PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558

'คณะกรรมการยุทธศาสตร์'

  • Monday, August 17, 2015 - 00:00

"พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก" เป็นคนแรก จากคำว่า "อ.ตร.-อธิบดีกรมตำรวจ" เปลี่ยนไปเป็น "ผบ.ตร.-ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ"
ถ้า...ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน และมีการประกาศใช้
ผบ.ตร.คนใหม่ ซึ่งอายุราชการยาวนานอีกถึง ๕ ปี คือ "พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา" ก็จะเป็น ผบ.ตร.คนแรก..........
เป็น ๑ ใน ๒๓ "คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง" มีอำนาจเหนือรัฐบาลและรัฐสภา
ตามโครงสร้างอำนาจบริหารและปกครอง ที่ คณะยกร่างรัฐธรรมนูญสลักเสลาขึ้น และจะเสร็จสรรพ ส่งถึง สปช.เสาร์ที่ ๒๒ ส.ค.นี้!
ส่วน ผบ.ทบ.ซึ่งยังไม่ทราบว่าใคร ระหว่างพลเอกธีรชัย นาควานิช กับพลเอกปรีชา จันทร์โอชา และน่าจะทราบกันวันนี้แล้ว
ก็จะเป็นอีก ๑ ใน ๒๓ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ด้วยเช่นกัน!
ฉะนั้น การที่ คสช.จะเลือกใครขึ้นเป็น ผบ.ทบ.และ ผบ.ตร.ครั้งนี้ ไม่ใช่เลือกเพื่อเป็นไปตามระเบียบ-ตามพอใจเท่านั้น
อาจมองได้ว่า เป็นการเลือกด้วยมิติ "คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ" อำนาจผนึกตัว เพื่อควบคุม-ขับเคลื่อนประเทศตามแผนปฏิรูปให้ลุล่วง ภายใน ๕ ปี
ผบ.ทบ.จะเป็นใคร....?
ดูเหมือนป่วนปั่นลั่นเลื่อนอยู่ภายในชนิดเป็นรายนาที ตลอดเสาร์-อาทิตย์ เรื่อยมาถึงวันนี้
ธีรชัยหรือปรีชา.....นี่เหมือนใบเซียมซีชี้ชะตาอนาคต "ฝั่งฝัน" คสช.และโดยเฉพาะท่านผู้นำ "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" อยู่มากเอาการ?
ในหัวเลี้ยว-หัวต่อ.......
ทั้งอำนาจ ผบ.เหล่าทัพ และทั้งรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญมีความหมายถึงโฉมหน้า-โครงสร้าง "อำนาจใหม่" ที่จะเข้ามาควบ-ขับเคลื่อนประเทศ
ฉะนั้น อย่าแปลกใจ ที่เห็นการเชิด "ผีทักษิณ" เข้ามาหลอนวัน-สองวันนี้เพราะผีก็คือผี แค่สมุนจนตรอกนำมาหลอกหากินกับพวกปัญญาอ่อน ช่วงสันตติกาลอำนาจเท่านั้น
เพราะประเทศตามโครงสร้างรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าผ่านไปใช้ได้ นักเลือกตั้งไม่ตาย เปลี่ยนสีหนังใหม่ตามแสงได้
แต่ความเป็นตัวตนทักษิณจะหมดความหมาย ค่อยๆ แห้งตายไปจากโลกอำนาจใต้นิยาม "แปลงประเทศเป็นบริษัทของตระกูล"!
วันนี้ คือระหว่าง ๑๗-๒๑ ส.ค. .......
สนใจที่สภาปฏิรูปแห่งชาติหน่อยก็ดี บรรดาสมาชิกเขาจะลงมติกันว่า..........
จะตั้งประเด็นคำถามอะไร เพื่อส่ง ครม.พิจารณานำไปจัดทำประชามติ พร้อมร่างรัฐธรรมนูญ?
และ ๗ กันยา ร่างรัฐธรรมนูญนั้น สปช.ก็จะลงมติกันละว่า จะรับหรือจะคว่ำ?
เห็นนักเลือกตั้งขั้วใหญ่ด่าเละ บอกไม่เอา สาปส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งก็เป็นสิทธิ์ที่ใครจะเอาหรือไม่เอา
ดู ๗ กันยาก่อน ถ้า สปช.คว่ำ ก็ไปตั้งต้นร่างกันใหม่ แต่ถ้าหงาย คือเอา คสช.เขาก็แฟร์ ไม่ประกาศใช้ทันที
แต่จะมอบให้ กกต.ไปจัดทำประชามติ ให้ประชาชนออกเสียงว่า...จะเอาหรือไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้?
ดังนั้น จะเพื่อไทย จะประชาธิปัตย์ ไม่ต้องโวยวายมากไป ในฐานะคนไทยซึ่งมีสิทธิ์ออกเสียงรวมแล้วกว่า ๔๐ ล้านคน ไปตัดสินชี้ขาดกันได้เลย
ผลออกมา ถ้าไม่รับ...ก็ดี คสช.เขาจะได้อยู่ต่อ!
ถ้ารับ...ก็ดี จะได้เลือกตั้ง มี ส.ส. มีรัฐบาลใหม่ นายกฯ ใหม่ ภายใต้โครงสร้างประเทศใหม่ เหนือรัฐบาล-รัฐสภา ยังมี "คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ" อีกชั้น หรืออีกนัยหนึ่ง
ไทย:ประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา.......
ภายใต้ "โปลิตบูโร ระบบไทย"!
ประเด็น "รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ" ที่ ๒ ขั้วใหญ่ เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ ออกมาค้านแหลก-แหกอก นั้น ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ บอกเมื่อวาน (๑๖ ส.ค.) ว่า
"ยังไม่ได้เขียนในร่างรัฐธรรมนูญเลย!"
เพียงหยิบยกขึ้นมาเป็นการเซลล์ไอเดีย เพื่อหยั่งกระแสจะว่ากันอย่างไร และบอกด้วยว่า ช่วง ๑๗-๒๑ ส.ค.นี้แหละ จะตั้งเป็นญัตติเสนอในที่ประชุม สปช.ให้เลือกลงมติว่า......
จะเอาประเด็น "ให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติใน ๔ ปีแรกหรือไม่"?
ถ้าเอา ก็ส่งเป็นคำถามทำประชามติ คือให้ประชาชนตัดสินใจ พร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญ
หรือจะเอาประเด็นอื่น เช่นที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน เสนอว่า ปฏิรูป ๒ ปีก่อนให้มีเลือกตั้ง เป็นต้น!
ดูเหมือนประเด็น "รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ" สนใจกันมาก "นิด้าโพล" สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ ระหว่าง ๑๓-๑๔ ส.ค.พบว่า
ร้อยละ ๖๓.๙๓ บอกเห็นด้วย ต้องการเห็นความปรองดองและสมานฉันท์ในชาติ และต้องการเห็นบ้านเมืองสงบสุข
ในคำถาม...ควรเสนอประเด็นให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ๔ ปี เป็นหัวข้อไปทำประชามติหรือไม่?
ร้อยละ ๗๕.๘๐ บอก...เห็นด้วย กับหัวข้อเสนอทำประชามติ เพราะประชาชนจะได้มีส่วนร่วม และจะได้รู้ว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นอย่างไร
สุดท้าย....หากวันนี้ มีการทำประชามติในประเด็น..........
"จะให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศต่อไปอีก ๔ ปี หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้หรือไม่"
ร้อยละ ๕๒.๖๓ ตอบว่า....
จะลงมติ "เห็นด้วย" กับการมีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ เพราะน่าจะมีตัวกลางที่เข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และมีส่วนช่วยในการปฏิรูปประเทศชาติให้ดีขึ้น
แต่มีถึง ร้อยละ ๒๐.๓๐ ระบุ จะลงมติ "ไม่ออกความเห็น" และร้อยละ ๗.๐๑ บอกจะไม่ไปลงมติ!
ครับ...นี่ผมสรุปท่าที-ทิศทางให้ทราบกัน เพื่อตามเรื่องได้ติด เพราะต่อจากนี้ ทุกอย่างจะข้นคลั่ก
สรุป ถ้ารัฐธรรมนูญผ่าน สปช. ๗ ก.ย. .......!
ประมาณ ต้นเดือนกุมภา ๕๙ จะได้ทำประชามติ ทั้งร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมคำถามในหัวข้อ เช่น จะให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ๔ ปีแรก หรือไม่
ให้ประชาชนเลือก "ตัดสินใจ"!
วันนี้ ผมมีเรื่องอยากเสนอ "พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด" สักนิด แต่เห็นว่าลาออกจากตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แล้ว แต่ไม่เป็นไร คงออกเชิงยุทธศาสตร์น่ะ
คือเมื่อ ๑๓ ส.ค.ที่ผ่านมา สปช.จัดงาน "สปช.รายงานประชาชน เรื่องเปลี่ยนประเทศไทยกับ สปช." และส่งมอบผลงานปฏิรูปให้นายกฯ ประยุทธ์ ที่โรงแรมเซนทารา
ผมฟังศาสตราจารย์เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ท่านแสดงวิสัยทัศน์ โดยเฉพาะช่วงถาม-ตอบกับคุณสุทธิชัย หยุ่น รวมทั้งฟังสุนทรกถานายกฯ ประยุทธ์
ที่ทั้ง ๒ ท่านพูด มีค่า-มีความสำคัญ ต่ออนาคตประเทศที่จะต้องเดินไปด้วยกันข้างหน้ามาก
ไม่ใช่แค่วาทะ "ขายน้ำลาย" ไปมื้อๆ อาจารย์เทียนฉาย ท่านสมกับความเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองจริงๆ และที่นายกฯ พูด ฟังแล้ว-ใคร่ครวญแล้ว นำไปสู่การตัดสินใจว่า....
คนคนนี้ มีกัต มีกึ๋น และวิสัยทัศน์ สามารถวางใจ ให้นำชาติไปสู่อนาคตตามพิมพ์เขียวที่รับมอบจาก สปช.ได้หรือไม่?
ทั้ง ๒ ท่านพูดได้สมภูมิ-สมภาวะมาก ยึดถือเป็น "ธงนำสู่การปฏิรูป" ได้ "หนังสือพิมพ์จดหมายข่าวรัฐบาล" ที่พลตรีสรรเสริญทำนั้น ควรยิ่งที่จะรวบรวมมาพิมพ์แจกจ่ายให้กว้างขวาง
อย่างน้อย ก็ยังจะได้รู้ ตามที่นายกฯ ประกาศ....
"จะอยู่ถึงแค่ กันยา ๕๙!"
จับแค่นี้ก่อน แล้วค่อยคุยกันว่า ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับ "บวรศักดิ์รจนา" นี้เมื่อผ่านสู่การประกาศใช้
ระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา ภายใต้โปลิตบูโร "คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ" กำกับ นั้น
จะน่าตื่นตา-ตื่นใจขนาดไหน?

ไม่มีความคิดเห็น: