PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

'ปชต.'ต้องเสียเงิน-ขี้เหนียวไม่ได้

'ปชต.'ต้องเสียเงิน-ขี้เหนียวไม่ได้

'ปชต.'ต้องเสียเงิน-ขี้เหนียวไม่ได้

'วิษณุ' ชี้ จะเป็นประชาธิปไตยก็ต้องเสียเงิน ขี้เหนียวไม่ได้ เผย ส่วนตัวอยากทำประชามติ ระบุ ตัด ม.44 ไม่ได้ เป็นเครื่องมือใช้แก้ปัญหา

 
                     21 พ.ค. 58  เมื่อเวลา 10.30 น.  ที่ทำเนียบรัฐบาล  นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความเห็นจากหลายภาคส่วนในการทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ ว่า มีคนบอกว่าชักไม่แน่ใจว่าจะมีการทำประชามติหรือไม่ ตนก็ไม่อยากไปยืนยันฟันธงในเวลานี้ แต่การที่อุตส่าห์ลงทุนลงแรงแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อเปิดทางก็ควรจะเข้าใจ แต่จะมาบอกว่าต้องแน่หรือไม่แน่ พูดอย่างนั้นไม่ได้ มันต้องเผื่ออะไรเอาไว้หน่อย แต่ให้รู้เถอะว่าที่ลงทุนมาขนาดนี้ก็คือเพื่อให้เดินไปสู่ประชามติ อย่าระแวงอะไรเลย
 
                     ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อเปิดทางทำประชามตินั้น เป็นการปลดล็อกผ่อนคลายความรู้สึกหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวยอมรับว่า ใช่ และยังแสดงเจตนาว่าจะไปสู่จุดนั้นจริงๆ มันไม่มีเหตุอะไรที่จะมาขัดขวาง เว้นแต่ สปช.จะโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถเดินไปได้ต่อ อย่างไรก็ตาม จากที่ได้ฟังความเห็นหลายฝ่ายเกรงว่าจะมีการซื้อเวลาหรือยื้อเวลา ตนพูดมาแต่ต้นว่านอกจากเสียเงินแล้วต้องเสียเวลา แต่เมื่อต้องการประชามติ และคิดว่าคุ้ม ก็ไม่ขัดข้อง
 
                     "พูดถึงเสียเงิน ภาษาฝรั่งมีคำว่า the price of democracy จะเป็นประชาธิปไตยก็ต้องเสียเงิน ขี้เหนียวไม่ได้ ฆ่าควายอย่ามัวเสียดายพริก ส่วนเรื่องเสียเวลามันก็ต้องยอมเอา เพราะจะเอาเร็วเข้าว่า 3 วัน 7 วัน ประชามติเลยก็ไม่ได้ แต่ในทางปฏิบัติก็ต้องช่วยกันเร่งรัดฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำให้มันเร็ว 4 เดือนก็อย่า 4 เดือนเป๊ะ 3 เดือนได้ไหม"
 
                     ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนตัวแล้วอยากทำประชามติหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวสั้นๆ ว่า “อยาก” เมื่อถามต่อว่า มีบางฝ่ายมองว่า การทำประชามติไม่มีประโยชน์ สู้นำรัฐธรรมนูญฉบับที่ดูสมบูรณ์แบบแล้วนำมาปรับปรุงและประกาศใช้จะดีกว่าหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถือเป็นทางออก แต่ก็จะมีคนไม่พอใจอยู่ดี พูดก็พูด การที่เราใช้ระบบแต่งตั้งคนเข้ามาทำงานดูดีกว่า แต่ก็มีคนไม่พอใจ ทำไมตั้งคนนี้ถึงพอใจ แต่ตั้งอีกคนกลับไม่พอใจ ผลสุดท้ายจึงต้องนำคุณสมบัติมาพูดกัน
 
                     ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าคนศรัทธาใน กมธ.ยกร่างฯ ปฏิกิริยาของสังคมจะไม่ออกมาเช่นนี้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นก็คงหนีไม่พ้นที่จะไปลงประชามติ ส่วนที่บอกว่า คสช.แต่งตั้งคนเข้าไปทำงานจนไม่เป็นที่ยอมรับนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ตอนแรกที่ตั้งก็นึกว่าดีแล้วถ้าไปตั้งคนอื่นก็จะหาว่าไม่ดีอีก เชื่อหรือไม่ว่าวันนี้มีคนที่อยู่ในบัญชีที่เคยคิดจะตั้ง แต่ก็ไม่ได้ตั้งเพราะสาเหตุใดไม่ทราบ ซึ่งคนเหล่านั้นเมื่อไม่ได้ถูกแต่งตั้งให้ทำงาน ก็ออกมาให้ความเห็นอยู่ในเวลานี้ ตนก็นึกในใจว่าก็เป็นบุญเหมือนกันที่ไม่ได้ตั้งคนพวกนี้ เพราะพูดอะไรแปลกกว่าคนที่ได้ถูกแต่งตั้งเข้าไปทำงานอีก
 
 
 
ตัด ม.44 ไม่ได้ เป็นเครื่องมือใช้แก้ปัญหา
 
 
                     นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีที่นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ระบุให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวในหลายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 44 ที่แม้ใช้แก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว แต่อาจจะเป็นการทำลายรากฐานประชาธิปไตย ว่า นายเทียนฉาย คงหมายถึงว่า อย่าใช้อำนาจนั้นไปในทางพร่ำเพรื่อ ซึ่งมาตราดังกล่าวคงไม่สามารถตัดได้ เนื่องจากเอาไว้ใช้แก้ปัญหาอะไรบางอย่าง ซึ่งตนก็ได้แจ้งให้ ครม.ทราบ เมื่อวันที่ประชุมร่วมระหว่าง ครม. - คสช. ในวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่ามาตรา 44 นั้น มีทั้งพระเดชและพระคุณ ขึ้นอยู่กับการใช้ ซึ่งบัญญัติให้ใช้ทั้งทางบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้นจะใช้อำนาจนี้ในทางตุลาการจับผู้กระทำผิดได้ก็ตัดสิน คือ ตั้งตนเป็นศาล แต่คำสั่งตามมาตรา 44 ที่ออก 17 ฉบับ ยังไม่มีการใช้ในทางตุลาการแม้แต่ฉบับเดียว ใช้เพียงทางนิติบัญญัติและบริหาร เช่น แก้ไขข้อขัดข้องเล็กๆ น้อยๆ
 
                     "ส่วนเรื่องใหญ่อย่างการออกกฎหมาย ก็ให้อำนาจ สนช.พิจารณา หรือการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งเหตุผลที่ไม่ใช้อำนาจตามปกติเนื่องจากบางครั้งใช้ไม่ได้หรือใช้เวลานาน เป็นต้นว่า กรณีการแก้ปัญหาของกรมการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ที่ต้องใช้มาตรา 44 เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการแก้ปัญหา"
 
                     ผู้สื่อข่าวถามว่า มีแนวโน้มใช้มาตรา 44 ในทางตุลาการหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีแนวโน้มใดๆ เพราะหากจะใช้คงใช้ไปนานแล้ว ซึ่งถ้าดูจากคำสั่งหัวหน้า คสช. 17 ฉบับที่ผ่านมา ล้วนใช้ไปในทางบวก เช่น การโยกย้ายข้าราชการที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการทุจริต ซึ่งหากตรวจสอบแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องก็กลับไปดำรงตำแหน่งเดิมได้ สาเหตุที่ทำเช่นนี้เพราะหลายเรื่องค้างมาหลายปี หน่วยงานตรวจสอบขอหลักฐานเท่าไหร่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจนกระทั่งคดีจะขาดอายุความ

ไม่มีความคิดเห็น: