PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เบื้องหลังคำสั่ง คสช. มาตรา 44 ยกเว้นกฎหมายผังเมืองและเขตเศรษฐกิจพิเศษ 100 ปีเพื่อใคร?

        ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
       
       พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ติดสินใจใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และ คำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559 ทำให้ประชาชนได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น 
       
        และนับจากนี้ 2 คำสั่งนี้จะถูกจับตาว่าจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่จะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งที่ขยายไปวงกว้างมากน้อยแค่ไหน?
       
        สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อาศัยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 72/2557 เแต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557 (และแต่งตั้งกรรมการชุดดังกล่าวเพิ่มเติมโดยอาศัยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 109/2557 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2557)
       
        ต่อมาหลังจากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 72/2557แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจได้เพียงวันเดียว จึงได้พบต่อมาในราชกิจจานุเบกษาได้ตีพิมพ์ประกาศเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 ก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ โดยสาระสำคัญคือให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ "ปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก ยึดถือ ครอบครอง ทำลาย หรือกระทำการด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่า" รวมถึงการสกัดกั้นการลักลอบตัดไม้ การนำเข้าและส่งออกไม้ "ตลอดแนวชายแดน"
       
        ในเวลานั้น คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 ได้รับการขนานนามว่าเป็นคำสั่ง "ทวงคืนผืนป่า"เพราะประชาชนและสื่อมวลชนเข้าใจว่า พลเอกประยุทธ์มีความปรารถนาต้องการรักษาป่าเอาไว้ให้ลูกหลานอย่างถึงที่สุด
       
        ต่อมาคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจ (ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 72/2557) ได้ออกประกาศเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ "ตลอดแนวชายแดน"มาแล้ว 2 ครั้ง คือ
       
        ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558 คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจ ได้ประกาศเขตพัฒนาเศษฐกิจพิเศษตาก ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด
       
        ครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2558 คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจ ได้ประกาศเขตพัฒนาเศษฐกิจพิเศษหนองคาย ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี
       
        ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558 เรื่องการจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง
       
        ในเวลานั้นก็ไม่มีใครได้คิดว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษจะไปเกี่ยวข้องกับเขตป่าสงวน หรือเขตป่าไม้ถาวรใดๆ เพราะ 1 ปีก่อนหน้านั้น คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ทำการเข้าจับกุมและปราบปรามการทำลายป่าอย่างเข้มแข็ง
       
        แต่ ความสำคัญของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558 นั้นได้ทำการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ เพิกถอนเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี เพิกถอนเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน และถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามแนวเขตแผนที่ในคำสั่งนี้ ให้ตกเป็นที่ราชพัสดุเพื่อนำมาใช้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ ที่ดินในท้องที่ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก, ที่ดินในท้องที่ตำบลคำอาฮวน อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร, ที่ดินในท้องที่ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว, ที่ดินในท้องที่ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด, ที่ดินในท้องที่ตำบลสระไคร อำเภอสระไคร จังหวัดหนองคาย 

รายงานพิเศษที่ต้องอ่าน! เบื้องหลังคำสั่ง คสช. มาตรา 44 ยกเว้นกฎหมายผังเมืองและเขตเศรษฐกิจพิเศษ 100 ปีเพื่อใคร?
        คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558 ยังกำหนดในข้อ 5 อีกด้วยว่าถ้ามีเอกชนมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองอยู่ในที่ดินในแผนที่ซึ่งกำหนดไว้ให้ตกเป็นที่ราชพัสดุแล้ว และเป็นผลทำให้พื้นที่ไม่ต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกันหรือมีลักษณะไม่สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมีอำนาจดำเนินการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำที่ดินอันเป็นที่ราชพัสดุแลกเปลี่ยนกับที่ดินของเอกชนรายนั้นได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกำหนดเอาเอง หรือจะสั่งให้ชดใช้เงินแทนการแลกเปลี่ยนที่ดินทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ และหากมีการแลกเปลี่ยนที่ดินก็ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมทั้งปวง และใหได้รับการยกเว้นภาษีการแลกเปลี่ยนซึ่งอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย
       
        นอกจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะมีอำนาจล้นฟ้าในการนำที่ราชพัสดุแลกที่ดินกับเอกชน หรือสั่งชดใช้เงินให้เอกชนได้แล้ว คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558 ยังกำหนดในข้อ 6 ด้วยว่าที่ดินซึ่งได้นำมาเป็นที่ราชพัสดุนั้น ให้กรมธนารักษ์จัดหน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์ หรือจัดให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หน่วยงานอื่นของรัฐหรือเอกชนเพื่อใช้เป็นพื้นที่พัฒนา "ตามระยะเวลา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข รวมทั้งอัตราค่าเช่า" ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะกำหนดขึ้น 
       
        ข้อสำคัญ "ระยะเวลาการเช่า" นั้นยังได้ถูกกำหนดเอาไว้ในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558 ยังกำหนดในข้อ 6 ด้วยว่า "ต้องไม่น้อยกว่าคราวละ 50 ปี" และอาจต่อสัญญาอีกได้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะกำหนดขึ้น
       
        ส่วนที่ดินซึ่งได้มาแล้วปล่อยเช่าโดยอาศัยมติคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้น คำสั่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558 ยังกำหนดในข้อ 7 ด้วยว่าผู้เช่ามีสิทธินำไปให้เช่าช่วงหรือนำไปหาประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ได้อีก และการให้เช่าแม้จะจะเกิน 100 ไร่ ก็ให้กระทำได้โดยไม่ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมที่ดิน 
       
        คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจ ได้ดำเนินการนำพื้นที่มาจากถอนสภาพที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินเขตป่าไม้ถาวร เขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน และที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ให้มาเป็นที่ราชพัสดุแล้ว ยังได้พื้นที่ของหน่วยราชการมาใช้ประโยชน์ให้เอกชนและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเช่าเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งสิ้นประมาณกว่า 19,211 ไร่
       
        ทั้งนี้เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 มติคณะรัฐมนตรีได้รับทราบอัตราค่าเช่าที่ดินและค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจตามที่กระทรวงการคลังเสนอปรากฏข้อมูลในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ระบุว่า:
       
        ค่าเช่า ปีแรกไร่ละ 24,000 - 40,000 บาท ต่อปี (ไร่ละ 2,000 - 3,333 บาทต่อเดือน) และปรับขึ้นร้อยละ 15 ทุก 5 ปี
       
        ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าต่อไร่ต่อ 50 ปี อยู่ที่ 160,000 - 300,000 บาท โดยผ่อนชำระ 5 ปี โดยจ่ายปีที่ 6 -10
       
        สำหรับค่าเช่าของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยลดให้ 30% หรือคิดเป็นค่าเช่าปีแรกไร่ละ 16,800 - 28,000 บาท ต่อปี (ไร่ละ 1,400 - 2,333 บาทต่อเดือน)
       
        ระยะเวลาการเช่า 50 ปี และอาจต่อสัญญาเช่าได้อีก 50 ปี (รวมเป็น 100 ปี)
       
        ที่ดินป่าสงวน ที่ดินป่าถาวร เขตปฏิรูปที่ดิน และพื้นที่ อันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน และที่ดินหน่วยราชการ ซึ่งเอกชนและประชาชนทั่วไปได้เคยถูกห้าม และถูกจับกุมในการใช้พื้นที่ กำลังถูกทวงคืนผืนป่านำมาจัดสรรใหม่ให้ธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรม ด้วยสิทธิประโยชน์มากมายถึง 50 -100 ปี ด้วยค่าเช่าเริ่มต้นเดือนละประมาณไร่ละ 1,500 - 3,000 บาท (และสามารถนำไปปล่อยเช่าต่อทำกำไรได้ด้วย)
       
        นอกจากจะได้รับที่ดินมาบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว เขตเศรษฐกิจพิเศษยังต้องมีการลงทุนโดยได้งบประมาณแผ่นดินประจำปี พ.ศ. 2560 รวม 19,114 ล้านบาท
 แบ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 3,974 ล้านบาท, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจีสติกส์ 13,238 ล้านบาท การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 1,610 ล้านบาท และการบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม 292 ล้านบาท
       
        ถามว่ากลุ่มธุรกิจใดจะได้ประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจพิเศษ?
       
        จากการนำเสนอที่ปรากฏในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ระบุกิจการเป้าหมายสำหรับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษจจำนวน 13 กลุ่มกิจการเป้าหมาย ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมการเกษตร ประมง และกิจการที่เกี่ยวข้อง, 2. เซรามิกส์, 3. อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและเครื่องหนัง, 4. อุตสาหกรรมผลิตเครื่องเรือน, 5. อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ, 6. การผลิตเครื่องมือแพทย์, 7.อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน, 8. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, 9. การผลิตพลาสติก, 10. การผลิตยา, 11. กิจการโลจิสติกส์, 12. นิคมหรืออุตสาหกรรม, 13. กิจการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า เฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมประมง รวมถึง การผลิตพลาสติก ก็น่าจะมี "ขาใหญ่"เตรียมตัวรองรับโครงการเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้อยู่แล้ว
       
        มิพักต้องพูดถึงทุนข้ามชาติที่จะได้โอกาสครั้งสำคัญในการเช่าที่ดินเขตเศรษฐกิจพิเศษในแผ่นดินของราชอาณาจักรไทยได้คราวละไม่ต่ำกว่า 50 ปี และต่อได้อีก 50 ปี รวมเป็น 100 ปีได้ด้วย!!!
       
        และอย่าเพิ่งดีใจเพราะคิดว่าจะเกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับแรงงานไทย เพราะมติคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบการจัดระบบการจ้างคนต่างด้าวสํญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับ ตามฤดูกาล ตามมาตรา 14 แห่ง พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 รองรับเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

       
        และเมื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษตัดขัดในอุปสรรคของผังเมืองและประกาศทั้งหลาย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ลงนามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2559 เพื่อยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม รวมถึงยกเว้นข้อบัญญัติท้องถิ่น ยกเว้นประกาศกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ห้ามก่อสร้าง ห้ามดัดแปลง ห้ามรื้อถอน ห้ามเคลื่อนย้าย หรือการห้ามใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารที่เป็นอุปสรรคทั้งปวง ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้กระทรวงมหาดไทยเร่งดำเนินการออกกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง กฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่นให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่อไป
       
        แต่ที่ต้องจับตาไปมากกว่านั้นก็คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ลงนามคำสั่ง ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559 อีกด้วย
       
        คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 นี้ให้ยกเว้นการใช้บังคับผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองสำหรับการประกอบกิจการคลังน้ำมันตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง และการประกอบกิจการที่เป็นโรงงานผลิต หรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าทุกโรงทุกขนาด และให้ยกเว้นการใช้บังคับผังเมือรวมถึงการประกอบกิจการโรงงานผลิตก๊าซ ซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติส่งหรือจำหน่ายก๊าซ โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม
       
        คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 ความหมายก็คือการยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองกับ โรงงานผลิตไฟฟ้า โรงผลิตก๊าซ โรงงานกำจัดขยะ และโรงงานรีไซเคิลขยะและของเสีย
       
        นับจากนี้โรงงานผลิตไฟฟ้า โรงผลิตก๊าซ โรงงานกำจัดขยะ และโรงงานรีไซเคิลของเสีย โรงงานที่มีมลพิษเหล่านี้จะไม่ต้องใช้ผังเมืองมาบังคับทั่วประเทศแล้ว !!!
       
        และคำสั่งนี้ไม่ได้มีผลเฉพาะในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อไป ต่อไป และตลอดไป ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใด ตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิกคำสั่งนี้ 

       
        คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559 นั้น ได้อ้างเหตุผลในการใช้คำสั่งมาตรา 44 ครั้งว่า:
       
        "โดยปัจจุบันประเทศไทยได้ประสบปัญหาความมั่นคงในการจัดหาพลังงานและปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เนื่องจากเป็นเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือปัญหาขยะล้นเมือง การบริหารจัดการขยะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จนนำไปสู่การกำหนดให้การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งดำเนินการทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว ซึ่งในความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวกลับปรากฏข้อขัดข้องหรืออุปสรรคจากข้อกำหนดทางกฎหมายบางประการ จึงจำเป็นต้องระงับและแก้ไขข้อขัดข้องดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและมีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน"
       
        คำแถลงในคำสั่งดังกล่าวขัดแย้งกับข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิง เพราะในวันนี้การผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยมาจนล้นกำลังสำรองมาตรฐานไปอย่างมากมายมหาศาล ข้ออ้างเรื่องความเร่งด่วนจึงไม่น่าจะฟังขึ้น นอกจากหวังที่จะเร่งสร้างโรงไฟฟ้าให้ได้โดยไม่ต้องติดผังเมืองเท่านั้น ใช่หรือไม่?
       
        แต่การขอพ่วงโรงงานกำจัดขยะ โรงไฟฟ้าขยะ และโรงงานรีไซเคิลขยะให้ไม่ต้องติดขัดอุปสรรคของผังเมืองไปด้วย ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามใช้อำนาจพิเศษ โดยอาศัยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) มาตรา 44 มาช่วยขจัดอุปสรรคผังเมืองให้กับธุรกิจเหล่านี้ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
       
        แต่คนที่มีความกระตือรือล้นในการผลักดันการกำจัดขยะและต้องการแก้ไขขยะมากที่สุดในรัฐบาลชุดนี้มากกว่าใคร ต้องยกให้ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย บูรพาพยัคฆ์รุ่นพี่ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เคยให้สัมภาษณ์ความตอนหนึ่งเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ว่า:
       
        " ขณะนี้ได้ทำพื้นที่กำจัดขยะไว้แล้วทั่วประเทศ 141 แห่ง โดยพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพราะมีขยะพอเพียงทำโรงไฟฟ้าได้มี 44 แห่ง ส่วนกรณีไม่พอเพียง แต่อยู่ในรัศมีใกล้กัน 4 กิโลเมตร หากคุ้มที่จะทำก็จะขนมาให้ได้เป็นจุดเดียว โดยปริมาณขยะที่ต้องการสำหรับเป็นโรงเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าจะอยู่ประมาณวันละ 500 ตัน หากต่ำกว่านั้นจะไม่คุ้มทุน ทั้งนี้ ในขั้นต่อไปจะพิจารณาว่ารัฐจะลงทุนหรือจะให้เอกชนลงทุน หรือจะมีใครมาร่วมทุน โดยจะต้องศึกษาพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ว่าจะต้องปฏิบัติตามอย่างไร หากจะต้องการจะดูตัวอย่างก็ได้มีโครงการนำร่องแล้วที่ จ.พระนครศรีอยุธยา"
       
        ฝากคำเตือนในฐานะกัลยาณมิตรว่า ประชาชนทั่วไปเขาคาดหวังมากเรื่องการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์โดยมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว)นั้น มีไว้เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศในสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง เช่น การยึดและอายัดทรัพย์นักการเมืองและข้าราชการที่ทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง, การแก้ไขปัญหาการผูกขาดและผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่รัฐในธุรกิจพลังงาน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนเป็นใหญ่ ฯลฯ การที่ไม่เคยมีคำสั่งดังกล่าวข้างต้นนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะเกรงใจนักการเมือง ข้าราชการ และกลุ่มทุนสามานย์ ไปถึงไหนและเมื่อไหร่?
       
        แต่ที่แน่ๆ คือประชาชน ไม่เคยมีความต้องการคาดหวังการใช้อำนาจพิเศษ เพื่อยกเลิกผังเมือง ลดสิทธิพลเมือง และห้ามคนมาชุมนุมประท้วงคัดค้าน เพื่อเอื้อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนบางกลุ่มเป็นใหญ่ !!! 

ไม่มีความคิดเห็น: