รัฐบาลทหารของไทยเตรียมขอโซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุ๊กและไลน์ให้จัดการเนื้อหาที่เป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อย โดยก่อนหน้านี้ได้ขอทางกูเกิลแล้ว และเตรียมจะจัดซื้อระบบติดตามเพื่อกวาดข้อมูลผู้ใช้
พลตำรวจตรีพิสิษฐ์ เปาอินทร์ กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า รัฐบาลมีแผนที่จะพูดคุยกับฝ่ายบริหารของเฟสบุ๊กและไลน์ในอีกสามเดือนข้างหน้านี้ โดยรัฐบาลได้รับคำสั่งศาลอนุญาติให้จัดการกับเนื้อหาในอินเตอร์เน็ตที่กระทบกับสถาบันกษัตริย์และความสงบเรียบร้อยของประเทศได้ แต่บริษัทดังกล่าวก็ไม่ค่อยจะให้ความร่วมมือ จึงจะมีการพูดคุยทำความเข้าใจเพิ่มเติมในอนาคตอย่างรวดเร็ว
โดยเมื่อวันที่ 22 มกราคม ทางการไทยก็ได้มีการร้องขอลักษณะนี้กับบริษัทกูเกิลเช่นเดียวกัน
และเมื่อวันที่ 28 มกราคม เพจเฟซบุ๊กกลุ่มพลเมืองต่อต้าน Single Gateway: Thailand Internet Firewall ก็ได้มีการเผยแพร่เอกสารการหารือระหว่างสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชนของไทย กับกลุ่มผู้บริหารของกูเกิล
เอกสารดังกล่าวระบุว่า เป็นการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 219 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา โดยมีเรื่องที่พิจารณาคือ แนวทางและมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์และการส่งเสริมการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญนาย Matt Sucherman รองประธานและที่ปรึกษากฎหมายในประเด็นระหว่างประเทศ บริษัท กูเกิล เอเชีย แปซิฟิก จำกัด เข้าร่วมประชุม
เอกสารดังกล่าวระบุว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้กล่าวกับผู้แทนบริษัท กูเกิล ว่า การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่เป็นไปในทางสร้างสรรค์นั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดผลกระทบต่อความมั่นคง ทั้งด้านการมุ่งทำลายสถาบันสำคัญของชาติ หรือละเมิดกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงอยากขอความร่วมมือให้ทางบริษัท กูเกิลฯ ช่วยถอดเว็บไซต์ที่มีลักษณะดังกล่าว ที่เผยแพร่ผ่านเครือข่ายของกูเกิล เช่น ยูทูบ เป็นต้น ไม่ให้ออกเผยแพร่ เพื่อสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นต่อไป
ขณะที่ตัวแทนกูเกิล ระบุว่า ทราบดีว่าการเผยแพร่เว็บไซต์บางเรื่องเป็นสิ่งต้องห้ามและอาจมีปัญหาจากแนวคิดทางสังคมและวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม กูเกิลฯ มีบริการและนโยบายที่เป็นมาตรฐานเหมือนกันทั่วโลก การถอดถอนหรือป้องกันการเผยแพร่เว็บไซต์ผิดกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น บริษัท กูเกิลฯ ไม่อาจพิจารณาหรือตัดสินใจเองได้ จำต้องได้รับการร้องขอจากหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศนั้นและมีขั้นตอน กระบวนการอันเป็นที่ยอมรับได้ในระดับสากล คือการขอให้ศาลมีคำสั่งระงับ ยับยั้งการเผยแพร่เว็บไซด์ดังกล่าว ซึ่งทางกูเกิลฯ ได้ถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกประเทศทั่วโลก
จากนั้น คณะกรรมาธิการฯ ระบุว่าที่ผ่านมา มีการขออำนาจศาลอยู่แล้ว เพียงแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน อยากให้กูเกิลฯ เร่งรัดกระบวนการในการถอดเว็บไซต์หากมีคำขอจากหน่วยงานที่มีอำนาจ เพื่อให้ทันต่อการยับยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจไม่ทันการหากต้องรอให้ผ่านกระบวนการทางศาล พร้อมระบุว่าขั้นตอนการร้องขอดังกล่าว อย่างไรก็ต้องผ่านการพิจารณาของหน่วยงานที่มีอำนาจยับยั้งการกระทำผิดกฎหมาย เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกระทรวงไอซีที
ด้านผู้แทน กูเกิล ระบุว่า จะนำข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณา โดยจะคำนึงถึงความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน พร้อมแนะนำว่า วิธีป้องกันการเผยแพร่เว็บที่มีปัญหาได้พอสมควร คือ หากประชาชนเห็นว่าเว็บใดมีเนื้อหาไม่พึงประสงค์เพราะขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี สามารถใช้วิธีปักธง (flagging) เว็บนั้น ซึ่งจะทำให้บุคลากรของกูเกิลที่มีความรู้และประสบการณ์คอยสอดส่องเว็บดังกล่าว หากเห็นว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่สมควรเผยแพร่ก็จะระงับหรือถอดออกจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตต่อไป
ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าว ระบุด้วยว่า ในตอนท้าย คณะกรรมาธิการฯ ได้ขอให้ กูเกิลฯ คำนึงถึงความสัมพันธ์อันดีที่ประชาชนมีต่อประเทศสหรัฐอเมริกา และความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกูเกิลฯ นำไปเป็นข้อพิจารณาด้วย พร้อมกันนี้หากมีปัญหาหรือความกังวลใดๆ ในการประกอบธุรกิจของ กูเกิลฯ ในประเทศไทย และอยากให้ช่วยเหลือ ขอให้เสนอทางรัฐบาลไทยได้และทางคณะกรรมาธิการฯ พร้อมพิจารณาผลักดันและให้ความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่
(ตัวเอกสารสามารถดูได้ที่http://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/drive_communication/download/article/article_20160127161649.pdf)
24373533010_b5eb62acd2_c24042260213_5780dee1b7_c
24642863376_97f97b90ca_z
เตรียมซื้อระบบติดตามกวาดข้อมูลผู้ใช้
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จัดประกวดราคาซื้อระบบติดตามข้อมูลสังคมออนไลน์อัตโนมัติ โดยเก็บข้อมูลจากเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, และพันทิป
ระบบนี้ดึงข้อมูลจากโพสและคอมเมนต์ที่เป็นสาธารณะเท่านั้น โดยเฟซบุ๊กนั้นสามารถดึงข้อมูลได้ทั้งหน้าเพจและหน้าโปรไฟล์ สำหรับทวิตเตอร์มีข้อจำกัดเพิ่มเติมคือดึงได้ไม่เกิน 1,000 บัญชี ที่น่าแปลกสักหน่อยคือพันทิปที่เก็บข้อมูลได้จำนวนมากรวมถึงจำนวนผู้แสดงความรู้สึก
ซอฟต์แวร์เช่นนี้คงไม่ต่างจากซอฟต์แวร์ที่แบรนด์ต่างๆ ใช้งานกันมากนัก ความต่างสำคัญคงเป็นการตรวจสอบภาพใบหน้าจากฐานข้อมูลหมายจับและจากบุคคลทำประวัติจากสถานีตำรวจ โดยสามารถตรวจสอบจากภาพโปรไฟล์ของเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ รองรับฐานข้อมูลขนาดไม่เกิน 500,000 คน
ด้านฮาร์ดแวร์ใช้เซิร์ฟเวอร์ถึง 22 เครื่อง เป็นเครื่องหลัก 2 เครื่อง วางเซิร์ฟเวอร์ไว้ในศูนย์ข้อมูลสองแห่ง
(ร่างเอกสารการประกวดราคาสามารถดูได้ที่ http://process3.gprocurement.go.th/egp2procmainWeb/jsp/FPRO9951A_2.jsp?tor_project_id=59016147809)
12644831_939615542758392_4274347714354301505_n12524075_939615579425055_7485783422172939666_n 12548996_939615509425062_1942084428666246132_n