PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2558

เจาะภาษียุคคสช. ! “ที่ดิน – เหล้าบุหรี่ – โรงเรียนกวดวิชา” มาถูกทางหรือไม่?

เจาะภาษียุคคสช. ! “ที่ดิน – เหล้าบุหรี่ – โรงเรียนกวดวิชา” มาถูกทางหรือไม่?
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน
กลายเป็นกระแสต่อต้านครั้งใหญ่กว่าทุกครั้งที่รัฐบาลคสช.เคยประสบ เมื่อภาษีบ้านและที่ดินกลายเป็นข้อถกเถียงจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงย่ำแย่ พร้อมนโยบายที่ประชาชนจำต้องยอมเสียประโยชน์ครั้งใหญ่ด้วยเหตุผลหลักคือรัฐบาลต้องการเงินเพิ่ม
ตามต่อมาด้วยมาตรการขึ้นภาษีเหล้า - บุหรี่และเริ่มพิจารณาภาษีโรงเรียนกวดวิชา ดูเหมือนรัฐบาลคสช.จะทำสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในช่วงสถานการณ์ปกติมากมาย แต่ภาษีเหล่านี้กำลังเดินไปถูกทิศถูกทางจริงหรือไม่? ประชาชนถูกบีบให้จ่ายอย่างไม่ยุติธรรมจริงหรือ?
หลากภาษีเรี่ยไรเงินเข้าคลัง
ปากคำจากฟากรัฐบาลตั้งแต่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ถึงสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่างให้เหตุผลเป็นเสียงเดียวกันถึงการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นว่ามาจากการที่ “คลังถังแตก”
ภาษีที่กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุดและอัปเดตความเปลี่ยนแปลงกันแบบวันต่อวันคงจะหนีไม่พ้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ปรับลดปรับยกเว้นหลายต่อหลายครั้ง
ผศ.ดร.พนิต ภู่จินดา อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยแสดงความคิดเห็นต่อภาษีดังกล่าวไปแล้วถึงคุณประโยชน์ของภาษีประเภทดังกล่าว แต่ทว่าถึงตอนนี้ภาษีที่กำลังออกนั้นดูจะมีท่าทีว่าไม่ได้ใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติที่มันมีอยู่มากนัก
โดยเขามองว่า การที่รัฐบาลออกมาบอกถึงสาเหตุที่เก็บภาษีที่ดินเพราะต้องการเงินเข้าคลังนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลเสียฟอร์มด้วยเพราะภาษีดังกล่าวนั้นหากใช้อย่างถูกต้องจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการชี้ทิศทางการพัฒนาของประเทศได้เลยทีเดียว
“ผมว่ารัฐบาลเสียฟอร์มมาก เมื่อวานท่านนายกก็ออกมารับสารภาพว่าต้องการเงิน บอกว่ารัฐบาลที่แล้วทำหนี้ตั้งเยอะ เอาเงินมาใช้หนี้ แต่ภาษีตัวนี้มันเป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาเมือง ถ้าใช้เป็นมันจะเป็นเครื่องมือชี้นำการพัฒนาโดยใช้ประกอบกับผังเมืองรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ตัวกฎหมายนั้นจะกำหนดให้ประชาชน “ทำ” หรือ “ไม่ทำ” แต่ภาษีนั้นจะเป็นตัวบอกให้ประชาชน “ควรจะ” หรือ “ไม่ควรจะ” ทำอะไร ดังนั้นหากนำมาปรับใช้กับเรื่องภาษีที่ดิน เมื่อประชาชนใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลวางไว้ ประชาชนก็จะเสียภาษีน้อย แต่ถ้าใช้ในแบบที่ไม่ควรก็จะเสียภาษีมาก
“ฉะนั้นภาษีที่ดินในเชิงผังเมืองมันมีประโยชน์ใน 2 ประเด็น 1 คือใช้ชี้นำการพัฒนาอย่างพื้นที่ผังเมืองสีแดงกลางเมืองเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม คนที่ใช้ต่ำกว่าพาณิชยกรรม มาทำเป็นบ้านเดี่ยวอยู่ก็ต้องเสียภาษีมากเพราะว่ารัฐเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอาคารสูง 30 ชั้นขึ้นไป แต่คุณใช้น้อยกว่าที่รัฐลงทุนไป ฉะนั้นคุณก็ต้องจ่ายมาก เขาบีบให้คุณใช้ที่ดินตามที่ส่วนรวมเขาเห็นว่าดี เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
“2 คือลดความเหลื่อมล้ำ เพราะที่ดินถือเป็นทรัพยากรที่ขาดแคลนมากในเขตเมือง บวกกับตำแหน่งที่ตั้งมันมีผลต่อราคาเพราะฉะนั้นมันก็จะไปบังคับในตำแหน่งที่ทรัพยากรที่ดินขาดแคลนมาก คุณแย่งเขามามาก ก็ต้องชำระภาษีแพงแล้วเอามาชดเชยกับคนที่เสียภาษีน้อย เพราะคุณแย่งของคนอื่นเขาไป”
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือรัฐบาลยังคงเลือกที่จะเก็บภาษีแบบเท่ากันทั้งประเทศและไม่เกี่ยวข้องกับฝังเมืองรวมแต่อย่างใด เขาจึงมองว่าเป็นการใช้นโยบายที่เสียของและไม่ถูกวัตถุประสงค์ อีกประเด็นที่สำคัญคือเป็นการยอมรับว่ารัฐบาลกำลังถังแตก
“ภาษีที่ดินมันไม่ได้ออกแบบมาให้เก็บเงินเข้าคลังเพิ่ม มันออกแบบมาเพื่อชี้นำการพัฒนาอย่างถูกต้องและลดความเหลื่อมล้ำ

ทั้งนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาษีเฉพาะที่ดินนั้น เขามองว่า ประชาชนยังจ่ายไหวและคงไม่มีการคัดค้านเกิดขึ้นมากนัก แต่ถ้ามีการเก็บซึ่งมากเกินไปก็คงมีการเลี่ยงภาษีเพิ่มขึ้น ส่วนของการกระจายตัวของการถือครองที่ดินเขาก็เห็นว่า ภาษีดังกล่าวไม่ได้มีอัตราที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่มากอย่างมีนัยยะสำคัญ

“พวกนี้ต้องคำนวณตามหลักเศรษฐศาสตร์เมือง สมมติว่าพื้นที่ที่คุณอยู่เป็นพื้นที่ที่กำหนดไว้ให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม แล้วมีคนใช้ที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ราคาหรืออัตราหรือฐานภาษีต่างกัน ถ้าที่ดินแถบนี้คิดเท่านี้เขาถึงจะเลิกอาศัยเป็นที่อยู่หนาแน่นน้อย ซึ่งแตกต่างจากกับพื้นที่หนึ่งของเมืองที่มีลักษณะแบบเดียวกันก็ได้ ฉะนั้นมันจะต้องถูกคิดคำนวณว่าแต่ละพื้นที่มันแตกต่างกัน เพื่อจะบอกว่า พื้นที่นี้ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชยกรรมนะ ต้องราคาเท่านี้เขาถึงจะยอมเปลี่ยน”
ภาษีที่ยุติธรรมขึ้น

การเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นชัดของรัฐบาลชุดนี้นั้น ผศ.ดร.พนิต อธิบายว่า มันคือภาษีโดยตรง ทั้งภาษีที่ดิน ภาษีเหล้า - บุหรี่ หรือภาษีสรรพสามิต และภาษีโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งมีลักษณะที่ใครใช้มากก็จ่ายมาก ไม่ได้เก็บทางอ้อมเหมือนภาษีรายได้ส่วนบุคคล
โดยภาษีที่เก็บทั้งหมดนั้น เมื่อไม่นานมานี้มีการเปิดเผยว่าประเทศไทยติดอันดับ 6 ของโลกในด้านการเสียภาษีเมื่อคิดกับจีดีพีของประเทศมากขึ้น 16 เปอร์เซ็นต์ เขาเผยว่า อาจจะดูแพงแต่ภาษีเหล่านี้ขึ้นอยู่กับวิธีคิดของรัฐบาลว่าจะเก็บในสัดส่วนอย่างไร
“อย่างภาษีรายได้ส่วนบุคคลที่ประเทศเยอรมันเก็บ 50 เปอร์เซ็นต์ ของไทย 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่พอภาษีตัวนี้ถูกตัวอื่นมันก็ต้องแพง”
ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเก็บภาษีบาป หรือภาษีเหล้า - บุหรี่ ไพ่ น้ำมัน หรือภาษีสรรพสามิตทั้งหมดที่แพงมากแทน เป็นกลไกภาษีที่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารประเทศ
“ยุโรปเสียภาษีรายได้ส่วนบุคคลแพงแต่ไม่ต้องเสียภาษีอย่างอื่น เช่น ตัวรัฐสวัสดิการ คนเรียนฟรี รักษาฟรี มันคือการเล่นตรงนี้ แต่ตอนนี้รัฐบาลเลือกเพิ่มภาษีหลายตัวที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน”
ภาษีที่เก็บโดยตรง เขามองว่า มีส่วนทำให้การเก็บภาษีในภาพรวมมีความยุติธรรมมากขึ้น ใครไม่ทำก็ไม่เสีย หากเป็นภาษีเหล้า - บุหรี่ หากไม่ดื่มไม่สูบบุหรี่ก็ไม่ต้องจ่าย ถือเป็นสิ่งฟุ้มเฟือยที่หากต้องการก็ต้องรับภาระ แต่กับกรณีภาษีที่ดินที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้นั้น เขามองว่าเป็นการใช้กลไกการเก็บภาษีโดยตรงที่ไม่ดีนัก
“มันเปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมที่คิดค่าเฉลี่ยกันมาเป็นใครทำใครจ่ายภาพรวมมันก็จะมีความยุติธรรมมากขึ้น แต่มันจะมีคนที่เดือดร้อนกับความจำเป็น บางคนเขาใช้เพราะความจำเป็นแล้วต้องจ่ายมากขึ้น คือการจ่ายตรงควรเป็นภาษีฟุ่มเฟือยแต่เดิมเราก็ใช้วิธีนี้มาโดยตลอดคือภาษีสรรพสามิต แต่ของจำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ของที่เลี่ยงไม่ได้ คุณคิดภาษีเขามาก เขาก็ตายไม่มีจะจ่าย”
ภาษีคือหน้าที่
ในอีกมุมหนึ่งภาษีก็ถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศโดยรวม หากมีการจัดการที่ยุติธรรม มีมาตรการและมาตรฐานในการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพ ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มองว่าการเสียภาษีเพิ่มจะเป็นการทำให้ต้นทุนในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
“แต่ในบางเรื่องมันเป็นหน้าที่ของคนไทยหรือประชาชนที่ต้องเสียภาษี มันเป็นความเข้าใจที่ผิดที่ว่าทำไมอยู่ๆ มาเก็บจากฉัน อย่างที่ดิน ทำไมต้องมาเก็บในมุมหนึ่งอยากให้มองว่าการที่คุณมีที่ดินแล้วไม่นำมาทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม การที่ได้ที่ดินเหล่านั้นมาด้วยความได้เปรียบแล้วยังจะเอาเปรียบต่อไปเหรอ อันนี้คือมุมบวกที่ผมมองว่าการเก็บภาษีช่วยให้เกิดความเป็นธรรม”
แต่การเก็บภาษีในสังคมไทยยังมีช่องโหว่ช่องว่างโดยเขามองถึงร้านค้าออนไลน์มากมายที่ถือเป็นการค้าที่อยู่นอกระบบ แม้จะไม่ผิดกฎหมายแต่ไม่มีการเสียภาษีและไม่ได้อยู่จีดีพีของประเทศ ธุรกิจเหล่านี้ควรมีการเสียภาษีที่ถูกต้องโดยรัฐบาลต้องมีมาตรการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพด้วย
ในส่วนของภาษีโรงเรียนกวดวิชานั้น เขามองว่าเป็นสิ่งที่ควรจะมีการเก็บนานแล้ว โดยเมื่อครั้งที่แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ฝ่ายโรงเรียนกวดวิชามีการออกมาบอกว่าจะผลักภาระไปให้กับผู้ปกครองเด็กจึงมีเสียงต้านออกมามากมาย เขาเห็นว่า กระทรวงพาณิชย์หรือกรมการค้าภายในควรมีบทบาทในการควบคุมราคาเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค
“รัฐบาลชุดนี้กำลังถูกกระแสต่อต้านในแง่ที่ว่า ทำธุรกิจไม่เป็น ได้แต่รีดเงินภาษีจากคนในประเทศ แต่ถ้าเกิดรัฐบาลจะรีดก็รีด แล้วนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรม แล้วแสดงให้เห็นว่ามันเกิดประสิทธิภาพมากขึ้นในการเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำได้ผมคิดว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยอมรับและรับได้”
ทว่าหากมาตรการเก็บภาษียังคงเป็นอย่างที่เป็นอยู่ เขามองว่าจะเป็นส่งกระทบที่ไม่ดีนัก ควรมีการจัดการรายละเอียดต่างๆ ให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น
“ถ้าอยู่ดีๆ บอกจะเก็บแล้วมาตรการจัดเก็บทุกอย่างเหมือนเดิม ผมว่าอันนี้กระทบมากแล้วจะทำให้เกิดแรงต่อต้านที่สูงขึ้นมากทีเดียว แต่ถ้าเก็บเพิ่มขึ้นแล้วมีมาตรการปฏิรูปให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่ามันมีความแตกต่างจากเดิมยังไง แล้วรัฐบาลแสดงให้เห็นว่า ถ้าทำตามนี้เป้าหมายภาษีจะได้ตามนี้ ผมคิดว่าตรงนี้ประชาชนรับได้
“หลายยุคสมัยที่ผ่านมาจนถึงรัฐบาลชุดนี้เองก็ยังไม่มีการปรับมาตรการหรือมาตรฐานในการจัดเก็บภาษีมีแต่การเพิ่มภาษี สคบ.เป็นหน่วยงานที่น่าจะถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่านี้ ผนวกกับกรมการค้าภายใน มันต้องดูว่ารายละเอียดในการบังคับใช้เป็นยังไง ถ้ายังเป็นอย่างนี้อยู่หมายถึงวิธีการจัดเก็บยังเป็นแบบนี้อยู่มาตรฐานเท่านี้ แต่จะขึ้นภาษี มันส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะว่าอย่างน้อยที่สุดต้นทุนในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจมันเพิ่มสูงขึ้น”
การเก็บภาษีนั้นเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพอย่างหนึ่งของรัฐบาล ในมุมหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมหาศาล และอีกมุมมันสามารถชี้นำการพัฒนาประเทศได้
จนถึงตอนนี้รายละเอียดทั้งหมดคงเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องรอกันต่อไปว่าสุดท้ายรัฐบาลจะสามารถจัดการออกแบบมาตรการเก็บภาษีให้มีประโยชน์ต่อสังคมทั้งหมดได้หรือไม่ หรือจะเป็นเพียงแค่เรี่ยไรเงินเข้าคลังเท่านั้น
ข่าวโดย ASTV


ไม่มีความคิดเห็น: