PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2558

เปิดฉาก ฤดูการเมืองร้อน หลังสงกรานต์ รับศึกนอก-ในโถมใส่ ′รบ.ประยุทธ์′

เปิดฉาก ฤดูการเมืองร้อน หลังสงกรานต์ รับศึกนอก-ในโถมใส่ ′รบ.ประยุทธ์′

วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2558 เวลา 21:00:10 น.





เมื่อถึงเดือนเมษายนความร้อนตามฤดูกาลมิได้ปกคลุมแค่ชั้นบรรยากาศ แต่ยังปกคลุมไปถึงการเมืองที่จะเปิดฉากขึ้นในช่วงหลังสงกรานต์

เพราะ "ฤดูการเมืองร้อน" ช่วงเดือน "เมษายน-พฤษภาคม" ในทศวรรษที่ผ่านมา การเมืองมัก "ทะลุจุดเดือด" ในช่วงดังกล่าวแทบทุกปี เป็นเหตุให้ "ผู้มีอำนาจ-ฝ่ายรัฐบาล" ต้องปะทะกับ "ฝ่ายคัดค้าน" บ่มเพาะความขัดแย้งสีเสื้อมาถึงปัจจุบัน

ย้อนไปวันที่ 25 พ.ค. 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ชุมนุมใหญ่ครั้งแรกขับไล่ "รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช" ต่อเนื่อง "รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์"

เดือน เม.ย. 2552 "รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ต้องถูก "ล้อมเมือง" ครั้งแรกของคนเสื้อแดง-กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทำให้รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง พร้อมส่งกองกำลังทหารเข้ามาเคลียร์พื้นที่กรุงเทพฯในช่วงสงกรานต์

1 ปีถัดมา เม.ย. 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องเจอการต่อต้านของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นครั้งที่ 2 เกิดเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและฝ่ายทหาร มีผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บใน "เหตุการณ์ 10 เม.ย." และกลายเป็นการ "กระชับพื้นที่" เมื่อ 19 พ.ค.

ในยุค "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ฤดูการเมืองช่วง เม.ย.พักรบไป 2 ปี แต่หลังจากรัฐบาลผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนเกิดกลุ่ม กปปส.ขึ้นมา จุดเดือดอุณหภูมิการเมืองเข้มข้นขึ้นใกล้ถึงจุดเดือดในช่วง เม.ย. และ พ.ค. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและ กปปส.ต่างระดมกำลังพลวัต กำลังมวลชน กระทั่ง "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผู้บัญชาการทหารบก เข้ายึดอำนาจและกลายเป็นรัฐบาลปัจจุบัน

แม้ในเวลานี้ "รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์" จะไม่เผชิญแรงต่อต้านจากม็อบข้างถนนเหมือนรัฐบาลชุดก่อน ๆ หากยังมีศึกใน ศึกนอก ที่อาจเป็นเชื้อไฟรอคอยอยู่
กรณีแรกหลังจบสงกรานต์ คือ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะส่งร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกไปให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซักฟอกข้อดี-ข้อเสียถึง 6 วันติดต่อกัน ตั้งแต่วันที่ 20-26 เม.ย.

ตามจ็อบเดสคริปชั่นของ สปช. มีหน้าที่ทั้งเสนอประเด็นปฏิรูปทุกด้านให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไปเขียนลงในร่างรัฐธรรมนูญในตอนต้นของการยกร่างรัฐธรรมนูญ และมีหน้าที่เสนอความคิดเห็น และให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในตอนจบ

แต่เมื่อร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 315 มาตราเผยโฉมออกมา กลับมีเสียงท้วงติงจากนักวิชาการ นักการเมือง รวมถึงคนใน สปช.ก็เห็นต่างมุมมองกับผู้ยกร่างทั้ง 36 คน ไม่ว่าประเด็น "นายกฯคนนอก" ระบบการเลือกตั้งที่ประชาชนยังสับสน

ทำให้การซักฟอกตลอด 6 วันนั้นน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่า สปช.กับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญยอมหัก ยอมงอได้มากแค่ไหน เพราะหาก สปช.ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ เท่ากับคว่ำโรดแมปปฏิรูปของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้กระบวนการทั้งหมดต้องเริ่มต้นนับ 1 ใหม่

กรณีต่อมาเป็นการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ สนช. ประเด็นที่เผ็ดร้อนที่สุดคือการถอดถอน "บุญทรง เตริยาภิรมย์" อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จากปมทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจี ซึ่งจะมีการแถลงเปิดคดีในวันที่ 23 เม.ย. อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกฯ ถูก สนช.ลงมติ 190 ต่อ 18 เสียงถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกฯ จากกรณีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวไปก่อนแล้ว จึงลุ้นว่า "บุญทรง" และพวกถูก สนช.ลงมติถอดถอนเช่นเดียวกับอดีตนายกฯหญิงหรือไม่

คดีเรื่องการถอดถอนยังไม่จบแค่ "ยิ่งลักษณ์" กับ "บุญทรง" และพวก เพราะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีถอดถอน 250 อดีต ส.ส.พรรคข้างรัฐบาลเพื่อไทย ที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. ซึ่ง ป.ป.ช.เตรียมส่งสำนวนมาให้ สนช.ดำเนินการพิจารณาถอดถอน โดยคาดการณ์ว่าจะเริ่มในช่วงปลายเดือน เม.ย.

อย่างไรก็ตาม ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายคนที่ตกเป็นจำเลยถอดถอน พยายามจับสัญญาณอนาคตของตนเองว่าจะถูกถอดถอนหรือไม่ โดยต่างมองไปในทางบวกว่า สนช.จะไม่ลงมติถอดถอนอดีต ส.ส.เพราะ สนช.ได้จัดการปลาตัวใหญ่อย่าง "ยิ่งลักษณ์" ไปแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องจัดการกับปลาตัวเล็กอีก

ส่วนชะตากรรมของ "ยิ่งลักษณ์" ซึ่งถูก สนช.ถอดถอนออกจากตำแหน่งไปแล้ว เหลือคดีอาญาที่อดีตนายกฯจะต้องไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่ง "ยิ่งลักษณ์" จะต้องไปรายงานตัวต่อหน้าศาลเป็นครั้งแรก ตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2542 ในวันที่ 19 พ.ค. อันจะเป็น "ปมร้อนยิ่งกว่าร้อน" ในช่วงถัดไป

และอีกหนึ่งชะตากรรมของครอบครัวชินวัตร-คู่เขยของตระกูลอย่าง "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" จะต้องเดินขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 11 พ.ค.นี้ เช่นเดียวกับน้องสะใภ้ "ยิ่งลักษณ์" ในข้อหาสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่ม พธม.เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551

ยังไม่นับ "แรงกระเพื่อม" ที่มาจากฝ่าย นปช.ที่เริ่มทวงถามความคืบหน้าคดี 99 ศพ จากการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ที่เร่งให้รัฐบาลให้ความชัดเจน รวมถึงการขออนุญาตจัดงานทำบุญให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 10 เม.ย. 53 แต่ถูก คสช.ปฏิเสธไม่ให้จัดงานดังกล่าว ถูกนำมาเทียบเคียงการทำบุญครบรอบวันเกิด 2 พรรคการเมืองที่ คสช.ไม่ได้ห้าม ก็จะถูกนำมาขยายผลต่อเนื่องหลังจากนี้

เป็นภาพฤดูกาลการเมืองร้อนหลังช่วงสงกรานต์นี้

เป็นการสาดน้ำ (ร้อน) ปีใหม่ไทยให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้นำรัฐบาลไทยคนปัจจุบัน





(ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ 13-15 เมษายน 2558)

ไม่มีความคิดเห็น: