PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ไทยควรเข้าร่วมTPPมั้ย

13112558  ไทยควรร่วม TPP หรือไม่? คือหัวข้อสนทนาของค่ำคืนนั้น
โดย : กาแฟดำ   

ค่ำวันอังคารที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนใหม่ คุณกลิน ที. เดวิส

จัดงานเลี้ยงแนะนำตัวเองกับ “เพื่อนและเพื่อนร่วมงาน” บทสนทนาในหลายๆ วงมีความน่าสนใจสำหรับผมไม่น้อยเลย

ท่านทูตหยอดคำหวานหลายประโยคแสดงความมุ่งมั่น ที่จะสานสัมพันธ์กับไทย ยืนยันว่าสหรัฐกับไทยเป็นมิตรประเทศเก่าแก่ และต้องการเห็นประเทศไทยแข็งแกร่งและเดินตามเส้นทาง Roadmap ประชาธิปไตย “ที่คนไทยเลือกเอง” อีกทั้งไทยยังเป็น “มิตรที่คงทนยั่งยืนยาวนานที่สุดในภูมิภาคนี้”

ภาพที่เห็นนี้คือท่านทูตเดวิสกับ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกหรือ World Trade Organization (WTO) และเพิ่งจะเสร็จจากภารกิจในฐานะเลขาธิการ UNCTAD (United Nations Conference on Trade and Development) หรือการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา

ผมได้รับทราบจากนักการทูตในงานนี้ว่ารองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กำลังจะนำคณะไทยระดับสูงไปญี่ปุ่นปลายเดือนนี้ เพื่อกระชับความร่วมมือกันทุก ๆ ด้านโดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure), Super Clusters และ Trans-Pacific Partnership (TPP)

“ท่านรองนายกฯสมคิดมุ่งมั่นและกระตือรือร้นมากครับ ญี่ปุ่นก็พร้อมที่จะส่งเสริมให้ไทยพิจารณาเข้าร่วม TPP หากมีการตัดสินใจในระดับผู้นำประเทศ เพราะเราเองก็มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ในญี่ปุ่นมายาวนานก่อนที่ท่านนายกฯชินโซะ อาเบะจะตัดสินใจเข้าร่วมกับสหรัฐและอีก 10 ประเทศในการเริ่มต้นให้ TPP เดินหน้า... ถ้ารัฐบาลไทยสนใจ รัฐบาลญี่ปุ่นก็พร้อมจะสนับสนุนครับ...” นักการทูตญี่ปุ่นบอกผม

แต่อีกมุมหนึ่งของงานนั้น ดร.ศุภชัย กำลังสนทนากับท่านทูตสหรัฐในหัวข้อเดียวกันอย่างออกรสชาติ

เพราะ ดร.ศุภชัย เห็นว่าไทยไม่ควรจะเข้าร่วม TPP อย่างน้อยก็ในจังหวะนี้ที่ยังมีประเด็นที่ควรจะต้องมีการวิเคราะห์ไตร่ตรองอย่างรอบด้าน

ทูตเดวีส์ เป็นตัวแทนวอชิงตันที่เป็นแกนสำคัญของ TPP เมื่อได้ยินคุณศุภชัยยืนยันว่า TPP ยังมีปัญหาและไทยยังไม่ควรจะร่วม ก็ยอมรับว่าแต่ละประเทศต้องประเมินข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วมหรือไม่ร่วม TPP ด้วยตนเอง

“เราพร้อมจะให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความเห็นกับรัฐบาลไทยในเรื่องนี้ครับ” ท่านทูตบอกคุณศุภชัย

แน่นอนว่ารัฐบาลไทยได้แสดงความสนใจใน TPP มาระยะหนึ่งแล้วหลังจากที่วอชิงตันได้ทาบทามให้ร่วม แต่ถึงวันนี้หัวข้อนี้ก็ยังเป็นประเด็นถกแถลงกันในแวดวงต่าง ๆ ของไทยเอง ทั้งที่เห็นว่าเราควรจะเข้าร่วมก่อนที่จะ “ตกขบวน” และที่คัดค้านการเข้าร่วมเพราะไทยจะเสียประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน

คุณศุภชัย อยู่ข้างที่ต่อต้านและบอกกล่าวกับทูตเดวีส์หลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาหรือการเกษตรที่เป็นประเด็นอ่อนไหว และไทยจะได้รับผลกระทบมากหากเข้าร่วม

“ถ้า TPP เกิดเต็มตัว WTO จะหมดบทบาททันที” คุณศุภชัยผู้ช่ำชองด้านการค้าระหว่างประเทศมายาวนาน บอกผมในอีกวงหนึ่งของการแลกเปลี่ยนความเห็นในงานที่มีนักการเมือง นักการเมืองและนักธุรกิจแยกกลุ่มกันเสวนาในหัวข้อที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญของบ้านเมือง

ในความเห็นของคุณศุภชัย เมื่อหลายประเทศต่างก็มีข้อตกลงว่าด้วยการค้าเสรีหรือ Free Trade Agreement อยู่แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องมี TPP ที่ความจริงเป็นการสานประโยชน์ของอเมริกากับญี่ปุ่นเป็นหลักเท่านั้นเอง

“ผมว่าเป้าหมายของ TPP ไม่ใช่เรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องของ Geo-politics นั่นแหละ” อดีตรัฐมนตรีศุภชัยบอก

เป็นความเห็นที่นักวิพากษ์ TPP หลายคนเห็นพ้องมาตั้งแต่ต้น

บางคนมองว่านี่คือการเมืองภูมิรัฐศาสตร์ที่สหรัฐนำมาใช้ เพื่อสกัดอิทธิพลจีน ซึ่งสนับสนุนให้เกิดกลุ่มการค้าเสรีอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า RCEP หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership ซึ่งหมายถึงข้อตกลงระหว่าง Asean+6 ประเทศอันรวมถึงจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

สหรัฐอาจมองว่าจีนเป็นพี่เบิ้มใน RCEP จึงต้องสร้าง TPP ขึ้นมาคานทั้งๆ ที่ความจริงควรที่มหาอำนาจทั้งสองจะตกลงกันได้ ที่จะร่วมกันสร้างเครือข่ายการค้าการลงทุนร่วมกัน ให้ทุกประเทศได้เข้าร่วมโดยไม่ต้องกลายเป็นการแก่งแย่งสมาชิก จนกลายเป็นประเด็นของความขัดแย้งสร้างความอึดอัดให้กับประเทศเล็กๆ ทั้งหลายที่วางตัวไม่ถูกว่าควรจะยืนอยู่ตรงไหนในเวทีระหว่างประเทศ

บทสนทนาคืนนั้นสะท้อนถึงการเปิดกว้างของการแลกเปลี่ยนความเห็นที่น่ายินดี ผมบอกท่านทูตสหรัฐคนใหม่และคุณศุภชัยให้จัดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่อง TPP ให้ต่อเนื่องเพราะรายละเอียดหลายพันหน้าของ TPP เพิ่งจะได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก

คนไทยควรจะได้รับทราบข้อเท็จจริง และความเห็นทั้งที่เห็นพ้องและคัดค้าน เพื่อนำมาประเมินจุดยืนของเรา ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนสูงสุด

เพื่อหลีกเลี่ยงตกเป็นเหยื่อของเกมการเมืองมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม
- See more at: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/636112#sthash.C4hwDHng.dpuf

ไม่มีความคิดเห็น: