PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เมธีขู่บุกโรงพัก โวยพระถูกหักหลัง



โล้นเมธีขู่บุกโรงพัก โวยพระถูกหักหลัง
Wednesday, February 24, 2016 - 00:00
"ดีเอสไอ" มอบ "สำนักคดีภาษีอากร" สาวลึกรถเบนซ์ "สมเด็จช่วง" ผิด กม. คาด 2-3 เดือนชี้ผิด-ไม่ผิด "เจ้าของอู่เอช.ที.วายฯ" หอบเอกสารแจงถูกปลอมใบเสร็จประกอบรถโบราณ "ไพบูลย์" ย้ำชัดเจ้าอาวาสวัดปากน้ำเจตนาทำรถใช้งาน เหตุทั้งจดทะเบียน ติดแก๊ส ใส่เลขทะเบียนสวย ก่อนรู้ว่าผิดรีบเก็บโชว์พิพิธภัณฑ์ "พระเมธีฯ" โพสต์เฟซขู่! ตร.แจ้งข้อหาชุมนุมพุทธมณฑลม็อบพระพร้อมบุกโรงพัก
เมื่อวันอังคาร พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะรองโฆษกดีเอสไอ กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบรถเบนซ์โบราณผิดกฎหมาย ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชว่า หลังจากดีเอสไอแถลงผลการตรวจสอบรถโบราณของสมเด็จช่วงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพร้อมรับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งในกระบวนการต่อไป โดยระบบกฎหมายของประเทศไทยเป็นระบบกล่าวหา ทางพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้รับผิดชอบคือสำนักคดีภาษีอากรจะรับตัวสำนวนไปดำเนินการสอบสวนต่อ
พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า สำนักคดีเทคโนโลยีฯ เป็นหน่วยงานทำหน้าที่สืบสวนในชั้นต้น จะมีคำกล่าวโทษ ชี้ประเด็นในการสืบสวนพบความผิดในประเด็นเรื่องอะไร บุคคลใดเกี่ยวข้องบ้าง พร้อมส่งสำนวนพยานหลักฐานไปให้สำนักคดีภาษีอากรเพื่อดำเนินการสอบสวน โดยทางสำนักคดีภาษีอากรจะรวบรวมพยานหลักฐานตามคำกล่าวหาก่อน และถ้าตรวจสอบเห็นว่ามีความผิดเพียงพอก็จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ที่ถูกกล่าวหาและเมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว
“ขั้นตอนต่อไปจะมีขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหา ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา และมีสิทธิ์จะนำพยานหลักฐานที่ตัวเองคิดว่าบริสุทธิ์มาหักล้างในชั้นการสอบสวนได้ เมื่อผลเป็นอย่างไรแล้ว พนักงานสอบสวนก็จะพิจารณาหลักฐานทั้งสองฝ่ายและมีความเห็นทางคดีส่งอัยการดำเนินการต่อไป” พ.ต.ต.วรณันกล่าว
ถามถึงระยะเวลาการตรวจสอบในขั้นตอนนี้ รองโฆษกดีเอสไอกล่าวว่า เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนในการสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เนื่องจากมีเอกสารเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญยังมีกระบวนการแก้ข้อหากล่าวหาที่ฝ่ายถูกแจ้งข้อกล่าวหาสามารถนำพยานหลักฐานมาหักล้างกันได้ด้วย เจ้าหน้าที่จึงต้องฟังความทั้งสองฝ่าย
ซักว่า ทนายวัดปากน้ำมีการประสานเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือยัง พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า ไม่มั่นใจว่าทนายวัดปากน้ำได้ติดต่อพนักงานสอบสวนมาหรือไม่ เพราะว่าสุดท้ายเมื่อทางคดีโอนไปที่ทางสำนักภาษีอากรแล้ว จะต้องไปตรวจสอบแล้วจะเชิญพยานที่เกี่ยวข้องมาสอบเช่นกัน
ถามว่า ถ้าสมเด็จช่วงไม่ส่งรถผิดกฎหมายให้ตรวจสอบจะทำอย่างไร รองโฆษกดีเอสไอกล่าวว่า ยังไม่มีความคิดเห็น จนกว่าจะได้เห็นพยานหลักฐานในชั้นสอบสวน
ต่อมานายวีระชัย อินทร์ประเสริฐ อายุ 48 ปี และน.ส.พรทิพย์ รุ่งรัตน์ธวัชชัย อายุ 47 ปี เจ้าของ หจก.เอช ที วาย ออโต้พาร์ท เลขที่ 27 พุทธมณฑลสาย 2 ซอย 10 แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กทม. ซึ่งถูกระบุเป็นสถานที่ประกอบรถเบนซ์ผิดกฎหมายของสมเด็จช่วง เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รอง ผบ.สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ เพื่อชี้แจงข้อกล่าวหา พร้อมทั้งนำเอกสารใบเสร็จจริงและปลอมมามอบให้ดีเอสไอด้วย
นายวีระชัยกล่าวว่า หจก.เอช ที วาย ออโต้พาร์ท เป็นบริษัทนำเข้าอะไหล่จักรยานยนต์และจักรยานยนต์ ซึ่งในขณะนี้ได้หยุดกิจการมาประมาณ 2 ปี จนกระทั่งวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้โทรศัพท์ไปสอบถามเกี่ยวกับที่มาทั้งหมด จึงทราบว่าทางบริษัทโดนปลอมแปลงเอกสารใบเสร็จรับเงิน เพราะรูปแบบใบเสร็จดังกล่าวไม่ใช่ใบเสร็จของบริษัท
ชี้เจตนาชัดใช้รถผิด กม.
"ผมยืนยันไม่เคยรู้จักกับนางกาญจนา มากเหมือน ที่มีชื่อระบุในการสั่งจ่ายค่าแรงประกอบรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ของสมเด็จช่วง เป็นเงิน 50,000 บาท เพื่อซื้ออุปกรณ์ชิ้นรถยนต์และประกอบรถยนต์ รวมทั้งไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจดประกอบรถยนต์ จึงได้ไปลงบันทึกประจำเอาผิดผู้ที่ปลอมแปลงเอกสารใบเสร็จรับเงินไว้ที่ สน.หลักสอง เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา และมาชี้แจงให้ดีเอสไอทราบ" เจ้าของ หจก.เอช ที วาย ออโต้พาร์ท ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ใบเสร็จนายวีระชัยใช้ในนาม หจก.เอช ที วายฯ เป็นประจำจะระบุ ชื่อ หจก.เอช ที วาย ออโต้พาร์ท เลขที่ 27 พุทธมณฑลสาย 2 ซอย 10 แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กทม. เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 3012106258 แต่ใบเสร็จรับเงินและกำกับภาษีของปลอม มีรายละเอียดระบุ หจก.เอช ที วาย ออโต้พาร์ท เลขที่ 14/19 หมู่ 6 แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กทม. ผู้ซื้อชื่อ นางกาญจนา มากเหมือน (เจ้าของอู่ N.P.การาจ ที่โดนนำชื่ออู่ไปจดประกอบรถยนต์และนำชื่อนางกาญจนาไปจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก) ลงวันที่ซื้อ 16 ส.ค.54 รายละเอียดระบุว่า ค่าแรงประกอบรถยนต์ เลขตัวถัง 18601400042/53 เลขเครื่องยนต์ 1869204500552 รวมเป็นเงิน 50,000 บาท แบ่งเป็น ค่าแรงและบริการ 46,500 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 3,500 บาท
ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์พระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีมีผู้ระบุสมเด็จช่วงครอบครองรถผิดกฎหมายปราศจากเจตนาว่า ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 17 ทวิ ซึ่งได้กำหนดว่า ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจําหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนํา หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีหรือของต้องจํากัด หรือของต้องห้าม หรือที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องก็ดีหรือเป็นของที่นําเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อจํากัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวแก่ของนั้นก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2482 มาตรา 16 กำหนดไว้ว่า การกระทำที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 และ มาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 นั้น ให้ถือว่าเป็นความผิดโดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กระทำมีเจตนาหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือหาไม่” ดังนั้น การพยายามบิดเบือนเรื่องการครอบครองโดยไม่มีเจตนาของสมเด็จช่วง จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถอ้างได้ตามกฎหมาย ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า แม้ไม่มีเจตนาก็มีความผิด
"การพยายามบ่ายเบี่ยงในเรื่องดังกล่าวของคนบางกลุ่ม เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง และหากอ้างว่าเป็นการนำรถมาเพื่อไว้โชว์ในพิพิธภัณฑ์เพียงเท่านั้น ก็เป็นสิ่งที่ไม่เป็นจริง เพราะมีการจดทะเบียน มีการติดแก๊สเพื่อให้รถสามารถใช้งานได้ รวมถึงมีการซื้อป้ายทะเบียน ขม 99 กรุงเทพฯ เอาไว้ใช้อีก อย่างนั้นแล้วก็ไม่สามารถฟังขึ้นได้ว่าซื้อมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำเข้ามาไว้ในพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ต้น และเป็นการแสดงเจตนาตั้งต้นอย่างชัดเจนว่าจะเอาไว้ใช้งาน เพราะหลังจากมีการใช้งานรถไปเรียบร้อยแล้ว และมีกระแสข่าวครอบครองรถหรูในปี 2556 จึงค่อยนำรถเบนซ์คันดังกล่าวเข้ามาไว้ในพิพิธภัณฑ์" นายไพบูลย์กล่าว
ถามถึงเรื่องที่มหาเถรสมาคม (มส.) ออกมติให้ทุกวัดจัดทำบัญชี แต่ไม่รวมไปถึงรายได้ของพระแต่ละรูป นายไพบูลย์กล่าวว่า การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของแต่ละวัดเป็นการทำกันเอง โดยไม่มีผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชี ซึ่งทำให้ไม่มีมาตรฐาน เมื่อทำแล้วก็ส่งให้ มส. และสำนักงานพระพุทธศาสนา (พศ.) รับทราบ ในลักษณะเช่นนี้ก็ไม่ทำให้เกิดประโยชน์อะไร เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะรับทราบ
"การแก้ไขปัญหาเรื่องบัญชีของวัด สิ่งที่ควรปรับปรุงคือการทำอย่างมีมาตรฐาน โดยเทียบเคียงกับการทำบัญชีของมูลนิธิ ซึ่งต่างก็มีสถานะเป็นนิติบุคคลเช่นเดียวกัน แต่ปัญหาที่ควรจะแก้ไขอย่างมาก แต่กลับไม่ได้รับการแก้ไขคือในส่วนของบัญชีของพระ ที่ไม่มีการเปิดเผยแสดงรายได้-ทรัพย์สิน ซึ่งได้รับมาขณะที่เป็นพระ แม้จะอ้างเหตุว่าเป็นเรื่องส่วนตัวก็ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ขัดกับพระธรรมวินัย เป็นเรื่องน่าเสียดายที่มส. ไม่ได้มีมติในส่วนนี้ออกมา" นายไพบูลย์กล่าว
เขากล่าวว่า ตามกฎหมายได้ให้อำนาจแก่ มส. ในการจัดการสิ่งต่างๆ ให้สอดคล้องกับกฎหมายและพระธรรมวินัย ตามมาตรา 15 ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ หากมีการแก้ไขจริงก็ดี แต่ขอให้ไม่ทำแบบลูบหน้าปะจมูก เพียงทำตามที่ท่านนายกฯ สั่งการ เมื่อแก้ไขก็ขอให้มีมาตรฐานและต้องพร้อมเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะรับทราบ
พระเมธีฯ ขู่แจ้งข้อหาม็อบฮือ
ก่อนหน้านั้น ในช่วงเช้า นายบวรเวท รุ่งรุจี ผู้ช่วยโฆษกกรรมาธิการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่ 2 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงผลการดำเนินงานของการขับเคลื่อนด้านศาสนาของ กมธ. ที่รัฐสภา ระบุว่า กมธ.เห็นชอบให้ผู้แทนแต่ละศาสนาจัดทำหลักคำสอนของศาสนาของตนเองไม่เกิน 20 ข้อ โดยจัดลำดับความสำคัญและส่งให้ กมธ.ภายในเดือน ก.พ.นี้ เพื่อจะได้พิมพ์เป็นหนังสือและนำไปขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเพื่อสร้างความสันติสุขในสังคมไทยต่อไป
นายบวรเวทกล่าวว่า มหาเถรสมาคมยังได้เห็นชอบแผนงานและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยการจัดทำบัญชีของวัดเพื่อนำไปใช้กับวัดทั่วประเทศ โดยในเดือน มี.ค. ทางสำนักพระพุทธศาสนาฯ จะเชิญผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาของทุกจังหวัดมารับทราบระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของแต่ละวัด เพื่อให้นำไปชี้แจงให้วัดในแต่ละพื้นที่ที่ดูแลได้ทราบถึงระเบียบดังกล่าว
"บัญชีรายรับรายจ่ายของแต่ละวัดจะไม่เกี่ยวข้องกับรายได้ของพระแต่ละรูป เพราะถือเป็นเรื่องส่วนตัว ส่วนสาเหตุที่วัดต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายนั้น เพราะวัดถือเป็นนิติบุคคล" ผู้ช่วยโฆษกกรรมาธิการฯ สปท.กล่าว
วันเดียวกัน พระเมธีธรรมาจารย์ (เจ้าคุณประสาร จนฺทสาโร) เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว หัวข้อ "ผู้ต้องหาคดีเจริญพระพุทธมนต์" ระบุถึงเรื่องที่ ผบช.ภ.7
จะมีหมายเรียกเพื่อดำเนินคดีในเหตุการณ์ที่พุทธมณฑลว่า เรื่องดังกล่าวอาตมาขอยืนยัน การมาของพระสงฆ์ทั้งประเทศเป็นการมาโดยชอบ เพราะพระสงฆ์ทั้งหลายทนไม่ได้ต่อกรณีที่รัฐบาลปล่อยให้กลุ่มบุคคลเพียงหยิบมือเดียว สร้างเรื่อง สร้างเหตุการณ์ เพื่อขัดขวางการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และถือโอกาสด่าทอ จาบจ้วงพระมหาเถระผู้ใหญ่ และมหาเถรสมาคมอย่างไร้หิริ โอตตัปปะ
พระเมธีธรรมาจารย์ระบุว่า การที่พระสงฆ์จำนวนมากออกมาเจริญพระพุทธมนต์ด้วยสันติ และยื่นข้อเสนอที่เป็นการปกป้องคณะสงฆ์และก็ยินยอมเดินทางกลับด้วยความสงบเรียบร้อย และในส่วนของรัฐบาลนั้นก็ออกมารับข้อเรียกร้องและรับปากว่าจะดำเนินการให้โดยไม่มีกรอบเวลาเป็นเครื่องผูกมัด เอาความเหมาะสมพอสมควรเป็นที่ตั้ง ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดก็น่าจะเดินไปได้ด้วยดี
"แต่บัดนี้ปรากฏเสมือนหนึ่งว่า อาตมาและคณะสงฆ์ในวันนั้นถูกหักหลังอย่างรุนแรง เพราะกลายเป็นว่า ต่อจากนี้ไปจะได้เป็นผู้ต้องหาอย่างเต็มตัว มีข้อกล่าวหาติดตามมายาวเป็นหางว่าว จากกรณีร่วมกันเจริญพระพุทธมนต์ การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยในเวลานี้ ถ้าเป็นช่วงเวลาที่ประเทศชาติปกติและกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ พร้อมที่จะอำนวยความยุติธรรมกับทุกคน ทุกฝ่าย ไม่เลือกข้าง ก็ยังพอไหว แต่ทุกวันนี้สถานการณ์ในกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างไร พึ่งได้หรือไม่ ผู้คนก็พอมองเห็น" พระเมธีธรรมาจารย์ระบุ
เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การออกมาข่มขู่ คุกคาม และจะเล่นงานด้วยวิธีการแบบนี้ แบบที่กำลังทำกันอยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถหยุดยั้งพระสงฆ์กลุ่มใหญ่ในประเทศนี้ได้หรอก ตรงกันข้าม มีแต่จะเพิ่มไฟให้กระพือโหมไหม้ให้วายวอดมากยิ่งขึ้น การกระทำแบบนี้ เป็นการปฏิบัติต่อคนในชาติแบบสองมาตรฐานอย่างแท้จริง
"ขณะนี้พระสงฆ์จำนวนมากที่เดินทางไปร่วมเจริญพระพุทธมนต์ที่พุทธมณฑลในวันนั้น ได้แสดงเจตจำนงมาที่อาตมาเป็นจำนวนมากว่า ถ้ามีหมายเรียกมาถึงอาตมาเมื่อไหร่ วันไหน ทุกรูปจะขอไปแสดงตนให้ล้นโรงพักพุทธมณฑลในวันนั้น เพื่อจะไปแสดงตนเป็นพระผู้ต้องหาร่วมในคดีเจริญพระพุทธมนต์ดังกล่าว และยอมให้จับกุมคุมขังพระสงฆ์หมู่ใหญ่ด้วยกันทั้งหมดในวันนั้นจึงได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะมีสติ ไตร่ตรอง ใคร่ครวญมองอะไรให้รอบคอบ เพื่อจะได้ไม่กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวไปในที่สุด" พระเมธีธรรมาจารย์ระบุ
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้ทรัพย์สินของพระในระหว่างที่บวชจนกระทั่งลาสิกขา หรือมรณภาพ ควรจะตกเป็นของพระพุทธศานา โดยระบุว่า ในทางปฏิบัตินั้นจะมีวิธีการในการบริหารจัดการอย่างไรก็ต้องมาว่ากัน ส่วนเรื่องที่ดินหรือที่ธรณีสงฆ์ ต้องดูเจตนาผู้บริจาคว่าต้องการให้วัดมีความคล่องตัว.

ไม่มีความคิดเห็น: