PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

นายกรัฐมนตรียืดหยุ่นกฎจำกัดคำถามนักข่าว

นายกรัฐมนตรียืดหยุ่นกฎจำกัดคำถามนักข่าว
จากกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้ปรับปรุงรูปแบบการที่ผู้สื่อข่าวถามคำถามนายกรัฐมนตรี โดยให้ถามเพียง 4 คำถาม พร้อมกับแจ้งชื่อ-นามสกุล และต้นสังกัดทุกครั้งนั้น ล่าสุดผู้สื่อข่าวในทำเนียบรัฐบาลระบุว่า นายกฯ อาจจะยอมยืดหยุ่นให้ได้มากกว่านั้นตามแต่สถานการณ์ ขณะที่แสดงความเห็นว่า การจำกัดคำถามเพียง 4 คำถามคงทำไม่ได้ในความเป็นจริง
น.ส. วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหารของสำนักข่าวบางกอกโพสต์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เห็นด้วยกับการจัดระเบียบนักข่าวกรณีที่ให้นักข่าวแนะนำตัวและสังกัดก่อนถามคำถาม เพราะเป็นหลักปฏิบัติสากล แต่ไม่เห็นด้วยกับการจำกัดเพียงแค่ 4 คำถามในเวลาที่นายกรัฐมนตรี แถลงข่าว โดยระบุว่าไม่ควรจำกัดสิทธิของสื่อในการตั้งคำถาม และนายกรัฐมนตรีเองก็สามารถจะเลือกตอบหรือไม่ตอบก็ได้
ทั้งนี้ สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ว่านักข่าวมักมีคำถามที่ทำให้นายกรัฐมนตรีอารมณ์เสียนั้น วาสนาระบุว่า ไม่มีนักข่าวคนไหนมีเป้าหมายหรือมีความภูมิใจที่ทำให้นายกรัฐมนตรีอารมณ์เสีย ในทางตรงกันข้าม กลับรู้สึกไม่ดีที่ทำให้นายกรัฐมนตรีอารมณ์เสียและไม่ตอบคำถาม แต่อาจจะเป็นเพราะนายกรัฐมนตรีมีโจทก์และต้นทุนทางอารมณ์มาก เนื่องจากเป็นคนที่เสพข่าวสารมาก ซึ่งข่าวสารส่วนใหญ่เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าคำชม
สำหรับการถามคำถามนั้น วาสนาบอกว่า บางครั้งเป็นเรื่องที่ต้องถาม แต่นายกรัฐมนตรีไม่ชอบ เช่น การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม การถามเพื่อให้เกิดการโต้กันไปมาระหว่างแหล่งข่าวก็เป็นสิ่งที่เธอไม่เห็นด้วย เธอเห็นว่าควรจะถามคำถามที่ต้องการความกระจ่างของประเด็นข่าวนั้นๆ มากกว่า
ด้านนางยุวดี ธัญญสิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาลที่ทำหน้าที่มากว่า 40 ปี กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ทำข่าวมาหลายรัฐบาล แต่ละรัฐบาลล้วนมีแนวทางในการจัดระเบียบคำถามสื่อออกมา แต่ส่วนมากก็ทำได้พักเดียว เพราะเวลาพูดคุยกับนักข่าว แหล่งข่าวเองมักมีรายละเอียดและทำให้นักข่าวมีคำถามต่อเนื่อง ดังนั้นการจำกัดให้ถามเพียงสี่คำถามก็คงเป็นไปไม่ได้
“เรื่องแสดงตัวก่อนถามก็เหมือนทำเนียบขาว เราเห็นด้วยว่าจะสะดวกกันทุกฝ่าย แต่จะทำได้เนิ่นนานมากน้อยแค่ไหน ข่าวแถลงคงทำได้โดยปกติ แต่ข่าวดักสัมภาษณ์คงยากหน่อย แต่เรื่องนายกอารมณ์ไม่ดี นักข่าวไม่อยากไปทำให้อารมณ์ไม่ดีหรอก หรือบางทีนักข่าวถามแบบไม่เตรียมตัว หรือถามแบบชงคำถามให้โต้ก็ทำให้อารมณ์ไม่ดีได้ สิ่งสำคัญคือสำนักเราต้องการประเด็นไหนอย่างไร” ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาลกล่าว
สำหรับท่าทีจากองค์กรสื่อนั้น วานนี้ นายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ ในฐานะโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยระบุว่า กรณีที่นายกรัฐมนตรีให้สื่อแสดงตัวก่อนตั้งคำถามนั้น ทางคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ไม่ติดใจ แต่การกำหนดให้มีคำถามเพียง 4 คำถามนั้น สมาคมฯเห็นว่าน้อยเกินไปและอาจถูกมองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในการตั้งคำถามในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินของผู้บริหารประเทศ
ทั้งนี้นายมานพเชื่อเช่นกันว่าปรากฏการณ์จำกัดคำถามจะเกิดแค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพราะการออกคำสั่งหรือสั่งให้มีแนวปฏิบัติเช่นนี้เป็นการฝืนธรรมชาติของผู้นำประเทศและสื่อมวลชนโดยทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น: