PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2558

ว่าด้วยการสืบทอดอำนาจและรัฐประหาร

ว่าด้วยการรัฐประหารและสืบทอดอำนาจ

การที่ผู้นำคณะรัฐประหาร19/9/49 ปฏิเสธรอบแล้วครั้งเล่าว่า จะไม่มีการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ภายหลังจากร่างรัฐธรรมนูญ เสร็จ และภายหลังจัดการการเลือกตั้งนั้น ดูจะไม่มีใครเชื่อกันนักความหวาดระแวงว่าคณะรัฐประหารจะสืบทอดอำนาจเผด็จการ หรือสืบทอดอำนาจการบริหารของตนเองออกไปนั้น เนื่องเพราะความเป็นไปในทางประวัติศาสตร์นั้น ไม่เคยมีคณะรัฐประหารชุดใดเลยในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่จะยอมก้าวลงจากหลังเสือแบบง่ายๆ แล้วคืนอำนาจการปกครองให้กับประชาชน มีแต่การสืบทอดอำนาจการบริหารออกไปให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้กันทั้งนั้น

ลองอ่านดู "ความนัยระหว่างบรรทัด" ดูก็จะเห็นข้อเท็จจริงได้ไม่ยากเลย...

1.การรัฐประหารปี พ.ศ.2490:สืบทอดอำนาจเผด็จการนาน10ปี

สาเหตุ: พรรคประชาธิปัตย์ โจมตีใส่ร้ายว่านายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พัวพันอยู่เบื้องหลังกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ประกอบกับคณะทหารไม่พอใจที่บทบาทของทหารถูกลดเกียรติภูมิลง หลังจากไปร่วมกับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วกลายเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ในขณะที่เสรีไทยที่เป็นขบวนการประชาชน ถูกยกย่องในฐานะกอบกู้เอกราชให้แก่ชาติไทย

เหตุการณ์: จอมพลผิน ชุณหะวัณ ร่วมกับจอมพลป.พิบูลสงคราม  ทำการรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2490 โดยบอกว่า"รักชาติจนน้ำตาไหล"(หนังสือพิมพ์สมัยนั้นล้อเลียนว่ารักชาติจนน้ำลายไหล) แล้วฟื้นฟูเกียรติของจอมพลป.พิบูลสงคราม จากอาชญากรสงคราม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี และเนรเทศนายปรีดีไปต่างประเทศ

การสืบทอดอำนาจ: คณะรัฐประหารชุดนี้ครองอำนาจมาจนถึงปี พ.ศ.2500 รวมสืบทอดอำนาจ 10 ปี

2. การรัฐประหารปี พ.ศ.2500:สืบทอดมรดกเผด็จการนาน16ปี

สาเหตุ: พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป.ชนะเลือกตั้งท่วมท้น พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านกล่าวหาว่าเลือกตั้งสกปรก ขณะที่มีข่าวว่าจอมพล ป.จะฟื้นคดีกรณีในหลวงรัชกาลที่ 8 สวรรคตขึ้นมาเพราะมี "ข้อมูลใหม่" ว่านายปรีดีเป็นแพะทางการเมือง

เหตุการณ์: จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ โดยการสนับสนุนของCIAได้ทำรัฐประหารโค่นจอมพล ป.ลงจากอำนาจ ตัวจอมพลป.รวมทั้งจอมพลเผ่าคู่อริสำคัญ หนีตายไปต่างประเทศ จอมพลสฤษดิ์สร้างธรรมเนียมใหม่ด้วยการเข้าเฝ้าถวายรายงานการปฏิวัติต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งแรก

การสืบทอดอำนาจ: จอมพลสฤษดิ์ตั้งพลเรือนสลับกับจอมพลถนอม ลูกน้องสนิทเป็นรัฐบาลหุ่นอยู่ 2 ปี แล้วก็ทำการรัฐประหารตัวเอง ขึ้นเป็นนายกฯเอง ออกกฎหมายสั่งยิงเป้าคนได้โดยไม่ต้องขึ้นศาล กับได้งบจากอเมริกามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จนทำให้เขาเป็นคนร่ำรวยมหาศาล ภายหลังเขาตายคาอำนาจ สฤษดิ์มีเงิน 2,000 ล้านบาท(เทียบกับสมัยนี้ก็ไม่น่าต่ำกว่า2แสนล้านบาท)

ด้วยการบีบคั้นของสังคม จอมพลถนอมที่ขึ้นรับช่วงอำนาจต้องยึดทรัพย์ลูกพี่ไป 600 ล้านบาท เฉพาะที่พิสูจน์ได้ชัดว่าโกงมาจริงๆ

จากนั้นจอมพลถนอมก็สืบทอดอำนาจมรดกเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ต่อเนื่องยาวนานไปจนถึง 16 ปี ก่อนจะถูกพลังประชาชนลุกฮือขึ้นโค่นล้มในกรณี 14 ตุลาคม 2516

3. การรัฐประหาร6ตุลาคม2519:มรดกตกทอดหลายรุ่นรวม12ปี

สาเหตุ: จอมพลถนอม-จอมพลประภาส ที่ถูกนักศึกษาประชาชนขับไล่ออกไปในคราวเหตุการณ์14ตุลาคม 2516 และโดนยึดทรัพย์สินไปหลายร้อยล้านบาท(เทียบกับสมัยนี้ก็หลายหมื่นล้านบาท) เดินทางเข้าประเทศ เกิดกระแสคัดค้านอย่างหนัก รัฐบาลพลเรือนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แถมยังแก่งแย่งอำนาจกันเป็นหลัก ทำให้นักศึกษานิยมซ้าย ได้จัดการ
ประท้วง สื่อมวลชนขวาจัด "ดาวสยาม"และบางกอกโพสต์ ได้ตัดต่อภาพบิดเบือน ทำให้กลุ่มมวลชนฝ่ายขวาร่วมกับกองกำลังจากป่าหวาย และตชด.เข้าล้อมปราบกวาดล้างนักศึกษานิยมซ้ายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 6 ตุลาคม 2519

เหตุการณ์: พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ภายใต้การสนับสนุนของ "กลุ่มทหารหนุ่ม" นำโดยคณะทหารนำโดยจปร.7 เช่น พ.อ.จำลอง ศรีเมือง, พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร, พ.อ.มนูญ รูปขจร, พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี, พ.อ.บุลศักดิ์ โพธิเจริญ(ยศขณะนั้น)เป็นต้นเข้ายึดอำนาจ

การสืบทอดอำนาจ: คณะรัฐประหารที่ใช้ชื่อว่าคณะปฏิรูปได้ตั้งรัฐบาลหุ่นนำโดยนายธานินท์ กรัยวิเชียร ใช้นโยบายขวาจัด ปราบปรามฝ่ายซ้ายอย่างเด็ดขาด มีนักศึกษาหนีเข้าป่าราว 3,000 คน และออกกฎหมายให้มีอำนาจสั่งยิงเป้าได้แบบยุคสฤษดิ์ แต่แค่ปีเดียวกลุ่มทหารหนุ่มก็ต้องทำรัฐประหารซ้ำขับนายธานินท์ออก แล้วสนับสนุนพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่กลุ่มหทารหนุ่มจะจี้ให้เกรียงศักดิ์ลาออก แล้วสนับสนุนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

พลเอกเปรมได้สืบทอดอำนาจต่อเนื่องจากการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ต่อเนื่องไปอีกรวมแล้ว 12 ปี แต่ได้ปรับแต่งเนื้อตัวจากเผด็จการเต็มใบมาเป็นประชาธิปไตยครึ่งไป และมีทีท่าประนีประนอมกับทุกฝ่ายในสังคมมากขึ้น

4. รัฐประหารปี พ.ศ.2524:นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฉายาที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

สาเหตุ: คณะทหารหนุ่มไม่พอใจที่พลเอกเปรมไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องของพวกตน จึงเข้าทำรัฐประหารเมื่อ 1 เมษายน 2524 มีประชาชน(ที่จัดตั้งไว้)มามอบดอกไม้ให้คณะรัฐประหาร แต่พลเอกเปรมสามารถพลิกสถานการณ์ได้เมื่อได้ถวายอารักขาในหลวงและพระราชินี และแต่งตั้งกองบัญชาการปราบกบฏนำโดยพลตรีอาทิตย์ กำลังเอก(ยศขณะนั้น เหมือนพลเอกสพรั่งในขณะนี้ เพราะแค่ข้ามปีก็พรวดพราดขึ้นเป็นพลเอก เป็นผบ.ทบ.)ในที่สุดกลุ่มทหารหนุ่มต้องยอมแพ้ เดินทางออกนอกประเทศ

เหตุการณ์: ถ้าว่าเฉพาะกำลังทหารนั้นกลุ่มทหารหนุ่มสามารถเอาชนะได้ไม่ยากเลย เพราะคุมกำลังไว้หมด แต่เนื่องจากพลเอกเปรมยึดกุมยุทธศาสตร์ที่เหนือกว่า จึงนำความพ่ายแพ้มาสู่กลุ่มนาย
ทหารหนุ่ม

การสืบทอดอำนาจ: พลเอกเปรมปกครองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ เปิดทางให้นักศึกษาฝ่ายซ้ายกลับเข้าเมือง ถ่วงดุลการแต่งตั้งโยกย้ายในกองทัพ กุมอำนาจทั้งฝ่ายทหาร เมื่อมีใครทำท่าจะขึ้นมามี
บทบาทโดดเด่นก็ขจัดพ้นทาง เช่น กรณีปลดฟ้าผ่าพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก พ้นจากอำนาจ

พันเอกมนูญ รูปขจร ทำการรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 9 กันยายน 2528 แต่ก็ถูกปราบลงราบคาบ ถูกถอดยศเป็นนายมนูญ(ก่อนจะกลับมารับราชการได้อีกครั้งในยุครัฐบาลชาติชาย)

นอกจากนั้นยังแยกสลายพลังฝ่ายการเมือง โดยมีพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนในทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หากมีใครทำท่าจะขึ้นมามีบทบาทเชิงแข่งขันทางการเมือง เช่น กรณีพลตรีประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชฃาติไทย(ยศและตำแหน่งในขณะนั้น)ประกาศจะชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรมก็ผลักให้ไปเป็นฝ่ายค้าน กระทั่งนายบรรหาร ศิลปอาชา ที่เป็นลูกพรรคขณะนั้นบ่นด้วยความเข็ดขยาดว่าเป็นฝ่ายค้านแล้ว”อดอยากปากแห้ง”

เกิดยุคสะตอสามัคคีขึ้นมาในช่วงนี้ ประชาธิปัตย์ยึดภาคใต้ได้เด็ดขาด มีเพียงม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในยามเป็นไม้ใกล้ฝั่ง ยืนซดสู้นอกสังเวียนอย่างพอจะสูสีบ้าง แต่ในกลางปี 2531 พลเอกเปรมถูกนักศึกษาออกมาขับไล่ เมื่อหาทางลงที่สง่างามในตำแหน่ง "รัฐบุรุษ" ได้ พลเอกเปรมก็ลาออก แต่เลขาธิการนายกฯ ขณะนั้นคือ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ บอกว่า"แค่โรงเรียนปิดเทอม เดี๋ยวไม่นานก็จะ
เปิดเทอมใหม่”

พลเอกเปรมปิดฉากกองมรดกรัฐประหาร6ตุลาคม2519ลงด้วยเวลาสืบทอดอำนาจยาวนานกว่า 12 ปี...

5. การรัฐประหารปี พ.ศ.2534:พลังประชาชนขับไล่ก่อนจะสืบทอดอำนาจ

สาเหตุ: คณะทหาร จปร.5 นำโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี ได้ยินข่าวลือว่าพวกตนจะโดนปลด หลังจากที่หนังสือพิมพ์ยุให้ทำรัฐประหารรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เลยไปหยิบยกอ้างว่าอดีตกลุ่มทหารหนุ่ม จปร.7 มีการลอบสังหารพลเอกเปรมและบุคคลสำคัญระดับสูง ในช่วงหลังพ่ายแพ้จากการรัฐประหารปี 2524 จึงต้องออกมาทำรัฐประหารโดยอ้างว่าเพื่อปกปักรักษาราชบัลลังก์ และกำจัดรัฐบาลคอรัปชั่น

เหตุการณ์: ประชาชนที่จัดตั้งก็นำดอกไม้มามอบให้คณะรัฐประหาร พลเอกสุจินดาสร้างธรรมเนียมใหม่คือนอกจากเข้าเฝ้าถวายรายงานการรัฐประหารแล้วก็ยังให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้พวกตนเป็นคณะรสช.ด้วย มีการนำเทปวิดีโอคำสารภาพของพ.อ.บุลศักดิ์ นายทหารจปร.7กรณี "ลอบสังหารบุคคลสำคัญ" ออกมาฉายให้ประชาชนชมหลายรอบเพื่อสร้างความชอบธรรมให้การรัฐประหาร รวมทั้งตั้ง คตส.มีพลเอกสิทธิ จิรโรจน์ขึ้นอายัดทรัพย์รัฐบาลชาติชาย แต่หลังๆ ก็ยึดไม่ได้ซักบาท ต้องคืนให้นักการเมืองหมด

การสืบทอดอำนาจ: มีการตั้งพรรคสามัคคีธรรมให้หนุนพลเอกสุจินดาเป็นนายกฯ ทำให้ประชาชนคัดค้านนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ส่วนในกองทัพก็ตั้งน้องชายของพลเอกอิสระพงศ์สืบทอดอำนาจ ว่ากันว่ามีแผนการสืบทอดอำนาจทางการทหารไปยาวกว่า 20 ปี

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุนองเลือดขึ้น ในหลวงได้ขอให้คู่ขัดแย้งยุติการนองเลือด แต่กลุ่มผู้ต้องการสืบทอดอำนาจก็ยังดึงดันจะให้พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ เป็นนายกฯ นอมินี่ แต่ด้วยเดชะพระ
บารมีคลี่คลายให้เหตุการณ์ยุติลง เมื่อมีโปรดเกล้าฯ ให้นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีพระราชทานทำให้คณะรัฐประหารชุดนี้อยู่ในอำนาจสั้นที่สุดเพียงไม่ถึง 2 ปี

6. การรัฐประหารปี พ.ศ.2549:คณะปฏิวัติหุ่นเชิดกับการฟื้นฟูอมาตยาธิปไตย

สาเหตุ: สนธิ ลิ้มทองกุล นักธุรกิจหนังสือพิมพ์ขัดผลประโยชน์กับนายกรัฐมนตรีทักษิณทั้งเรื่องหนี้สิน และอภิสิทธิ์สัมปทานโทรทัศน์ เริ่มก่อการประท้วงได้แนวร่วมจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านนำโดยประชาธิปัตย์ นักวิชาการ ชนชั้นสูง และนักธุรกิจฝ่ายตรงข้ามกับทักษิณเช่นประชัย เลี่ยวไพรัตน์-เอกยุทธ อัญชัญบุตร ผนวกกับกลุ่มอำนาจเก่าที่ฝังลึกผ่านบทบาทของ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ และนักธุรกิจสื่อสารมวลชน ร่วมกันโค่นล้มสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณ" โดยกล่าวหาว่าทักษิณขายหุ้นบริษัทชินฯโดยหนีภาษี เป็นการขายชาติ และสร้างสถานการณ์ให้ดูเหมือนว่ากำลังมีการเผชิญหน้ากันระหว่างมวลชน 2 ฝ่ายคล้ายกับกรณี6ตุลาฯ

เหตุการณ์: พลเอกเปรมแสดงตัวอย่างไม่ปิดบังว่า เป็นศูนย์บัญชาการ และศูนย์รวมจิตใจของการรัฐประหาร โดยการรัฐประหาร19/9/49มีขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการจัดการเลือกตั้ง15ตุลาคม2549ไม่ถึง 1
เดือน ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อระงับยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุนองเลือด โดยให้พลเอกสนธิ บุณยะรัตนกลิน เป็นผู้นำคณะรัฐประหาร ได้กำลังหลักจากพลโทสพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพภาคที่3 (ยศขณะนั้น)เข้าทำการรัฐประหาร มีกองกำลังทหารเสือพระราชินีของพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นกำลังหลักอีกหน่วย กองกำลังรัฐประหารใช้สัญลักษณ์สีเหลือง และสีฟ้าผูกตามแขนและปากกระบอกปืน และใช้ชื่อต่อท้ายว่า "อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข" ทำให้ต่างชาติเข้าใจว่าสถาบันฯสนับสนุนการรัฐประหาร ต่อมาจึงต้องตัดออก

การสืบทอดอำนาจ: ผู้นำคณะรัฐประหารยืนยันหลายครั้งว่า จะอยู่ในอำนาจเพียง 2 สัปดาห์แล้วจะคืนอำนาจให้ประชาชน แต่แล้วก็มีการตั้งรัฐบาลหุ่นให้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยบอกว่าจะเป็นรัฐบาล 1 ปี ส่วนคณะรัฐประหารแปลงร่างเป็นคณะมนตรีความมั่นคงฯ(คมช.) โดยมีอำนาจการบริหารคู่ขนานไปกับรัฐบาลหุ่น จากนั้นมีการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นฉบับประชาชนที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา แล้วได้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นร่างฉบับใหม่ โดยคณะรัฐประหารบอกว่าจะร่างให้มีเอกลักษณ์สอดคล้องกับวัฒนธรรม "แบบไทยๆ"

ขณะที่น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ “ลูกป๋า”คนสำคัญรายหนึ่ง ได้ขึ้นเป็นประธานการร่างรัฐธรรมนูญ และประกาศโดยไม่ปิดบังว่า ที่มาของนายกรัฐมนตรีนั้นไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

ที่น่าประหลาดอยู่อย่างก็คือผู้นำรัฐประหารหนล่าสุดนี้คือพลเอกสนธิ บอกว่าเห็นข้อมูลตรวจสอบการคอรัปชั่นของรัฐบาลทักษิณแล้วอยากจะร้องไห้ วลีนี้ไม่ต่างกันเลยจากที่จอมพลผิน ผู้นำการรัฐ
ประหารปี 2490 ที่บอกว่ารักชาติจนน้ำตาไหล(ที่เอาไปเอามาก็จบลงด้วยการรักชาติจนน้ำลายไหล!)

ที่เป็นธรรมเนียมอีกอย่างก็คือคณะรัฐประหารชุดนี้ก็ประกาศเช่นเดียวกับคณะก่อนๆว่า ทำการเพื่อชาติบ้านเมือง ไม่ใช่เพื่อพวกพ้องหมู่คณะ ไม่มีความมักใหญ่ไฝ่สูงทางการเมืองใดๆเลยสุดท้ายก็จบลงด้วยการสืบทอดอำนาจเผด็จการกันยาวนานนับ10-20ปี...หรือจะมีข้อเว้นให้กับคณะรัฐประหารชุดนี้

เชื่อหรือไม่ว่าจะไม่มีการสืบทอดอำนาจ?

http://topicstock.pantip.com/rajdumnern/topicstock/2007/04/P5340066/P5340066.html

ไม่มีความคิดเห็น: