึง 4 สาย มีเพียงการเห็นชอบตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว กำหนดไว้ให้ กมธ.ยกร่างฯ เท่านั้น ที่จะต้องเว้นวรรค ส่วนอีก 4 แม่น้ำที่เสนอนั้นยังไม่อาจสรุปได้ ต้องรอฟังหลักการ และเหตุผลของผู้เสนออีกครั้งว่ามีเหตุผลอย่างไร ส่วนตัวเห็นว่า เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะนัก หากจะมีการมากำหนดกติกาเพิ่มเติมทีหลัง
-------------------------
"เจษฎ์" ยันแนวคิดตัดสิทธิ์การเมืองแม่น้ำ 5 สาย ป้องกันข้อครหา ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะอนุกรรมาธิการร่างบทเฉพาะกาล กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. แสดงความคิดเห็น การเว้นวรรคทางการเมืองต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 ว่า เป็นเรื่องปกติ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวเกิดขึ้นภายใต้ คสช. พร้อมยืนยันว่า จะยังเสนอแนวคิดนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ของกรรมาธิการจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่ยอมรับว่า การเว้นวรรคทางการเมืองจะมีผลกระทบกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในสมัยแรก ซึ่งหลัง 3 ปีทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของตนไม่ได้ป้องกันการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ป้องกันข้อครหาและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
--------------------------------
"ไพบูลย์" ไม่เห็นด้วยแม่น้ำ 5 สาย เว้นวรรค 2 ปี ชี้ต้องยึดตาม รธน.ชั่วคราว หนุนสัดส่วนสตรีในระบบบัญชีรายชื่อ 1 ใน 3 

นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการตัดสิทธิทางการเมืองของแม่น้ำ 5 สาย โดยเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ได้กำหนดให้เว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี เฉพาะคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ในแม่น้ำทั้ง 4 สาย ไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน ซึ่งการจะไปตัดสิทธิทางการเมืองจึงดูไม่เหมาะสมและไม่ยุติธรรม

ทั้งนี้ เชื่อว่าจะไม่เป็นการสืบทอดอำนาจและการจะไปเล่นการเมืองต่อ หลังจากพ้นตำแหน่งในแม่น้ำ 4 สาย เป็นสิทธิส่วนบุคคลและสามารถทำได้ หากเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งตามปกติ

นอกจากนี้ นายไพบูลย์ ยังกล่าวว่า เห็นด้วยในเรื่องสัดส่วนสตรีทั้งในระบบบัญชีรายชื่อและสภาท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เพราะจะทำให้การดูแลเรื่องสังคมในท้องถิ่นดีขึ้น ซึ่งก็มีกรรมาธิการหลายท่านเห็นด้วย แต่ต้องเคารพในเสียงส่วนมาก หากไม่เห็นด้วย
///////////////
รธน./สืบทอดอำนาจ

นายกฯ ย้ำปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่หวังสืบทอดอำนาจ ทำทุกอย่างให้ประเทศปลอดภัย เรื่องเว้นวรรคยึด รธน.ชั่วคราว 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กล่าวเปิดการสัมมนาโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ หรือ CoST ว่า นโยบายสำคัญที่รัฐบาลเคยแถลงไว้คือการขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นสร้างความโปร่งใส ซึ่งที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบต่าง ๆ ทั้งในส่วนภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งอยากให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการเข้ามาปฏิบัติงาน หากมุ่งหวังสืบอำนาจคงไม่ดำเนินการตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ และจะทำทุกอย่างเพื่อให้ประเทศปลอดภัย ทั้งนี้ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรมและดำเนินการให้เป็นรูปธรรม การปลูกจิตสำนึกขณะเดียวกันต้องเร่งรัดเรื่องสัญญาคุณธรรมภายในปีนี้ ให้เกิดความเชื่อถือ พร้อมปรับปรุงระบบราชการไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงหรือหาผลประโยชน์ รวมถึงเดินหน้าโครงการ 4 จี ภายใน 6 เดือน

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังย้ำว่า ในเรื่องข้อเสนอการเว้นวรรคทางการเมืองแม่น้ำ 5 สายนั้น ยึดตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และขออย่ากังวล โดยจะตัดสินใจด้วยตนเอง พร้อมชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้มีการเรียกบุคคลมาพูดคุยสร้างความเข้าใจเพียง 3-4 ร้อยคน ซึ่งไม่ได้มีการทรมาน และไม่ได้จับคนมาคุมขัง 3-4 พันคน อย่างที่มีการกล่าวหา แต่มีการควบคุมบางบุคคลที่ทำผิดกฎหมายและมีคดี ทั้งนี้ ขอร่วมกันนำประเทศเดินหน้าต่อไป

----------------
พล.อ.ประวิตร บอกเรื่องเว้นวรรค นายกฯ พูดชัดแล้ว ยันไม่คิดสืบทอดอำนาจ ประชุมร่วมยังไม่หารือเรื่อง รธน.

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงข้อเสนอให้แม่น้ำ 5 สาย เว้นวรรคการเมือง 2 ปี ว่า นายกรัฐมนตรีพูดไปหมดแล้ว ยืนยันไม่มีการสืบทอดอำนาจ ถ้าทำเช่นนั้นต่อไปจะไม่มีคนมาทำงาน ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีชี้แจงแล้วคิดว่าคนที่สนับสนุนให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคการเมือง 2 ปี น่าจะเข้าใจ

ทั้งนี้ รัฐบาล และ คสช.รับฟังข้อท้วงติงทั้งหมด เพราะเป็นภาพใหญ่ ส่วนแนวทางของรัฐบาลกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ตรงกัน ก็ต้องมาดูกันอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้เป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการยกร่าง แต่เมื่อมาเข้าสู่การพิจารณาของ คสช. ก็ต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง ส่วนการประชุมแม่น้ำทั้ง 5 สาย ในวันที่ 11 มี.ค. นี้ ยังไม่มีการหารือถึงเรื่องดังกล่าว ปล่อยให้คณะกรรมาธิการยกร่างดำเนินการตามโรดแมป

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยตั้งข้อสังเกตว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สกัดกั้นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่มนั้น ยืนยันว่าไม่มีอย่างแน่นอน
----------------------
"ศรีสุวรรณ" ยื่น สปช. ตรวจสอบ สั่งการไม่ให้ สปช. - กมธ.ยกร่าง กระทำการในทางที่มิชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดหรือแย้งต่อจริยธรรม

นายศรีสุวรรณ จรรยา อุปนายกและเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อขอให้ตรวจสอบและสั่งการไม่ให้ สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กระทำการในทางที่มิชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดหรือแย้งต่อจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในการเสนอหรือแต่งตั้งบุคคลที่เป็นบุตร หรือภรรยา และเครือญาติเข้ามาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการและผู้ช่วยดำเนินการประจำตัว เนื่องจากการกระทำดังกล่าว ถือว่าเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือเอื้อประโยชน์ ดังนั้น สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงขอให้ สปช. อย่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และขอให้ดำเนินการตรวจสอบ สั่งการภายในระยะเวลา 7 วัน นับตั้งแต่ที่ได้รับหนังสือร้องเรียนนี้
------------------
ปธ.สภาพัฒนาการเมือง เชื่อ ไม่มีใครยอมรับแนวคิดแม่น้ำ 5 สาย เว้นวรรค 2 ปี

นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวถึงกรณีข้อเสนอให้แม่น้ำ 5 สาย เว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี ว่า ในส่วนตัวคิดว่าบุคคลที่ดำรงดำแหน่งดังกล่าวคงไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการกระทบต่อสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ อีกทั้งการเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพียงแค่บุคคลในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น จึงมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่หน่วยงานต่าง ๆ จะยอมรับในแนวความคิดนี้
--------------------
ปธ.สภาพัฒนาการเมือง ชี้ สนช.ตั้งเครือญาติทำงานไม่ถูกต้อง จี้คืนเงินค่าตอบแทน เรียกร้องผู้ตรวจฯ - ป.ป.ช. ตรวจสอบด้านจริยธรรมอย่างเร่งด่วน

นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง แถลงถึงกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แต่งตั้ง คู่สมรส บุตรและเครือญาติเป็นผู้ช่วยดำเนินงาน ว่า ในกรณีดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพราะบุคคลที่เป็น สนช. ต้องไม่แสวงหาประโยชน์โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ ดังนั้นการให้ผู้ช่วยดำเนินงานพ้นจากตำแหน่งจึงไม่เพียงพอ จึงเรียกร้องให้ สมาชิก สนช.คืนเงินงบประมาณแผ่นดินทั้งหมดที่จ่ายเป็นค่าตอบแทน รวมถึงบุคคลที่ออกมากล่าวเห็นด้วยกับกรณีดังกล่าวควรได้รับการตำหนิจากสังคม

นอกจากนี้ยังเรียกร้องผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจแผ่นดิน และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ทำการตรวจสอบจริยธรรมอย่างเร่งด่วน ส่วนสำหรับกรณีบุคคลที่ไม่ใช่คู่สมรส บุตร และเครือญาติ จะต้องทำการตรวจสอบเช่นกัน ว่าได้ปฏิบัติตามหน้าที่หรือไม่ ซึ่งหากพบว่าไม่มีความสามารถหรือไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ควรต้องมีการดำเนินการตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ในกรณีดังกล่าวจะต้องครอบคลุมไปยังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และองค์กรอิสระต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน
//////////////
ความเคลื่อนไหวนายกฯ

นายกฯ เปิดงานวันสตรีสากล ชมผู้หญิงอดทน ขยัน ละเอียดรอบคอบ ยันจะผลักดันกฎหมายส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น นำพลังสตรีขับเคลื่อนประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2558 พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "2 ทศวรรษปฏิญญาปักกิ่งฯ : เสริมพลังสตรี สร้างพลังสังคม" ที่ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนเดินทางมาเข้าร่วมภายในงานอย่างคึกคัก โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจคอยดูแลตรวจสอบบุคคลเพื่อรักษาความปลอดภัยในพื้นที่อย่างเข้มงวดเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมสตรี ว่า มีความอดทน ขยัน ละเอียดรอบคอบ ทำให้มีโอกาสในการทำงานก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับสตรี คือ ร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ และจะนำพลังสตรีมาขับเคลื่อนประเทศอย่างสร้างสรรค์ เพื่อลดความขัดแย้ง ส่วนบทบาททางการเมืองของสตรี ควรกำหนดบทบาทหน้าที่บนพื้นฐานที่ชายและหญิงมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งจะมากำหนดสัดส่วนโดยจำนวนไม่ได้ เพราะผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชาย ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะดูแลสตรีอย่างทั่วถึง
-----------------------
คสช.ประเมินสถานการณ์ความมั่นคงปกติดี งานข่าวไม่พบตัวบ่งชี้จะเกิดเหตุรุนแรง ตำรวจเร่งติดตามคนทำผิดอย่างต่อเนื่อง

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกและโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยกับ สำนักข่าว INN ว่า การประเมินสถานการณ์ด้านความมั่นคงทั่วไปยังปกติ การทำงานร่วมกันของฝ่ายปกครอง ทหาร และตำรวจ ราบรื่นดี งานด้านการข่าว ไม่มีอะไรบ่งชี้ว่ามีอะไรน่าวิตกกังวลในระยะนี้ ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มเห็นต่าง ก็พยายามบังคับใช้กฎหมาย ควบคู่กับการทำความเข้าใจ และร้องขอให้อยู่ในกรอบเพื่อให้บรรยากาศของบ้านเมืองมีความสงบสุข ให้รัฐบาล และ คสช. ดำเนินงานด้านต่าง ๆ ให้เป็นไปตามโรดแมป ส่วนความคืบหน้าในการติดตามตัวผู้กระทำผิดนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเร่งดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและหลักฐาน
-------------------
ผบ.ทบ. ไม่ขอแสดงความเห็นประเด็นข้อเสนอให้แม่น้ำ 5 สาย เว้นวรรค 2 ปี ชี้ เป็นเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ยัน คสช. ไม่มีเจตนาสืบทอดอำนาจ

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก กล่าวก่อนเดินทางไปตรวจเยี่ยมการฝึกหน่วยกองร้อยของกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ที่บ้านดีลัง จ.ลพบุรี ถึงกรณีที่ ดร.เจษฎ์ โทณวณิก กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะอนุกรรมาธิการร่างบทเฉพาะกาล เสนอให้มีการเว้นวรรคทางการเมืองแม่น้ำ 5 สาย คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ไม่ขอแสดงความคิดเห็นในกรณีดังกล่าว เนื่องจากในขณะนี้เป็นเพียงแค่ข้อเสนอ ยังไม่ได้ข้อยุติออกมา

ซึ่งทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้พูดไว้ชัดเจนแล้ว และขอยืนยันว่า คสช.ไม่มีเจตนาที่จะสืบทอดอำนาจหรือแสวงหาอำนาจแต่อย่างใด และทุกอย่างต้องพิจารณาไปตามสถานการณ์
//////////////
สัมปทาน21

ปนัดดา หวัง หารือปิโตรเลียม 2 ฝ่าย วันนี้ แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน เพื่อเสนอเป็นนโยบายพลังงานที่ยั่งยืน

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายสัมปทานปิโตรเลียม และแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง โดย ม.ล.ปนัดดา กล่าวก่อนการประชุมว่า อยากให้การพูดคุยในวันนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน เพื่อเสนอเป็นนโยบายพลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งจะมีการประมวลผลการประชุมเพื่อให้กระทรวงพลังงาน พิจารณาประกอบเป็นนโนบายของกระทรวงพลังงาน เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป โดย นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณทุกฝ่ายที่จัดการหารือในวันนี้ เพื่อนำไปสู่บ้านเมืองที่เป็นสุข

ด้าน น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า ขอบคุณรัฐบาลที่จัดให้มีการพูดคุยในวันนี้ ขณะเดียวกัน ยอมรับว่า พลังงานเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อน ซึ่งถึงเวลาที่ข้าราชการและภาคเอกชนต้องพูดคุยเพื่อแก้ปัญหา และทำให้ทรัพยากรในประเทศเป็นของคนไทยอย่างแท้จริง ทั้งนี้ โดยส่วนตัวมองว่า ต้องแก้ไขกฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2514 ซึ่งรัฐบาลไม่มีอำนาจที่จะกำหนดนโยบายพลังงานโดยตรง และหวังว่า ข้าราชการจะทราบว่าเรื่องใดเป็นเรื่องสำคัญ และปรับปรุงแก้ไขให้ได้มาเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ
-----------------------------
"น.ต.ประสงค์" เชื่อ ม.ล.ปนัดดา นำข้อสรุป เสนอ นายกฯ โดยเร็วที่สุด ยันทุกฝ่ายพยายามหาทางออกเพื่อประโยชน์ประเทศ

น.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า การประชุมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ในวันนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเนื่องจากทุกฝ่ายพยายามร่วมกันหาทางออกเพื่อประโยชน์ของ

ประเทศชาติ ขณะเดียวกันเชื่อมั่นว่าข้อสรุปที่ได้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จะนำเสนอรายงานถึงนายกรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด ซึ่งหากทาง
นายกรัฐมนตรี มีความเห็นอย่างไรนั้น จะมีการแจ้งกลับมายังภาคประชาชนอีกครั้ง และเชื่อว่าจะได้รับการแก้ไขเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
----------------------------
ที่ประชุม สัมปทานปิโตรเลียม ตั้งคณะทำงาน 3 คณะ แก้กฏหมาย  ทบทวนโครงสร้างราคาก๊าซ น้ำมัน และ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมระหว่างภาครัฐ และประชาชน เกี่ยวกับนโยบายการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ว่า ที่ประชุมมีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานจำนวน 3 คณะ โดยมีองค์ประกอบฝ่ายละไม่เกิน 10 คน ของแต่ละคณะทำงาน

โดยคณะแรก จะพิจารณาทบทวนการจัดสรรทรัพยากรปิโตรเลียม ทบทวนโครงสร้างและราคาก๊าซ น้ำมันสำเร็จรูป ทบทวนนโยบายเรื่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และแก้ไขปัญหาผลประโยชน์ทับ
ซ้อน  เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ก่อน ส่วนคณะที่ 2 จะพิจารณาการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พศ.2514 พ.ร.บ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พศ.2514 และกฎหมายที่เกี่ยวกับพลังงานและผลประโยชน์ทับซ้อน และคณะที่ 3 จะพิจารณาในประเด็นการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน และสุขภาวะอนามัยชุมชุน โดย ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าให้ภาคประชาชนและภาครัฐร่วมกันหารือเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด
-----------------------

/////////////////
คดีสหกรณ์ยูเนี่ยน

"วิษณุ" ระบุ คดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ยึดตามกฎหมาย ป.ป.ช. ขอต่ออายุ เป็นหน้าที่ คสช. ต้องตัดสินใจ 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยว่า หลังจากได้เชิญ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสอบถามความคืบหน้าของคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ว่า แต่ละส่วนดำเนินการไปถึงไหน เพราะคดีนี้เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ซึ่งอยู่ขั้นตอนการตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนจะสาวถึงใคร จะต้องดำเนินตามกระบวนการ เพราะเป็นคดีอาญาอยู่ในชั้นสอบสวน 3 คดี ส่วนคดีทางแพ่ง เป็นการเรียกเงินคืนจาก นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน กับพวกอีก 3 คดี จะมีการนัดหมายภายในปลายเดือนเมษายน นี้

ส่วนกรณีความขัดแย้งระหว่างพระสงฆ์ เชื่อว่าจะทำความเข้าใจกันได้ ส่วนตัวไม่ขอแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตามสถานการณ์เหมือนจะดีขึ้น หลังจากที่มีการยุบคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ และเชื่อว่า จากนี้ไปสถานการณ์น่าจะคลี่คลายอยู่ในระดับที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะขอต่ออายุการทำงานไปอีก 1 ปี ว่า อำนาจในการพิจารณาไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล แต่อยู่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
////////////////////////////
ตรวจสอบศาสนา

"ไพบูลย์" แถลงยุติการทำงานปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา บอกทำหน้าที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว 

นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา แถลงข่าวยุติการทำงานของคณะกรรมการ หลังจากการทำงานตลอด 1 เดือน ที่ผ่านมา กรรมการได้พิจารณาประเด็นสำคัญที่ต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน ทั้งเรื่องศาสนสมบัติของวัด และพระภิกษุสงฆ์ ปัญหาของพระสงฆ์ที่ไม่ประพฤติ ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย นำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธา เรื่องการทำผิดพระวินัยและความประพฤติ รวมทั้งปกป้องคุ้มครองกิจการของฝ่ายศาสนจักร ซึ่งถือว่าทำหน้าที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว พร้อมจะเสนอผลการพิจารณาให้ ประธาน สปช. ส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ ยอมรับว่า มีกระแสกดดันให้ยุบกรรมการชุดดังกล่าว แต่ไม่ใช่ปัจจัยให้ต้องยุติการทำงาน แต่เป็นเพราะภารกิจเสร็จสิ้นมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะสามารถให้พุทธบริษัท และพุทธศาสนิกชนตื่นตัว ออกมาปกป้องพระพุทธศาสนา
/////////////////////
ศก.ชะลอตัว

ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เผยขณะนี้ไทยเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ห่วงปัญหาความขัดแย้งเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศ ระบุการเปิดเออีซีปลายปีจะเป็นจุดเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจและการเมืองของโลก

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา AEC Business Forum 2015 จัดโดยธนาคารกรุงเทพ โดยระบุว่า ประเทศไทยขณะนี้อยู่ในจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญที่จะต้องปฏิรูปประเทศให้สำเร็จ แต่ยังเป็นห่วงกลุ่มความขัดแย้งที่ยังมีอยู่ จะเป็นอุปสรรคในการรวมความคิดการพัฒนาประเทศ เพราะขณะนี้ไทยกำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว  เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทั้งนี้ สำหรับความท้าทายคือจะต้องเอาชนะอุปสรรคให้ประเทศก้าวผ่านความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยหากไทยสูญเสียโอกาสการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ อาจทำให้บ้านเมืองเกิดความเสียหายและคนไทยจะตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะในอนาคตโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AECในปลายปีนี้ ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญ ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองของโลกในอนาคต โดยรัฐบาลจะต้องมุ่งสร้างประเทศให้เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ให้ได้ ด้วยการลงทุนระบบขนส่งเชื่อมโยงกันส่วนเอกชนต้องพัฒนาตัวเองเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน
///////////////
สถาบันการเงินเอกชน มอง ลดอัตราดอกเบี้ยแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่า ยืนยัน ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า กรณีที่หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาเงินบาทที่แข็งค่านั้น ยืนยันว่า ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่ระดับร้อยละ 2 ถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก แต่สาเหตุที่ประชาชนไม่มีการบริโภค เนื่องจากประชาชนมีภาระหนี้สูง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรปรับลดลงมาก  ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่า เป็นผลมาจากรายจ่ายในเรื่องของราคาน้ำมันปรับลดลง เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงมากถึงร้อยละ 50 ส่งผลให้มีเงินสำรองอยู่ในระบบค่อนข้างมาก ดังนั้น ในการแก้ปัญหาโดยการลดดอกเบี้ยอาจไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม การลดอัตราดอกเบี้ย จึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า และทำให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด ยืนยันว่า โดยส่วนตัวไม่กังวลปัญหาเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง 2
เดือนติดต่อกัน เนื่องจากเงินเฟ้อที่ติดลบมีสาเหตุจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง และยืนยันว่า เงินเฟ้อที่ติดลบ ยังไม่ถือว่าประเทศกำลังเผชิญภาวะ
เงินฝืด เนื่องจากเงินฝืดจะต้องเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแรง หรือไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ประชาชนไม่มีการจับจ่ายใช้สอย เป็นต้น
/////////////////////////
กระทรวงพาณิชย์ เปิดซองประมูลข้าวเบื้องต้นขาย 7.8 แสนตัน มูลค่า 8 พันล้านบาท เตรียมเสนอ นบข. สัปดาห์หน้า

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวภายหลังการเปิดซองเสนอราคาประมูลข้าว ว่า การเปิดประมูลข้าวครั้งที่ 2/2558 มีผู้ยื่นซองเสนอราคา 40 ราย และมีผู้ชนะการประมูลได้ข้าวไปทั้งสิ้น 38 ราย ปริมาณข้าวรวม 780,000 ตัน จาก 87 คลัง หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71.7 ของคลังทั้งหมดที่นำออกประมูล ซึ่งหากคำนวณจากราคาพื้นฐาน มูลค่าขั้นต่ำของข้าวที่ขายได้อยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท แต่ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงผลการประมูลเบื้องต้น เพราะในความเป็นจริงผู้เสนอซื้อข้าว ต่างก็เสนอราคาซื้อสูงกว่าราคาพื้นฐาน โดยการขายในครั้งนี้ ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ โดย กระทรวงพาณิชย์ จะเสนอคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว หรือ นบข. พิจารณาในสัปดาห์หน้า
-----------------
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไม่หนักใจ เอกชนร่วมประมูลข้าวน้อย สะท้อนตรวจสอบจริงจัง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จำนวนเอกชนที่สนใจเข้าร่วมยื่นซองประมูลข้าวในสต๊อกของรัฐบาลครั้งนี้รวม 40 ราย เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานที่เข้มงวดมากขึ้นประสบความสำเร็จในการตรวจสอบ โดยเฉพาะมาตรการดูแลปัญหาตัวแทนอำพราง หรือ นอมีนี แต่ทั้งนี้ก็เชื่อว่าแม้จะมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลไม่มากเหมือนครั้งก่อน แต่ข้าวที่นำออกมาประมูลแบบยกคลัง ปริมาณกว่า 1 ล้านตัน ก็น่าจะระบายได้เกือบทั้งหมด

ไม่มีความคิดเห็น: