PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ไทยอนุญาตให้สหรัฐฯ บินลาดตระเวนช่วยผู้อพยพในทะเลอันดามัน

ไทยอนุญาตให้สหรัฐฯ บินลาดตระเวนช่วยผู้อพยพในทะเลอันดามัน

เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการจาก 17 ประเทศ ที่เข้าร่วมประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย กำลังร่วมหารือเพื่อหาทางคลี่คลายปัญหาผู้อพยพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญาที่มาจากเมียนมาร์และบังกลาเทศ พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศบอกว่าเวทีนี้ไม่ใช่ “ปาหี่” ไม่ใช่เวทีพูดแสดงความคิดเห็น แต่เป็นเวทีให้ประเทศต่าง ๆ แสดงเจตจำนงว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อร่วมคลี่คลายปัญหา และการย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกตินี้เป็นเรื่องที่ต้องแบกภาระร่วมกัน การประชุมจะเน้นเรื่องการเร่งช่วยชีวิตผู้ที่อยู่ในทะเล ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่ามีอยู่เท่าไร และแต่ละฝ่ายประเมินตัวเลขต่างกันระหว่าง 3,000-9,000 คน นอกจากนั้นจะร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวโดยเน้นเรื่องการปราบปรามการค้ามนุษย์ และการเข้าไปแก้ไขปัญหาในประเทศต้นทาง รัฐมนตรีต่างประเทศไทยยังบอกด้วยว่าประเทศไทยไม่ได้ขอร้องที่ประชุมว่าห้ามใช้คำว่า “โรฮิงญา” ทั้งนี้เป็นเรื่องที่แต่ละประเทศใช้วิจารณาญานเอง และรัฐบาลไทยเปิดกว้าง ผู้ร่วมประชุมจะสามารถใช้คำว่าอะไรก็ได้

พล.อ. ธนะศักดิ์ บอกว่าไทยไม่สามารถจัดตั้งที่พักพิงชั่วคราวแบบเดียวกับมาเลเซียและอินโดนีเซียได้ เพราะว่าไทยยังคงแบกภาระรับผู้ลี้ภัยและผู้ไร้ถิ่นฐานอีกราว 130,000 คน ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 อย่างไรก็ตามไทยยืนยันให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและรัฐบาลได้อนุญาตให้สหรัฐฯ ร่วมบินลาดตระเวน สามารถเริ่มปฏิบัติการได้ตั้งแต่วันนี้ โดยจะเป็นการประสานงานกับทางกองทัพไทย ยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้ที่ไหนเป็นฐาน แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายไทย อย่างไรก็ตามขณะนี้สหรัฐฯ มีฐานบินอยู่ที่เมืองซุบัง ในมาเลเซียแล้ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศยังบอกด้วยว่าได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานระหว่างไทยกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่น (ไอโอเอ็ม) โดยไอโอเอ็มได้จัดสรรงบช่วยเหลือ 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 67 ล้านบาท ศูนย์ดังกล่าวนี้จะประสานงานและทำงานร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาติเพื่อดูว่าประเทศไหนจะสามารถรับผู้อพยพได้จำนวนมากน้อยแค่ไหน


ไม่มีความคิดเห็น: