PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ถกปัญหาลิขสิทธิ์ กับ อธิป จิตตฤกษ์

ถกปัญหาลิขสิทธิ์ กับ อธิป จิตตฤกษ์

ผู้เชี่ยวชาญด้านอวัตถุศึกษา (Immaterial Study) หรือ ทรัพย์สินทางปัญญาและการบริการ
+ คำว่า ‘ดัดแปลง’ ตัดสินกันที่ตรงไหน แค่ไหนถึงเรียกว่าเป็นการดัดแปลง
ในทางเทคนิคนี่คือทุกอย่างเลย พูดง่ายๆ ถ้ากฎหมายไม่ระบุว่านี่คือการละเมิดเป๊ะๆ คุณมีความเสี่ยงหมด ไม่ใช่ว่าไปอ่านข้อยกเว้นแล้วรู้สึกว่าไม่ละเมิดแล้วจะปลอดภัย ไม่ใช่นะ
+ ถ้ามองในมุมบริบทโลก คนส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างคัดค้านกฎหมายลิขสิทธิ์?
ส่วนใหญ่คนค้านเป็นคนรุ่นใหม่ เพราะชีวิตเด็กรุ่นใหม่โตขึ้นมาราวกับว่า ลิขสิทธิ์มันไม่ได้ดำรงอยู่ คุณอยากได้เพลง คุณก็ไปโหลด อยากได้หนัง อยากได้โปรแกรม คุณก็ไปโหลด เวลาเห็นรูป คุณก็ไปเอามาทำมีม (Meme) ซึ่งทั้งหมดก็ถือเป็นการละเมิดทั้งนั้น
+ ที่เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้สึกว่าการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเรื่องผิด เพราะอะไร
ผมเข้าใจว่ามันไม่ใช่สิทธิ์ตามธรรมชาติ คือเขาไม่ได้มีความตั้งใจจะละเมิด เพราะเขาไม่รู้สึกว่ากำลังละเมิดอะไรอยู่แล้ว แต่มันมีคนจำนวนหนึ่งที่จงใจจะละเมิด เพราะเห็นว่ากฎหมายไม่ยุติธรรม อย่างนั้นก็มีจริง แต่คนส่วนใหญ่ เด็กที่โตมากับอินเทอร์เน็ต (Born Digital) มันก็ไม่รู้สึกว่า ของพวกนี้ควรจะจ่ายเงินด้วยซ้ำ คือมองข้ามไปเลยน่ะ ว่ามันไม่มีอยู่
+ อะไรที่เป็นข้อสังเกตว่าอุตสาหกรรมเป็นฝ่ายได้รับการปกป้องจากกฎหมายลิขสิทธิ์
อุตสาหกรรมพวกนี้ทั้งหมดอยู่ได้ด้วยลิขสิทธิ์ ถ้าพูดแบบพรรคไพเรท จะไม่ใช้คำว่า ลิขสิทธิ์ แต่จะใช้คำว่า ผูกขาดทางลิขสิทธิ์ (Copyright Monopoly) เพราะลิขสิทธิ์มันคือสิทธิ์ในการผูกขาด มันเหมือนสัมปทานที่รัฐให้ คือมันไม่ใช่สิทธิ์โดยธรรมชาติ อย่างคุณซื้อโต๊ะแล้วคุณเป็นเจ้าของโต๊ะ มันไม่ใช่อย่างนั้น มันเหมือนกับเวลาที่ผมคิดอะไรได้ แล้วรัฐอนุญาตให้ผมหาประโยชน์จากความคิดของผมได้ในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อกระตุ้นให้ผมคิด มันไม่ใช่สิทธิ์ที่สร้างมาด้วยมือคุณแล้วมันจะเป็นของคุณตลอดไป
+ ถ้าถึงขั้นใช้คำว่า ‘ผูกขาด’ ก็แสดงว่ามันควรจะได้รับการแก้ไข?
ต้องถามว่า ถ้าผูกขาดแล้วสังคมได้อะไร เพราะแน่นอนว่าถ้าอธิบายให้สมเหตุสมผล ส่วนใหญ่คนสนับสนุนก็จะปกป้องว่ามันเป็นสิทธิ์ที่คุณจะไปละเมิดไม่ได้ ฝั่งยุโรปจะมีวิธีคิดและมิติทางศีลธรรมแบบนี้อยู่ เพราะในยุโรปถือว่าลิขสิทธิ์คือศีลธรรมที่โยงกับตัวตนคนเขียน
สิทธิในการไม่ถูกละเมิดตัวตน เป็นจารีตของกฎหมายยุโรป ขณะที่อเมริกาจะมองเรื่องลิขสิทธิ์เป็นกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ดังนั้น เวลาเถียงกันในอเมริกา จะเถียงกันบนพื้นฐานทางเศรษฐกิจ คือสังคมได้หรือเสียอะไรในทางเศรษฐกิจ แต่ในยุโรป เขาจะเล่นกันเรื่องที่ว่า คุณไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของ
+ จากปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ ระหว่าง เพลง หนัง หนังสือ อุตสาหกรรม สิ่งไหนถือว่ากระทบมากที่สุด
กรณีหนัง ผมว่าได้รับผลกระทบจาก Piracy น้อยมาก จริงๆ อุตสาหกรรมที่โดนจริงๆ คืออุตสาหกรรมบันทึกเสียง เน้นว่า ‘บันทึกเสียง’ ไม่ใช่ดนตรี ถ้าไปดูตัวเลขจะเห็นยอดขายซีดีวิ่งลง แต่ยอดการแสดงสดวิ่งขึ้น และคนที่จะตายจริงคือนักแต่งเพลง
+ คำว่า ของฟรี กับ อินเทอร์เน็ต ควรเป็นของคู่กันหรือไม่
ข้อมูลควรฟรีใน 2 ความหมาย หนึ่ง-ฟรีในแง่เสรี และสอง-ฟรี ในแง่การเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเสียเงิน เพราะอินเทอร์เน็ตมันทำงานอย่างนั้น ถ้าเกิดเราต้องขออนุญาตทุกอย่าง มันก็คงไม่ใช่อินเทอร์เน็ตแล้วล่ะ
เพราะสิ่งที่อินเทอร์เน็ตมันปฏิวัติจริงๆ คือความเร็วในการวิ่งของข้อมูล ถ้าคุณทำให้ทุกอย่างต้องขออนุญาต สุดท้ายระบบที่ต้องขออนุญาตมันจะพังเอง เพราะมันจะมีช่องทางอื่นที่คุณไม่ต้องขออนุญาตแล้วข้อมูลมันจะเร็วกว่า
+ ถ้ากฎหมายลิขสิทธิ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มันปฏิบัติไม่ได้จริง แล้วเราจะมีทางออกอย่างไร
ในอเมริกาก็เถียงกันอยู่ว่าจะปฏิรูปอย่างไร ก่อนหน้านี้ ผู้อำนวยการสำนักงานลิขสิทธิ์อเมริกา ออกมาพูดเองเลยว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ต้องเปลี่ยนแล้ว คุณต้องเลิกจับเด็กโหลดเพลงได้แล้ว การปราบลิขสิทธิ์ต้องไม่ใช่การทำให้เด็กมัธยมเป็นอาชญากรอีกแล้ว นัยก็คือ เขาจะเปลี่ยนไปปราบเว็บไซต์ใหญ่ๆ แทน ตอนนี้เทรนด์มันกลายเป็นอย่างนั้น เรียกได้ว่าเว็บไซต์เหล่านี้ตายกันไปเยอะมาก
+ คิดอย่างไรกับวัฒนธรรมสายโจรสลัดแบบนี้
ผมชอบใช้คำว่า ‘สำเนาเถื่อน’ มันก็มีอยู่เรื่อยๆ เพราะคนเจนเนอเรชั่นใหม่มันเป็นอย่างนั้นแล้ว แต่คนรุ่นเก่าในหลายๆ ส่วนยังไม่เป็น แล้วเขาก็ไม่ค่อยแฮปปี้ ก็แน่นอนที่คนรุ่นเก่าจะไม่แฮปปี้กับคนรุ่นใหม่
แต่ถึงที่สุดแล้ว ผมว่ามันทำอะไรไม่ได้หรอก
---
ส่วนหนึ่งจาก ก๊อป'คัลเจอร์ คอลัมน์ Main Way ‪#‎WAY66‬
ตุลาคม 2013

https://www.facebook.com/waymagazine/posts/10152960557746456

ไม่มีความคิดเห็น: