PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ระวังโรฮิงญาจะกลายเป็น ประเด็นขัดแย้งอาเซียนกันเอง

ระวังโรฮิงญาจะกลายเป็น ประเด็นขัดแย้งอาเซียนกันเอง 
โดย : กาแฟดำ

กระทรวงต่างประเทศไทยบอกว่า ได้ออกจดหมายเชิญไปยัง 17 ประเทศ ให้มาประชุมที่บ้านเราเพื่อหาทางแก้ปัญหา “โรฮิงญา”ร่วมกันเพราะเป็นปัญหาสากล มิใช่ภาระของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป

กำหนดวันประชุมที่ประเทศไทยเป็น 29 พฤษภาคมนี้

เดิมเข้าใจว่าหัวข้อเป็นเรื่องผู้ย้ายถิ่นฐานในภาวะไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย และมีรายชื่อประเทศที่จะเข้าร่วมประชุม 15 ประเทศ

แต่ข่าวล่าสุดเมื่อวานบอกว่ากระทรวงต่างประเทศ ใช้หัวข้อระบุเป็นประเด็นโรฮิงญา และเพิ่มผู้ได้รับเชิญเป็น 17 ประเทศ

คนที่เป็นผู้อำนวยการสำนักงานของประธานาธิบดีเต็งเส่งแห่งพม่า ออกข่าวผ่านสำนักข่าวเอพีและเอเอฟพี ตรงกันด้วยภาษาดุดันว่าถ้าประเทศ ไทยระบุคำว่า “โรฮิงญา” ในคำเชิญมาร่วมประชุม พม่าก็อาจไม่ส่งใครมาร่วม เพราะพม่าไม่ยอมรับว่ามี “โรฮิงญา” ในประเทศของเขา มีแต่ชาว “บังกะลี” หรือบังคลาเทศที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

พูดแค่นั้นยังไม่พอ เจ้าหน้าที่ในทำเนียบประธานาธิบดีพม่ายังบอกว่าด้วยว่า ปัญหานี้อย่าโยนมาว่าพม่าเป็นต้นตอ ความจริงปัญหานี้เกิดเพราะไทยเอง ไม่สามารถแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ได้ต่างหาก และคลื่นมนุษย์อพยพที่ประดังไปไทยในช่วงนี้ ก็เพราะเจ้าหน้าที่ไทยเริ่มปราบปรามอย่างเข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม

เขากำลังบอกว่าพม่าไม่เกี่ยว ไทยต้องแก้ปัญหาเอง

แต่ทั้งมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, และบังคลาเทศ ก็ชี้นิ้วไปที่พม่าว่าเป็นคนผลักดันชาวโรฮิงญาออกมานอกประเทศ กลายเป็นปัญหาของคนอื่นโดยที่พม่าไม่ยอมรับรู้ ว่านี่คือภาระที่ตนเองผลักไปให้กับคนอื่นอย่างไม่เป็นธรรม

พอจะเห็นริ้วรอยของความขัดแย้งระหว่างพม่ากับเพื่อนบ้าน และหากอาเซียนทั้ง 10 ประเทศไม่หาทางพูดจากันให้รู้เรื่อง เรื่องโรฮิงญาก็จะกลายเป็นปมเงื่อนแห่งปัญหา ในหมู่ประเทศอาเซียนด้วยกันอีกเรื่องหนึ่ง

แรงกดดันที่ลงมายังไทย, มาเลเซีย, และอินโดนีเซีย จากสหรัฐ, องค์กรสหประชาชาติ หรือองค์กรเอ็นจีโอระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็น Human Rights Watch หรือ Amnesty International ยังไม่ชี้นิ้วไปที่พม่า จะด้วยเหตุอะไรก็ตามที ทำให้เห็นว่าเรื่องนี้มีหลายมาตรฐานของประเทศและองค์กรต่าง ๆ แล้วแต่ว่าผลประโยชน์ของตนจะตกอยู่ซีกใด

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯยกหูถึงรัฐมนตรีต่างประเทศไทย

เลขาธิการสหประชาชาติโทรศัพท์ถึงนายกรัฐมนตรีไทย

ต่างก็แสดงความห่วงใยต่อชะตากรรมของชาวโรฮิงญา ซึ่งก็เป็นความกังวลของประเทศในแถบนี้ โดยเฉพาะที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางแห่งการอพยพลี้ภัย

ด้านหนึ่งเป็นปัญหามนุษยธรรม อีกด้านหนึ่งเป็นประเด็นความมั่นคง, เศรษฐกิจและสังคม

ปัญหาทำนองเดียวกันก็เกิดขึ้นในสหภาพยุโรป ที่กำลังเจอกับคลื่นผู้อพยพจากอัฟริกาและตะวันออกกลาง สมาชิกของสหภาพยุโรปต่างก็กำลังถกแถลงกันอย่างร้อนแรง ว่าใครควรจะรับผิดชอบภาระอันหนักหน่วงเช่นนี้

ลงท้าย เราก็ต้องมองปัญหานี้อย่างรอบด้านและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และประเทศหรือองค์กรที่เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ก็ต้องถามว่าตนเองจะเข้าร่วมแบ่งเบาภาระได้อย่างไร เพราะนี่ไม่ใช่ปัญหาของชาติใดชาติหนึ่งอีกต่อไป

ประเทศไทยจำเป็นต้องระดมความเห็นของทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้ให้เห็นถึงทุกมิติของปัญหา และจะต้องถ่วงดุลให้ดีระหว่างเมตตาธรรม, มนุษยธรรมกับความมั่นคงและภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเท่าที่ผ่านมาจะมีแต่คนที่พูดเพียงด้านเดียว แต่ไม่ยอมใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาปัจจัยแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่กระทบต่อเจ้าของประเทศนั้น ๆ ด้วย

โรฮิงญาเป็นปัญหาสลับซับซ้อนเพราะไม่ได้มีประเด็นเรื่องมนุษยธรรม, สิทธิมนุษยชนและกฎหมายเข้าเมืองเท่านั้น หากแต่ยังมีมิติด้านความมั่นคง ความซับซ้อนของนโยบายว่าด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ของประเทศต่าง ๆ รวมไปถึงบทบาทขององค์กรระหว่างประเทศ ที่จะต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของตนเองอีกด้วย

การถกแถลงอย่างร้อนแรงด้วยวาทกรรม “โลกสวย-โลกแห่งความเป็นจริง” ใน social media ประเด็นนี้ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริง เพราะต่างฝ่ายต่างใช้อารมณ์ความรู้สึก มากกว่าที่จะวิเคราะห์ด้วยข้อมูลและภาพของความเป็นจริง ที่ว่ามนุษยธรรมกับความมั่นคงต้องเดินเคียงคู่กันไปเสมอ เพื่อความยุติธรรมทั้งต่อเจ้าของบ้าน ผู้มาเยือน และผู้มาขอร่วมชายคาทั้งในลักษณะชั่วคราวหรือถาวร

ภาพที่เห็นเป็นข่าวอาจเป็นเพียงบางมิติบางอารมณ์ และนำเสนอข้อเท็จจริงบางด้านในบางเท่านั้น การแสวงหาทางออกจึงต้องสอดคล้อง กับความต้องการของทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม และปฏิบัติได้ในความเป็นจริง
- See more at:http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/634535…

ไม่มีความคิดเห็น: