PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2558

การเมือง'ไม่จบ'หลังสงกรานต์

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 13 เมษายน 2557,

นักวิชาการหลายสำนักเห็นตรงกัน การเมืองหลังสงกรานต์ยังไม่ถึงจุดแตกหัก เชื่อไม่มีมวลชนสองฝ่ายปะทะกัน

นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงการเมืองช่วงหลังสงกรานต์ที่หลายฝ่ายประเมินจะถึงจุดแตกหัก โดยเฉพาะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรี จากการสั่งย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า สถานการณ์การเมืองน่าจะยังยืดเยื้อต่อไป และคงยังไม่ถึงจุดแตกหัก เพราะท่าทีของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ประกาศมุ่งปกป้องประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง หากนางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ได้เป็นนายกฯ ก็น่าจะสนับสนุนรองนายกฯคนอื่นขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทนต่อไป

"ผมคิดว่าอาจเกิดแนวทางสละยิ่งลักษณ์เพื่อรักษาพรรคเพื่อไทยและกลไกที่ตนเองมีโอกาสกลับมา คือ มีอำนาจผ่านการเลือกตั้ง เชื่อว่า นปช.และเพื่อไทยคงไม่ปล่อยให้ทหารออกมาประกาศกฎอัยการศึก"

นายไชยันต์ กล่าวอีกว่า แม้ นางสาวยิ่งลักษณ์ จะโดนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ แต่รัฐมนตรีบางคนอาจไม่พ้นจากตำแหน่งโดยอัตโนมัติไปด้วย เพราะรัฐมนตรีเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตอนที่ย้ายนายถวิล ยิ่งถ้าศาลไม่ได้ชี้ประเด็นนี้ จะเอากฎหมายอะไรไปชี้ ครม.ที่จะพ้นไปด้วยควรเป็น ครม.ตอนเกิดเหตุย้ายนายถวิลเท่านั้น

นายไชยันต์ ยังกล่าวด้วยว่า สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมีการระดมมวลชนออกมาจากทั้งสองฝั่งช่วงหลังสงกรานต์ ไม่ว่าจะเป็น กปปส. หรือ นปช. แต่เชื่อว่าจะไม่เกิดการปะทะกันของมวลชนสองฝ่าย เพราะ นปช.เองตอนนี้ก็มีปัญหา คือเมื่อยังกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ไม่ได้ ทำให้อนาคตของอดีต ส.ส.และนักการเมืองท้องถิ่นยังไม่ชัดเจน การจะระดมคนหลักแสนหรือหลายแสนต้องพึ่ง ส.ส. แต่เมื่อยังไม่มีแนวโน้มว่าจะมีการเลือกตั้ง นักการเมืองเหล่านั้นย่อมไม่มีผลประโยชน์ร่วม จึงน่าจะไม่ช่วยขนคนจำนวนมากมาชุมนุม

ประสานเสียงไม่มีมวลชนปะทะ

นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการจากสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวกับ NOW TV ช่อง 26 ว่า สถานการณ์การเมืองช่วงหลังสงกรานต์ มีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงอยู่เหมือนกัน กรณีที่มวลชนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองมารวมตัวกันเยอะๆ แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา และโดยธรรมชาติของสังคมไทย เชื่อว่าโอกาสที่จะเกิดมวลชนปะทะกันน่าจะน้อย
"สังเกตจากปี 52-53 แกนนำเสื้อแดงยังยอมพามวลชนกลับบ้าน ทั้งๆ ที่สถานการณ์คุกรุ่นกว่านี้ มีการเผชิญหน้ากับทหาร มีควันไฟในกรุงเทพฯ แต่ครั้งนี้ยังไม่เห็น อีกทั้งยังมีความพยายามจัดพื้นที่การชุมนุมของตวัเอง ถือเป็นท่าทีที่แสดงให้เห็นว่าสัญญาณที่ทั้งสองฝ่ายจะนำมวลชนมาเผชิญหน้ากันคงยากพอสมควร
ขณะที่ นายวันวิชิต บุญโปร่ง นักวิชาการจากวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว่วา ความรุนแรงในลักษณะมวลชนสองฝ่ายปะทะกันไม่น่าจะมี แต่น่าจะไปลงที่องค์กรอิสระมากกว่า โดยเฉพาะกับการตัดสินหรือวินิจฉัยแล้วไม่เป็นคุณกับฝ่ายตน

กปปส.ได้ทีเย้ยรัฐถึงทางตันชงใช้ ม.7

นายถาวร เสนเนียม แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กล่าวถึงกรณี นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เสนอทางออกหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ พ้นสภาพการเป็นนายกฯ โดยใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 เพื่อกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยแนวทางการแก้ปัญหา ว่า ท่าทีของนายชัยเกษม แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ รู้มาโดยตลอดว่ารัฐบาลรักษาการสามารถพ้นสภาพได้ แต่กลับพูดอีกอย่างหนึ่งเหมือนไม่ยอมรับ
"วันนี้รัฐบาลยอมรับรัฐธรรมนูญมาตรา 180 กรณีที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ใช้อำนาจหน้าที่ในการโยกย้ายกลั่นแกล้งข้าราชการประจำเพื่อประโยชน์ของพวกพ้องและเครือญาติ แต่การต่อสู้ในข้อกฎหมาย รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์พยายามตะแบง ดันทุรังให้สัมภาษณ์บิดเบือนเพื่อพยายามที่จะอยู่ต่อเพื่อสืบทอดอำนาจ ซึ่งขณะนี้ถึงทางตัน ไม่มีที่ไปแล้ว"

ชี้ขอพระบรมราชวินิจฉัย "มิบังควร"

"ขอเตือนรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ทั้งคณะว่า ขณะนี้พวกคุณหมดความชอบธรรมที่จะอยู่ต่อ และหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นางสาวยิ่งลักษณ์พ้นสภาพจากกรณีนี้ (นายถวิล เปลี่ยนศรี) เท่ากับว่ารัฐบาลนี้สิ้นสภาพไปเช่นเดียวกัน และกรณีนี้ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ที่ระบุว่าจะขอให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยนั้น ถือเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท เพราะพระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง ไม่เกี่ยวกัน ถือว่ามิบังควร" นายถาวร กล่าว
เมื่อถามว่านายชัยเกษมระบุว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้นายกฯสิ้นสภาพ ถือว่าเกินรัฐธรรมนูญ นายถาวร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 180 และ 182 มุ่งหมายให้สถานภาพการเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และไม่สามารถรักษาการต่อไปได้ คือ 182(1) (2) (3) (7) (8) ซึ่งย่อมเป็นกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้ที่อยู่ระหว่างรักษาการ เช่น ตาย ถูกจำคุกระหว่างรักษาการ หรือถูกชี้มูลว่า ผิด มาตรา 268, 269 ในระหว่างรักษาการ ซึ่งกรณีนี้หากนางสาวยิ่งลักษณ์ถูกชี้มูลว่าผิด สภาพก็สิ้นสุดลงเฉพาะตัว และไม่อาจรักษาการได้ ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะไม่อาจอยู่รักษาการได้ไปด้วยกัน

"ชัยเกษม"แจงม.7ความเห็นส่วนตัว

ด้าน นายชัยเกษม กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นความเห็นส่วนตัวที่ยังไม่ได้มีการหารือร่วมกับรัฐบาล แต่ในฐานะนักกฎหมายมองว่า หากมีคำวินิจฉัยออกมาให้นายกฯพ้นสภาพ ก็ไม่มีทางออกอื่น เพราะรัฐบาลมาจากการโปรดเกล้าฯ การจะได้นายกฯใหม่ก็เป็นไปตามพระบรมราชวินิจฉัย
นายชัยเกษม กล่าวอีกว่า กรณีนี้เห็นว่าเป็นความจำเป็นสอดคล้อง และเข้าเงื่อนไขใช้มาตรา 7 ได้ โดยจะพยายามให้การดำเนินการทุกอย่างเดินหน้าไปภายใต้กรอบของกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุด ส่วนรัฐบาลจะเห็นด้วยหรือไม่เป็นดุลพินิจของรัฐบาล
"ที่ผ่านมามีความพยายามให้มีนายกฯ มาจากมาตรา 7 โดยไม่มีพื้นฐานที่น่าจะทำได้ แต่ก็ยังต้องการให้มีให้ได้ ทั้งที่เหตุการณ์ปกติ แต่หากเป็นกรณีนี้ไม่รู้จริงๆ ว่าจะออกทางไหน แต่รัฐธรรมนูญถูกกำหนดให้เป็นกฎหมายสูงสุด เมื่อไม่มีทางแก้ก็ต้องใช้ข้อกฎหมายที่ทำได้" นายชัยเกษม กล่าว
มีรายงานว่า พรรคเพื่อไทยเตรียมเรียกประชุมหลังสิ้นสุดวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ เพื่อสอบถามนายชัยเกษมและให้ชี้แจงต่อที่ประชุมเกี่ยวกับแนวคิดการใช้มาตรา 7

เชื่อใช้มาตรา 7 ป้องกันสุญญากาศ

แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ข้อเสนอของนายชัยเกษมนั้น คงเกิดจากประเด็นที่ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกฯต้องพ้นจากตำแหน่ง จะเกิดสุญญากาศทางการเมืองในการบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากโดยหลักของกฎหมายมหาชนกำหนดว่าการบริหารราชการต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน
ส่วนฝ่าย กปปส.ก็ระบุชัดว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกฯ พ้นสภาพ แต่หากนายกฯไม่ยอมจะประกาศเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เมื่อถึงวันนั้นเหตุการณ์ก็คงจะวุ่นวาย ด้วยเหตุนี้นายชัยเกษมจึงจำเป็นต้องหาแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมาในอนาคต
///////////////////////
นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังวันหยุดยาวสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 21-24 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดเอเชีย-แอฟริกา (Asian-African Summit ที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งงานดังกล่าวจะมีการเชิญผู้นำจากประเทศต่าง ๆ มาร่วมหารือถึงความ ร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐ และนายกรัฐมนตรีอาจจะมีการหารือทวิภาคีกับประเทศอื่น ๆ อีกด้วย

จากนั้นในช่วงปลายเดือน เม.ย. นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ที่ประเทศมาเลเซีย และร่วมการประชุม สุดยอดความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ อินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย ที่ประเทศมาเลเซียต่อทันที โดยประเด็นสำคัญจะมีการหารือถึงความร่วมมือในการซื้อสินค้า ข้าว ยางพารา และสินค้าเกษตรอื่น ๆ

ส่วนการลงพื้นที่ในจังหวัดอื่น ๆ ภายในประเทศนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่มีดำริในเรื่องนี้ แต่ได้ระบุว่า อยากลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเยี่ยมเยือนและติดตามการแก้ไขปัญหาให้แก่พี่น้องประชาชน คณะทำงานจึงต้องมีการพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมในการลงพื้นที่ ครั้งต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: