PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

ชวนดูอำนาจของ “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย”ตามคําสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558

ชวนดูอำนาจของ “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย”ตามคําสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558

หลังจาก คสช. ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และประกาศคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557

คำสั่งนี้กำหนดให้ หัวหน้า คสช. สามารถแต่งตั้ง “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” อันได้แก่ ทหารที่มียศตั้งแต่ร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรีขึ้นไป (ทหารชั้นสัญญาบัตร) และให้มีผู้ช่วยพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยคือทหารที่มียศต่ำกว่าเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ลงมา

โดย "เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย" และ "ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย" จะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจตามกฎหมาย
ทั้งนี้ เจ้าพนักงานฯ ยังเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญาอีกด้วย
----------------------------------------------
เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย มีหน้าที่ดําเนินการป้องกันและปราบปราม การกระทําอันเป็นความผิดดังนี้
- ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ฯลฯ (มาตรา 107-112)
- ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร (มาตรา 113 - 118)
- ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธ เครื่องกระสุนปืน ฯลฯ ที่ใช้เฉพาะในการสงคราม
- ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่ง คสช. หรือ หัวหน้า คสช.
----------------------------------------------
อำนาจใหม่ของทหาร "เรียกคนรายงานตัว" "เข้าร่วมการสอบสวน" แต่ตรวจค้นจับกุมต้องมีหมายศาล
คำสั่งหัวหน้า คสช. กำหนดให้ "เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย" มีอำนาจออกคําสั่ง "เรียกให้บุคคลมารายงานตัว" หรือมาให้ถ้อยคำ เอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. และสามารถ "เข้าร่วมในการสอบสวน" ช่วยเหลือ หรือสนับสนุน พนักงานสอบสวนได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอำนาจใหม่ที่เพิ่มให้กับเจ้าพนักงานฯ
แต่ทั้งนี้ ในการจับกุมตัวบุคคลและตรวจค้นไม่สามารถทำได้อย่างอิสระเทียบเท่ากฎอัยการศึก เช่น การจับกุมตัวบุคคลต้องเป็นผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า และการจะเข้าไปตรวจค้น ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคล เคหสถาน หรือยานพานะ ต้องมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีความผิด และต้องอยู่ในภาวะเร่งด่วนที่ไม่อาจขอหมายศาลได้ทันเพราะจะทำให้ล่าช้าเกินไป หากเป็นการจับกุมในกรณีทั่วไปที่ไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าหรือการค้นที่ไม่ใช่กรณีเร่งด่วน เจ้าพนักงานไม่มีอำนาจทำได้เอง ต้องขอหมายศาลก่อน
สิ่งที่ไม่แตกต่างจากกฎอัยการศึกคือ "ปิดกั้นสื่อ" เพราะ เจ้าพนักงานฯ ก็มีอำนาจออกคําสั่งห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้ แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความทําให้ประชาชนหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนได้
----------------------------------------------
ไม่มีการกำหนดอำนาจเรื่องการประกาศเคอร์ฟิว และตรวจค้นข่าวสาร
ประเด็นที่ขาดหายไปเมื่อเทียบกับกฎอัยการศึก เช่น อำนาจห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถานภายในระหว่างระยะเวลาที่กําหนด หรือการประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งเป็นสิ่งที่ คสช. เคยใช้ในช่วงต้นของการรัฐประหาร นอกจากนี้การตรวจข่าวสาร จดหมาย โทรเลข หีบห่อ หรือสิ่งอื่นใดที่ส่งหรือมีไปมาถึงกัน ที่เป็นอำนาจในกฎอัยการศึกก็ไม่ปรากฏในคำสั่งฉบับนี้


ไม่มีความคิดเห็น: