PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558

นักวิชาการมองโผทหาร.. 'ธีรชัย' ผงาดผบ.ทบ.

นักวิชาการมองโผทหาร.. 'ธีรชัย' ผงาดผบ.ทบ.
โดย : ศักรินทร์ เข็มทอง
วันที่ 05 สิงหาคม 2558, 10:54
อ่านแล้ว 6,243 ครั้ง
"เชื่อว่าพล.อ.ธีรชัย มีโอกาสมากกว่า เพราะครบเครื่องทั้งการคุมกำลัง และมีความรู้ในเรื่องจังหวัดชายแดนใต้"

ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของผู้บัญชาการเหล่าทัพในเดือน ต.ค.2558 นี้ ยกเว้นผู้บัญชาการทหารอากาศ ในยุคทหารบริหารประเทศ ตำแหน่งที่เป็นที่จับตามองเป็นพิเศษ คงนี้ไม่พ้น ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่ง พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน จะเกษียณอายุราชการในเดือนก.ย.นี้ จึงเป็นที่จับตามองว่าใครเสนอชื่อใคร เพื่อขึ้นนั่งตำแหน่งแม่ทัพบกคนที่ 39 แห่งกองทัพบกไทย

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีโผทหารของสื่อมวลชนหลายสำนักคาดการณ์กันไป แต่สุดท้ายแล้ว คงต้องจับตากันจนถึงนาทีสุดท้าย อย่างลีเด็ดที่ว่า “สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร”

นายวันวิชิต บุญโปร่ง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้เชี่ยวชาญสายทหาร วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ขณะนี้แคนดิเดทที่จะมีโอกาสขึ้นในตำแหน่ง ผบ.ทบ. คนที่ 39 มี พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วย ผบ.ทบ.คนที่ 1 และ พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. คนที่ 2

ทั้งนี้ หากนับตามรุ่นนักเรียนเตรียมทหารนั้น พล.อ. ธีรชัย เป็นนรต. รุ่น 14 อาวุโสกว่า พล.อ.ปรีชา หนึ่งรุ่น แต่เกษียณอายุราชการพร้อมกัน วันที่ 30 ก.ย.2559 โฟกัสสำคัญของสื่อมวลชนในหลายเดือนที่ผ่านมานั้น แม้จะมีการโยนหินถามทาง หรือยั้งเสียงใครๆ ก็ตาม น้ำหนักก็สามารถไปได้ทุกฝ่าย แต่ถ้าวิเคราะห์ตามความเป็นจริงของเหตุการณ์นั้น พล.อ.ธีรชัย มีโอกาสอย่างมากที่จะเป็น ผบ.ทบ.คนต่อไป ต่อจาก พล.อ. อุดมเดช มากกว่า พล.อ.ปรีชา

“ถามว่าสามารถวิเคราะห์จากจุดไหนได้บ้างอันดับแรก ความอาวุโส ต่อมาในเรื่องสายการทำงานของการรับราชการ ตั้งแต่ ร้อยตรี จนถึงอัตราจอมพลยศพลเอก นั้น ตำแหน่งสำคัญๆ พล.อ.ธีรชัย ดำรงตำแหน่งมา สวยงามกว่า พล.อ.ปรีชา โดยเฉพาะ พล.อ.ธีรชัย คุมกำลังสายกำลังรบ และเคยเป็นผู้บังคับกองพัน ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 12 ถือว่าโตมาในหน่วยของสายบูรพาพยัคฆ์ ส่วนพล.อ.ปรีชา ไม่เคยเติบโตในสายกำลังรบ แต่เดินมาตามทางสายบำรุงกำลัง จึงมีความต่างกันตรงจุดนี้

ที่สำคัญที่ว่า พล.อ.ธีรชัย ได้เปรียบอะไรกว่า มองที่การติดยศ พล.ท. ท่านครองในจำนวนปีที่นานกว่า แม้จะติด พล.อ. พร้อมกัน มองได้ในเรื่องการชัดเจนในการดำรงตำแหน่ง ประเด็นต่อมา ความครบเครื่องมีมากกว่า พล.อ.ปรีชา ในเรื่องที่ว่า ตอนที่ท่านเป็นเสนาธิการกองทัพน้อยที่ 1 ในยศ พล.ต. ท่านเคยเป็นผู้บัญชาการเฉพาะกิจกำลังนราธิวาส ในการดูแลพื้นที่ที่นั่นถึง 3 ปี ดังนั้น พล.อ.ปรีชา จะขาดความรอบรู้ในด้านปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไป ซึ่งทำให้เห็นน้ำหนักในความแตกต่าง และในขณะเดียวกัน”

ส่วนความเห็นในอีกแง่ หากสถานการณ์พลิกกลับ พล.อ.ปรีชา ได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.นั้น นายวันวิชิตมอว่าก็อาจจะเป็นการเปิดมิติมุมมองในกองทัพ ในการที่มีทหารสายอำนวยการ หรือฝ่ายเสนาธิการ เติบโตขึ้นมามีตำแหน่งแห่งหนในกองทัพได้ หมายความว่า สายอำนวยการจะต้องมีงานสัมพันธ์ มีปฏิสัมพันธ์ติดต่อกับประชาชน หรือภาคสาธารณชนมากกว่า ซึ่งภาพลักษณ์ตรงนี้ จะนำไปสู่การเป็นทหารอาชีพ ทั้งนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา จะเป็นในลักษณะข้างต้นที่กล่าว ที่ทหารจะสายอำนวยการ เติบโตเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของเหล่าทัพได้ ซึ่งจะเป็นการลบล้างค่านิยมเดิมๆ ในยุคเก่าลงได้ ที่เชื่อว่า ทหารจะต้องคุมกำลังหลัก กำลังรบ ถึงจะเป็นเบอร์หนึ่งของกองทัพได้

“ขณะเดียวกัน นั่นคือจุดดีจุดเดียวของพล.อ.ปรีชา มองกลับมาที่ พล.อ.ธีรชัย ท่านก็เคยเป็นรองเสนาธิการทหารบก่อนจะกลับมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 นั่นหมายความว่าท่านก็เคยเติบโตในสายอำนวยการเช่นกัน พูดง่ายๆ ว่า พล.อ.ธีรชัย มีความรอบรู้ ครบถ้วนมากกว่า ที่สำคัญการเติบโตในสายกองทัพภาคที่ 1 ย่อมจะมีเครือข่ายสายสัมพันธ์ มีแรงสนับสนุนมากอยู่แล้ว ในขณะที่ กองทัพภาคที่ 3 อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล แต่กองทัพภาคที่ 1 ถือเป็นกำลังหลัก เป็นขุมกำลังปฏิวัติ หรือการป้องกันยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ การเมืองได้ ”

ในการวิเคราะห์สถานการณ์กลุ่มทหารบูรพาพยัคฆ์กับวงศ์เทวัญนั้น นายวันวิชิต กล่าวว่า มีความเชื่อมั่นว่าขณะนี้ “สายบูรพาพยัคฆ์” มีความพยายามเปลี่ยนแปลงตนเอง คือการผสมกลมกลืนเข้ากับ “กลุ่มวงศ์เทวัญ” หรือหน่วยอื่นๆ ในกองทัพบก เพราะในหลายปีที่ผ่านมานั้น นายทหารสายบูรพาพยัคฆ์ ถูกส่งไปเติบโตในหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่สมัยเป็นผู้พัน ผู้บังคับกองพัน ผู้บังคับการกรม และใช้ระยะเวลาบ่มเพาะ ไปเติบโตในหน่วยงานนั้นๆ จนได้รับการยอมรับ

เช่น กองพลทหารราบที่ 9 (ค่ายสุรสีห์) มีทหารหลายคนมาจากสายบูรพาพยัคฆ์ หรือในสมัยตั้งแต่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ก็เคยเอา ลูกน้อง ทส. มาเป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ฯ (ร.1 พัน.1 รอ.) ในหน่วยของฝ่ายวงศ์เทวัญ นั่นแสดงว่า หลายๆหน่วยของกองทัพบก ทั้ง 2 สายมีการหลอมรวม การกระจาย การเติบโต การแผ่กิ่งก้าน ซึ่งสมัยก่อนจะมีการส่งคนฝ่ายตนไปคุมในระดับหัวๆ ของหน่วยงานนั้นๆ และวางทายาทมารับช่วงต่อ

แต่นับจากนี้จะเห็นได้ว่า สายบูรพาพยัคฆ์จะใช้วิธีส่งคนในสายไปแทรกในนายทหารระดับกลาง เพื่อให้เรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรในหน่วยนั้นๆ เพื่อให้เกิดการยอมรับการหลอมรวม ทั้งนี้ เชื่อว่าบูรพาพยัคฆ์ต้องมองสถานการณ์ไว้แล้ว หากฝ่ายตนถือครองอำนาจยาวนาน ย่อมมีโอกาสที่จะเจอยุทธการเอาคืนแน่ ทางเดียวที่จะสยบปัญหาคือ การสร้างเอกภาพขึ้นในกองทัพ

“เราจะเห็นบทบาทของสายวงศ์เทวัญ อย่าง พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 มีบทบาทในการตอบสนองรัฐบาลอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการรับบทบาทในการจัดระเบียบสังคม การดูแลเรื่องปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาล จะเห็นว่านายทหารวงศ์เทวัญ ก็มีบทบาทมาก หรืออย่าง พล.ท.พิสิษฐ์ สิทธิสาร รองเสนาธิการทหารบก (สายงานยุทธการ) ที่จะถูกวางตัวในตำแหน่งสำคัญของกองทัพ ก็เป็นผลผลิตในการหลอมรวม เพราะท่านเคยเป็น ทั้งวงศ์เทวัญ และ บูรพาพยัคฆ์” นายวันวิชิต ระบุ

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น: