PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2558

จับสัญญาณกองทัพ 'ธีรชัย' ผงาด 'ทบ.1' - 'ปรีชา' นั่ง 'ปลัดฯ กห.'

โดย ไทยรัฐออนไลน์ 14 ส.ค. 2558 05:00

37,605 ครั้ง


เป็นที่แน่ชัดนายทหารจากค่าย "บูรพาพยัคฆ์" ยังคงผงาดโลดแล่นสยายปีกคุมถิ่นรั้วแดง-กำแพงเหลือง ราชดำเนินต่อไป เมื่อ "บิ๊กโด่ง" พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. เสนอชื่อ "บิ๊กหมู" พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผช.ผบ.ทบ.(1) ในฐานะเพื่อนร่วมรุ่น ตท.14 ขึ้นเป็น "ผบ.ทบ." คนที่ 39 หลังหารือพี่ใหญ่ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม โดยจะโยก "บิ๊กติ๊ก" พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผช.ผบ.ทบ. น้องชาย "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ไปเป็น ปลัดฯ กห. เพื่อลดตำบลกระสุนตก เป็นเป้าในการถูกโจมตีทางการเมืองและกองทัพ ก็ส่งผลให้นายทหารจากถิ่น "บูรพาพยัคฆ์" ได้ก้าวขึ้นเป็นแม่ทัพบกตามติดกันมานับเป็นคนที่ 5 แล้ว…

ความเคลื่อนไหวในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2558 จะชัดเจนในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ว่าใครจะนั่งเป็น ผู้นำเหล่าทัพคนใหม่ ต้องถือว่าเป็นฤกษ์ดีของ "แม่ทัพบก" คนใหม่ เพราะ "บิ๊กโด่ง" พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และ ผบ.ทบ. จะเป็นผู้นำรายชื่อในส่วนของกองทัพบก ส่งมอบให้ถึงมือพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม
บิ๊กโด่ง เตรียมเกษียณ
วันที่ 15 สิงหาคม อันเป็นวันเกิดครบรอบ 60 ปี ของ พล.อ.อุดมเดช ที่ถือเป็นวัน "แซยิด" และนับจากนี้อีกเพียง 45 วัน ก็จะต้องเกษียณอายุราชการ จะเหลือเพียงตำแหน่งทางการเมือง และเลขาฯ คสช. ฉะนั้นผู้ที่จะมานั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ. คนที่ 39 จะต้องเป็นคนที่ "บิ๊กโด่ง" สามารถคอนโทรลได้ พูดจากันรู้เรื่อง และจะต้องฝากฝังในภาคหน้าได้ ไม่ว่าจะเรื่องของงานหรือเรื่องส่วนตัว โดยเฉพาะการดูแลลูกน้องใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดอาการ "ขาลอย" ดังนั้น พล.อ.อุดมเดช จะเสนอชื่อใครจะต้องได้พูดจา หรือลงสัตยาบันกันแล้ว ก่อนปิดซองเสนอชื่อ "ผบ.ทบ." ต่อจากเขานับจากวันที่จะหมดอำนาจทางกองทัพ
พร้อมรับตำแหน่งใหม่
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาตอกย้ำเรื่องการจัดทำบัญชีโยกย้ายนายทหาร หลังจากได้รับรายชื่อจะนัดหมายกำหนดวันประชุมคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารระดับชั้นนายพลมีด้วยกัน 7 คน มี รมว.กลาโหม เป็นประธาน และ  รมช.กลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม และ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดย พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพล จะเป็นผู้รวบรวมบัญชีรายชื่อทั้งหมดก่อนจะนัดวันประชุม
พี่ใหญ่ "บูรพาพยัคฆ์"
"ใครก็ได้ทั้งนั้น แต่ต้องเลือกคนที่ดีที่สุด จะต้องพิจารณาถึงความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ความไว้วางใจ ความซื่อสัตย์ ตลอดจนผลงานที่ผ่านมาของแต่ละคน ซึ่งใกล้เคียงกันหมด จึงต้องดูว่าใครเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน"
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็แสดงทัศนะ ผู้มาเป็น ผบ.ทบ.จะต้องได้รับการยอมรับจากคนในกองทัพ หากเป็นแล้วปั่นป่วนทั้งหมด กองทัพคงไม่ชอบ ดังนั้น จะตั้งใครส่งเดชไม่ได้ เพราะวันข้างหน้าจะปั่นป่วน จึงต้องสร้างวัฒนธรรมให้ถูกต้อง ไม่ใช่เชียร์ใครคนนั้น จะได้เป็นตามนั้น อีกทั้งการแต่งตั้ง ผบ.ทบ.ที่ผ่านมา ไม่เคยมีปัญหาอะไร โดยเฉพาะไม่ต้องกลัวเรื่องปฏิวัติซ้อน และถ้าจะปฏิวัติมาบอก ตนจะยกให้ไปเลย พร้อมยืนยันไม่ได้ต้องการอำนาจ แต่ต้องการทำให้ประเทศมีอนาคตที่ดีต่อไป จะต้องดูทั้งในเรื่องความเหมาะสม รุ่น อาวุโส
จากสัญญาณบอกเหตุของทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ทำให้กองทัพ น่าจะรู้ว่าใครได้ตำแหน่งอะไร และตอกย้ำในเก้าอี้ ผบ.ทบ. และ ผบ.เหล่าทัพคนใหม่ที่จะมาสานงานต่อจากคนเก่า และร่วมงานกับรัฐบาล คสช. และนัยเพื่อเป็นการยุติปัญหา ต่อสู้แย่งชิงเก้าอี้ที่กำลังเกิดขึ้น ที่ พล.อ.ประยุทธ์ หวั่นที่สุดคือ ความแตกแยก ความขัดแย้งในกองทัพ ที่จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายทุกครั้งเมื่อมีการโยกย้ายนายทหาร การแต่งตั้ง ผบ.ทบ.

สิ่งที่น่ากังวลคือ สตาฟฟ์ กองเชียร์ ทีมงานของทั้ง พล.อ.ธีรชัย และ พล.อ.ปรีชา จะเปิดยุทธการทำลาย เพื่อหวังให้ "นาย" เข้าสู่เส้นชัยเท่านั้น แต่ผลที่ออกมาจะทำให้กองทัพเกิดความแตกแยก เสียภาพลักษณ์ ภาพพจน์นั่นเอง ดังนั้นเพื่อเป็นการให้กองทัพมียูนิตี้ ความเป็นเอกภาพ เมื่อ พล.อ.ประวิตร ได้รับรายชื่อมาจากเหล่าทัพ ก็จะรีบนำส่งให้ นายกรัฐมนตรี เพื่อทำการทูลเกล้าฯ ถวาย
พล.อ.ปรีชา คาดข้ามไปเป็น ปลัดฯกห.
เพราะเวลานี้ถนนราชดำเนิน ถูกแบ่งออกเป็นสองสาย ฝ่าย "บิ๊กหมู" พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผช.ผบ.ทบ.(1) ตท.14 ก็มั่นใจว่าทั้งรุ่น อาวุโส การเติบโตในตำแหน่งราชการ เหนือกว่า อีกทั้งได้รับการผลัดกันจาก พล.อ.ประวิตร และเพื่อน ๆ ตท.14 รวมทั้งเป็นนายทหารที่โตตามกันมากับ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร  ผบ.ทบ. ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่น และทีมงาน "บูรพาพยัคฆ์" แต่ในก็ยังมีคนพยายามปล่อยข่าว ว่าทั้งคู่ระหว่าง พล.อ.ธีรชัย กับ พล.อ.อุดมเดช มีคอนฟิกกัน ตั้งแต่การรับราชการเมื่อครั้งอยู่ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) เพราะขณะนั้น พล.อ.อุดมเดช เป็น ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 รอ.) ทหารเสือราชินี ส่วน พล.อ.ธีรชัย เป็น ผู้การกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.2 รอ.) ซึ่งจะต้องแข่งกันขึ้นเป็น รอง ผบ.พล.ร.2 รอ. และพล.อ.ธีรชัย ก็เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ จนต้องเด้ง พล.อ.อุดมเดช ไปเป็น รองผบ.พล.1 รอ. แต่นั่นคืออดีต ซึ่งปัจจุบันคนทั้งสองก็คือเพื่อนร่วมรุ่น ที่มีแวดล้อมเพื่อนฝูงในรุ่นรู้ว่า ต้องอยู่กับปัจจุบัน ต้องทำงานเพื่อประเทศชาติ
นายกฯเมื่อครั้งกับพล.อ.พิสิทธิ
ขณะที่ "บิ๊กติ๊ก" พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผช.ผบ.ทบ.(2) ตท.15 เป็นน้องชายในสายโลหิต "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. เป็นนายทหารที่เติบโตมาจากกองทัพภาคที่ 3 ส่วนใหญ่จะอยู่ในสายงานกิจการพลเรือน หรือ ฝ่ายเสนาธิการเป็นหลัก เกือบทุกตำแหน่งของ พล.อ.ปรีชา ได้รับการผลักดดันจากพี่ชาย พล.อ.ประยุทธ์ ให้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญ จนกระทั่งได้รับติดยศพลตรีในตำแหน่ง เสนาธิการกองทัพน้อยที่ 3 ก่อนจะขึ้นพรวดเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 3 เบียด พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ แม่ทัพน้อยที่ 3 (ตท.14) ออกจากเก้าอี้ เป็นการปิดทางการขึ้นเป็น "แม่ทัพภาคที่ 3" ของ พล.อ.สุรเชษฐ์ เพื่อเปิดทางให้ พล.อ.ปรีชา ก้าวขึ้นมานั่ง และในปีถัดมาก็ขึ้นเป็น แม่ทัพภาคที่ 3 จนพล.อ.ประยุทธ์ ต้องตอบแทนให้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ขึ้นเป็น รมช.ศึกษาธิการ 
จะเห็นได้ว่าทุกตำแหน่งของ พล.อ.ปรีชา พี่ชาย อาจมีส่วนจัดเส้นทางเดินไว้ให้หมดแล้ว ต่อจากนี้ก็เหลือแต่ "บุญ-วาสนา" เท่านั้น ดังนั้นการตัดสินใจ เลือกคนขึ้นมานั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ. คนที่ 39 จะต้องเลือกคนให้เหมาะสมกับสถานการณ์พิเศษ เพราะผู้ที่จะขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. จะต้องทำงานเข้าขากับรัฐบาล คสช. โดยเฉพาะจะต้องเป็นคนที่มองตารู้ใจกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล พล.อ.ประวิตร ในฐานะเจ้ากระทรวงปืนใหญ่ และที่สำคัญ จะต้องเป็นคนที่ พล.อ.อุดมเดช ไว้ใจหรือพูดคุยภาษาเดียวกันก่อนส่งมอบไม้ให้ ที่สำคัญจะต้องควบคุมสถานการณ์ที่ไม่ปกติให้อยู่ ปัจจัยหลายอย่าง ทำให้ผบ.ทบ.คนใหม่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของสถานการณ์บ้านเมืองที่ยังมีความขัดแย้ง อาจไม่ใช่เพียงแค่หลักการอาวุโส ความรู้ความสามารถ และการบังคับบัญชางานในกองทัพเท่านั้น แต่จะต้องมีการทำงานที่เข้าขากับทุกฝ่าย ในมิติเรื่องงานความมั่นคง กับ ผบ.เหล่าทัพคนใหม่ด้วย
บิ๊กโชย ว่าที่ เสธ.ทบ.
เหตุเพราะ พล.อ.ธีรชัย เคยดำรงแม่ทัพภาคที่ 1 มีบทบาทสำคัญในช่วงปฏิวัติรัฐประหาร นำกำลังร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในการยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถือว่าได้ร่วมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย อีกทั้งเป็นทหารจากบูรพาพยัคฆ์ ที่สนิทกับพี่น้อง 3 ป. ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ - พล.อ.ประวิตร - พล.อ.อนุพงษ์ รวมทั้งเคยเป็น ผบ.กองกำลังรักษาความสงบ (กกล.รส.) ซึ่งจะมีความคุ้นเคยกับ ผบ.หน่วยคุมกำลังหลักในกรุงเทพฯ อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องการให้ พล.อ.ปรีชา ถูกนำไปเป็นประเด็นทางการเมือง และนำไปโจมตีในเรื่องการแต่งตั้งน้องชาย เกรงว่าอาจจะถูกโยงเรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สินที่ยังคาใจคนหลายฝ่ายกันอยู่
เพราะหลังจากที่ พล.อ.อุดมเดช ได้หารือกับ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ข้อยุติที่ชัดเจน และได้ตกผลึกรวมกันในมิติของความมั่นคงต้องควบคู่กับงานรัฐบาล คสช. โดยเฉพาะในห้วงสถานการณ์พิเศษ จะต้องได้คนที่มีคุณสมบัติพร้อม รอบรู้ และทำงานในห้วงที่ประเทศชาติจะต้องปฏิรูป สร้างความปรองดอง ขจัดความขัดแย้ง เพื่อคืนความสุขให้ประชาชน โดยเป็นเอกฉันท์จะให้ "บิ๊กหมู" พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผช.ผบ.ทบ.(1) ขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.คนที่ 39 ส่วน พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผช.ผบ.ทบ.(2) จะข้ามไปเป็น ปลัดกระทรวงกลาโหม
โดยมี พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ เสธ.ทหาร (ตท.15) ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น  ผบ.ทหารสูงสุด เช่นเดียวกับ พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง ผช.ผบ.ทร.(ตท.14) ได้รับการผลักดันให้ เป็น ผบ.ทร. เพื่อสานงานเรื่องการจัดซื้อจัดหา "เรือดำน้ำ" 3 ลำ ต่อไปตามแผนการจัดกำลังรบของกองทัพเรือ
กองทัพพร้อมรับ ผู้บังคับบัญชาใหม่
สำหรับรายชื่อที่คาดว่าได้จัดส่งถึงมือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เพื่อทำการรวบรวม เรียบเรียง ก่อนส่งมอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป ประกอบด้วย
กองทัพบก
พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผช.ผบ.ทบ.(ตท.14) จะขึ้นเป็น ผบ.ทบ. พล.อ.วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล ที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. (ตท.14) เป็น รอง ผบ.ทบ. พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ.(ตท.17) เป็น ผช.ผบ.ทบ.(1) พล.ท.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ผบ.นสศ.) เป็น ผช.ผบ.ทบ.  พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 เป็น เสธ.ทบ. พล.อ.พอพล มณีรินทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ (ตท.16) เป็น ประธานณะที่ปรึกษา ทบ. (อัตราจอมพล)
พล.ท.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ แม่ทัพน้อยที่ 1 (ตท.18) เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.วราห์ บุญญะสิทธิ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 (ตท.18) เป็น แม่ทัพน้อยที่ 1 พล.ต.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล รองแม่ทัพภาคที่ 3 (ตท.16) เป็นแม่ทัพภาคที่ 3 พล.ต.บรรเจิด ฉางปูนทอง รองแม่ทัพภาคที่ 3 (ตท.16) เป็น แม่ทัพน้อยที่ 3 พล.ต.พะโจมม์ ตามประทีป รอง ผบ.นสศ. (ตท.16) เป็น ผบ.นสศ. พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 (ตท.20) เป็น รอง เสธ.ทบ.
กองทัพเรือ
พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง ผช.ผบ.ทร. (ตท.14) เป็น ผบ.ทร. พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ เสธ.ทร. (ตท.15) เป็น รอง ผบ.ทร. พล.ร.ท.พลเดช เจริญพูล รองเสธ.ทร. (ตท.14) เป็น ผช.ผบ.ทร. พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทร. (ตท.17) เสธ.ทร. พล.ร.ท.พงษ์เทพ หนูเทศ ผบ.รร.นายเรือ (ตท.16) เป็น ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ
กองทัพอากาศ
พล.อ.อ.ศิวเกียรติ ชเมยะ(ตท.16) เป็น รอง ผบ.ทอ.  พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง เสธ.ทอ. (ตท.16) เป็น ผช.ผบ.ทอ. พล.อ.เผด็จ วงษ์ปิ่นแก้ว ผบ.คปอ.(ตท.15) เป็น ผช.ผบ.ทอ. พล.อ.อ.อนันตศักดิ์ อะดุงเดชจรูญ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. (ตท.16)เป็น ผบ.คปอ.พล.อ.ท.สุทธิพงษ์ อินทรียงค์ รองเสธ.ทอ.(ตท.17) เป็น เสธ.ทอ.
กองทัพไทย
พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ เสธ.ทหาร (ตท.15) เป็น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) พล.อ.วลิต โรจนภักดี รอง เสธ.ทหาร (ตท.15) เป็น รอง ผบ.สส. พล.อ.ทวีป นิยมเนตร ผบ.นทพ. (ตท.16) เป็น รอง ผบ.สส. พล.อ.อ.สุทธิพันธ์ กฤษณคุปต์ ผชงผบ.ทอ.(ตท.16) เป็น รอง ผบ.สส. พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ รองเสนาธิการทหาร (ตท.15) เป็น เสนาธิการทหาร
สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผช.ผบ.ทบ. (ตท.15) เป็น ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ผอ.สำนักนโยบายและแผน (ตท.16) เป็น รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ชนะพล แก้ววาตะ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. (ตท.14)  เป็น รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ.อนุทัย รัตตะรังสี ที่ปรึกษาพิเศษ ทร.  (ตท.15) เป็น รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.วรฉัตร ธารีฉัตร ประธานคณะที่ปรึกษา ทอ. (ตท.15) เป็น รองปลัดกระทรวงกลาโหม
เปลี่ยนถ่าย แม่ทัพบก

ไม่มีความคิดเห็น: